ซีอานฐานการผลิตเครื่องบินจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 22, 2009 17:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ซีอานเป็นเมืองเอกของมณฑลส่านซีซึ่งอยู่ในเขตชั้นในของประเทศจีน ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทำให้นักธุรกิจไทยกังวลที่จะทำการค้าขายด้วย เพราะไม่รู้จักตลาดและห่วงด้านการขนส่งสินค้าว่าจะมีต้นทุนสูงเกินไป ซีอานจึงเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ในความเป็นจริงซีอานยังมีความเจริญด้านอื่นๆ อีกหลายด้านเป็นเมืองที่ทำการเกษตรแบบก้าวหน้า เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ และเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีระดับสูงของจีน รวมทั้งเป็นฐานการผลิตเครื่องบินที่จีนสร้างเองด้วย

นครซีอาน มณฑลส่านซีตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทำหน้าที่เชื่อมโยงนำความเจริญจากภาคตะวันออกสู่ภาคตะวันตกของจีน อีกทั้งเป็นหน้าด่านสำคัญในการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ส่านซีเป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญโดยเฉพาะเป็นฐานการผลิตเครื่องบินแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลกลางถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยเร่งการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก เนื่องด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสูง จะส่งผลช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องให้พัฒนาก้าวหน้าตามอย่างรวดเร็ว

เมืองแห่งเครื่องบินของจีน ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมไฮเทคการบินแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง รัฐบาลจีนกำหนดให้ “นครซีอาน” เป็นฐานอุตสาหกรรมไฮเทคด้านการบินครบวงจรระดับประเทศแห่งแรกในจีน ในปี 2004 รัฐบาลกลางจีนและคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติได้อนุมัติ และประกาศจัดตั้งให้ฐานอุตสาหกรรมไฮเทคด้านการบินเอี๋ยนเหลียงเป็นฐานอุตสาหกรรมการบินระดับชาติ (Xi’an Yanliang National Aviation Hi-tech Industrial Base) โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคด้านการบินระดับประเทศที่ครบวงจรตั้งแต่การวิจัยออกแบบ ผลิต แปรรูป และประกอบชิ้นส่วนและตัวเครื่องบิน ตลอดจนเป็นเขตฝึกอบรมด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และศูนย์จัดนิทรรศการอุตสาหกรรมการบินไฮเทค

รัฐบาลมณฑลส่านซี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องบินพลเรือนอย่างมากโดยได้เริ่มดำเนินโครงการฐานการผลิตเครื่องบินแห่งชาติจีนด้วยการก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคทางการบินเอี๋ยนเหลียง โดยเริ่มต้นลงทุน 1,000 กว่าล้านหยวน สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในเขต และทางด่วนยกระดับเชื่อมเมืองระหว่างซีอาน-เขตเอี๋ยนเหลียง ทั้งนี้ “เขตเอี๋ยนเหลียง” เป็นเขตชานเมืองของนครซีอาน ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเว่ย ห่างจากใจกลางนครซีอานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 60 กิโลเมตร มีพื้นที่ 244.4 ตารางกิโลเมตร

ปัจจุบัน ฐานการบินเอี๋ยนเหลียงมีบริษัทจำนวน 152 ราย เป็นบริษัททุนต่างชาติ 17 ราย และบริษัททุนภายในประเทศ 135 ราย มีมูลค่ารวมการลงทุนกว่า 10,000 ล้านหยวน เป็นผู้ผลิตตัวเครื่องบินทั้งลำ 3 บริษัท และผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน 60 กว่าบริษัท บริษัท Xi’an Aircraft Industry ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของจีน แสดงความเห็นว่านครซีอานเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนเพราะมีความคล้ายคลึงกับนครซีแอตเทิลเมืองแห่งเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา คือ เป็นฐานครบวงจรด้านการบินตั้งแต่การออกแบบ การทดสอบโครงสร้างและระบบ การผลิตและประกอบชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องบิน การตรวจสอบมาตรฐานและทดลองการบิน การจัดจำหน่าย ซีอานมีปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินที่ดีที่สุดในจีน

อุตสาหกรรมการบินในส่านซีเริ่มพัฒนาความร่วมมือกับต่างชาติตั้งแต่ปี 1979 และเริ่มส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน และรับเหมาการผลิตตั้งแต่ปี 2002 มูลค่าการส่งมอบสินค้าเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 36.8 ต่อปี และมีปริมาณการรับเหมาการผลิตในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประเทศ บริษัทต่างชาติที่ได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นในซีอานได้แก่ บริษัท Rolls-Royce บริษัท Pratt & Whitney (คานาดา) บริษัท Nordex (เยอรมัน) และ บริษัท Volvo เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รับเหมาการผลิตชิ้นส่วนให้แก่ลูกค้าสำคัญ

บริษัทโบอิ้ง แอร์บัส Bombardier และ Embraer มีโครงการความร่วมมือต่าง ๆ กับจีน เช่น บริษัทโบอิ้งเริ่มจากยอดสั่งซื้อให้จีนผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินให้ และพัฒนาความสัมพันธ์มาเป็นการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านซ่อมบำรุงเครื่องบิน ส่วนแอร์บัสได้ให้จีนรับผิดชอบระบบเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและประกอบปีกของเครื่องบิน และการประกอบ Final Assembly ของเครื่องบิน A320 และนำโครงการออกแบบและผลิตเครื่องบิน A350 ถึงร้อยละ 5 ของมูลค่าโครงการมาไว้ในจีน เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาประสิทธิภาพงานวิจัยและผลิตเครื่องบินของจีนเอง คาดกันว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า การซื้อขายเครื่องบินในตลาดจีนจะมีมูลค่ารวม 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินอีก 5,500 ลำ

ยุทธศาสตร์ที่จีนเลือกให้เขตเอี๋ยนเหลียง นครซีอานในมณฑลส่านซีเป็นฐานการผลิตเครื่องบินระดับประเทศ นอกจากศักยภาพของส่านซีที่พร้อมต่อภาระอันหนักหน่วงดังกล่าวแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลดช่องว่างความแตกต่างของความเจริญระหว่างภาคตะวันออกและตะวันตก โดยการพัฒนาตะวันตกด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีจะทำให้สามารถก้าวกระโดดจนตามทันเมืองในภาคตะวันออก ทางลัดที่จีนเลือกใช้คือ การสร้างฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อดึงดูดทั้งเงินลงทุน และทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถจากพื้นที่อื่นให้เดินทางเข้ามาร่วมพัฒนาตะวันตก อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่งคงให้กับทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถในพื้นที่อีกด้วย

การคมนาคมทางอากาศของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 22 ต่อปี เมื่อปลายปี 2550 จีนมีสนามบินรวม 148 แห่ง (ไม่รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ภายในปี 2010 จีนจะสร้างสนามบินให้ครบรวมทั่วประเทศ 190 แห่ง ปัจจุบันภาคตะวันตกของจีนมีสนามบิน 49 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มจำนวนสนามบินอีกกว่า 20 แห่ง ทั้งนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน (Civil Aviation Administration of China) ได้ระบุว่า ปี 2020 จีนจะมีสนามบินรับส่งผู้โดยสารถึง 244 แห่ง

ความคิดที่จะผลิตเครื่องบินใช้เองของจีนมีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 เมื่อเหมาเจ๋อตุง และผู้นำสำคัญอื่น ๆ ของจีนมีความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินใช้เอง และเตรียมพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของตน เพื่อเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีหัวใจสำคัญในการสร้างเครื่องบินเชิงพาณิชย์ของตนเองให้ได้ เมื่อ MA 60 เครื่องบิน turbo pop ที่จีนผลิตได้เอง ปรากฏให้ยลโฉมครั้งแรกในปี 1999 เป็นเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ประหยัดน้ำมัน เหมาะแก่ใช้ในเส้นทางระยะใกล้และมีผู้โดยสารน้อย ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์และอุปกรณ์บังคับการบินจากบริษัทชั้นนำต่างชาติ แต่วิจัย ออกแบบ ผลิตและประกอบในจีน และจีนเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสมบูรณ์

ปี 2002 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน บริษัท Avic 1 ได้เริ่มโครงการเครื่องบิน ARJ21 ซึ่งเป็นเครื่องบิน turbo fan ลำแรกของจีนที่ออกแบบโดยใช้มาตรฐานที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อนในภาคตะวันตกของจีน เช่น เป็นที่ราบสูงและมีอุณหภูมิสูง อีกทั้งเป็นเครื่องบิน turbo fan ลำแรกที่จีนจะได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา โครงการการผลิตเครื่องบิน ARJ21 ได้รับความสนใจจากบริษัทสายการบิน Shanghai Airlines, Shandong Airlines, Xiamen Airlines สั่งจองเครื่องบิน ARJ21 จาก Avic1 เป็นจำนวนถึง 41 ลำ นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนจะได้นั่งเครื่องบินที่จีนผลิตเองในปีแห่งการเฉลิมฉลอง 60 ปีของการสร้างชาติ ทั้งนี้การพัฒนาเครื่องบิน ARJ21 เป็นรากฐานสำคัญของการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ของจีนในอนาคตต่อไป

นางสาวสิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซีอาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ