รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคอาเซียน (สิงคโปร์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2009 16:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 15-31 ตุลาคม 2552

ก. ภาวะเศรษฐกิจ/การค้าทั่วไป

1. ตลาดหุ้นสิงคโปร์มีความแข็งแกร่งขึ้นในช่วงนี้ ดีกว่าสหรัฐฯและยุโรป สำหรับในเอเชีย ตลาดหุ้นที่ดีที่สุดคือ จาการ์ตา ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 82 ทั้งนี้ ตลาดหุ้นที่สำคัญ ได้แก่ Micex Index(Russia) 111.15%, Jakarta Composite Index(Indonesia) 82.56%, BSE Sensex(India) 72.51% , Bovespa Stock Index(Brazil) 70.63, Stock Exchange of Thailand(Thailand) 65.99%, Shangai composite Index(China) 59.91%, Straits Times Index(Singapore) 50.58%, Hang Seng Index(Hong Kong) 49.43%, Kospi Index(South Korea) 46.45%, Nasdaq(US) 36.65% เป็นต้น

2. นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง ได้กล่าวสนุทรพจน์แก่สมาชิก National Trades Union Congress ประกาศเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นการต่อเนื่องด้าน Jobs Credit ต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงเดือนมิถุนายน 2553 เพื่อให้มีจำนวนคนตกงานน้อยที่สุด และเป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น

3. ภาครัฐให้ความช่วยเหลือผ่าน Lead Program (The Local Enterprise and Association Development Program) ซึ่งในปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 70 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อให้บริษัทสิงคโปร์สามารถขยายตลาดส่งออกพัฒนาให้มีการจัดการที่ดีและเพิ่มศักยภาพในการผลิตและผลผลิต อนึ่ง Lead Program เป็นโปรแกรมความร่วมมือของหน่วยงาน SPRING Singapore และ International Enterprise Singapore เริ่มต้นในปี 2548 ด้วยเงินจำนวน 50 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็นตัวประสานความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ(18 แห่ง)ในการพัฒนาศักยภาพของบริษัทสมาชิกให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ โดยให้เงินสนับสนุนร้อยละ 80 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติและในปัจจุบัน ได้ขยายการให้ความช่วยเหลือไปถึงด้านการฝึกอบรมพนักงานด้วย นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือร้อยละ 70 แก่สมาคมอุตสาหกรรมที่แนะนำและนำผู้ซื้อต่างชาติเดินทางมาสิงคโปร์เพื่อซื้อสินค้า โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก และค่าพาหนะเดินทาง

4. สมาคม The Franchising and Licensing Association (FLA) ได้เข้าร่วมโปรแกรม Lead ของภาครัฐสิงคโปร์เพื่อช่วยสนับสนุน การส่งเสริม และสร้างการขยายตัวของ Franchising and Licensing โดยการนำบริษัทเข้าร่วมงานแสดงสินค้า FLAประจำปี ให้ได้พบกับผู้ซื้อที่มีศักยภาพ แลกเปลี่ยนข้อมูล ปรึกษาหารือธุรกิจ และสร้างเครือข่ายการค้า รวมถึงการจัดคณะนักธุรกิจสิงคโปร์เดินทางไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ เวียดนาม นอกจากนี้ สมาคมฯให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทต่างประเทศที่สนใจจะขยายธุรกิจในสิงคโปร์อีกด้วย

5. สมาคม Textile and Fashion Federation (Taff) ได้ให้การสนับสนุนภายใต้ Lead Program ในการฝึกอบรมพนักงาน (โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย) เพื่อให้บริษัทสมาชิกมีความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในปัจจุบันได้เสนอการฝึกอบรมโปรแกรม Design Software “V-Speech” สร้างความรวดเร็วด้านการออกแบบและพัฒนาระบบการผลิตอย่างเป็น Virtual ตามความต้องการของตลาดส่งออกเมื่อผู้ซื้อตอบตกลง ผู้ผลิตจึงทำการผลิต ถึงขณะนี้บริษัทจำนวนมากกว่า 200 แห่งได้รับสิทธิประโยชน์จากการฝึกอบรมเพื่อใช้โปรแกรมนี้ในเชิงพาณิชย์

6. สมาคม The Singapore Food Manufacturers’ Association (SFMA) ให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าอาหารสิงคโปร์ เพื่อให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยการเชิญชวนให้สมาชิกที่ยังไม่เคยทำธุรกิจส่งออก เข้าร่วมคณะบริษัทที่มีประสบการณ์ นำสินค้า roadshow ไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ เมลเบิรน์ โตเกียว นิวยอร์ค ฮ่องกง รวมถึงการจัด Consumer Shows ในโตเกียวและกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอาหารของสิงคโปร์ ได้เจริญเติบโตจากมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 2546 เป็นมูลค่า 5.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 2550 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2 และ 3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 2546 และ 2550 ตามลำดับ

7. ภาครัฐสิงคโปร์กำหนดแผนการที่จะทำให้ประเทศเป็น “Living Lab” ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสิงคโปร์ และระหว่างสิงคโปร์กับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมแนวความคิดสร้างสรรและเทคโนโลยี ให้เกิดวิธีการแก้ไขใหม่ๆเพื่อสนับสนุนสิงคโปร์ให้มีการเจริญเติบโตในอนาคต เนื่องจากสิงคโปร์มีทรัพยากรจำกัดและเพื่อลดสภาวะโลกร้อน อีกทั้งให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พลังงานสำหรับระบบการผลิตอุตสาหกรรม, ยานพาหนะที่ลดภาวะมลพิษ หรืออาคารที่มีระบบช่วยสภาวะโลกร้อน ซึ่งหน่วยงาน Building and Construction Authority ได้ให้เงินสนับสนุน จำนวน 5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อเชิญชวนนักพัฒนาท้องถิ่นให้เชื่อมโยงกับคู่ค้าต่างประเทศและพัฒนาการออกแบบอาคารที่สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ร้อยละ 50 นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนเงิน 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ช่วยเหลือเจ้าของบริษัทเพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนา การใช้พลังงานของอาคารบริษัทด้วย

8. สิงคโปร์ได้ทำตัวเป็นประเทศผู้นำให้การช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อมในการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (Apec) เพื่อทำการขยายการค้าไปยังตลาดใหม่ ซึ่ง Mr. Lee Yi Shyan, Minister of State for Trade and Industry and Manpower ได้ประกาศโครงการในการประชุม Apec SME Working Group & Ministerial Meetings ให้มีกิจกรรมในการส่งเสริมให้ SMEs ขยายการค้าไปสู่ตลาดโลก เพื่อให้มีความรู้อย่างถูกต้องในเรื่อง กฎ/ระเบียบ และมาตรการต่างๆทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีของตลาดส่งออก โดยได้เสนอให้เริ่มกิจกรรมโครงการในปี 2553 ได้แก่ (1) Apec Business Fellowship (ABF) เป็นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ให้ได้รับความรู้และเข้าใจตลาดส่งออก (2) Export Technical Assistance Project โดยช่วยบริษัทให้มีความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรฐาน/กฎ/ระเบียบในการส่งออก ทั้งนี้ SMEs สามารถสร้างมูลค่าการค้าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการลงทุนโดยตรงของต่างชาติจำนวน 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศสมาชิก Apec

9. หน่วยงาน Singapore Institute of Manufacturing Technology (SIMTech) ได้เปิดตัวสมาคมใหม่คือ The MedTech Manufacturing Counsortium เพื่อให้ความช่วยเหลือบริษัทสิงคโปร์ด้านอิเล็คทรอนิกส์และ precision engineering ให้ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งสิงคโปร์นับเป็นประเทศผู้นำสำคัญของโลกในด้านเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกี่ยวกับการแพทย์เพื่อการส่งออก เช่น ส่งออกสู่ตลาดโลก สินค้า contact lense คิดเป็นร้อยละ 10, thermal cyclers ร้อยละ 50 และ microarrays มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่ง Economic Development Board คาดว่าในปี 2558 อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าการแพทย์จะมีมูลค่าถึง 5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ทั้งนี้ ได้มีแผนการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอีก 4 แห่ง เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนในด้านการอบรมพนักงาน การวางแผนธุรกิจ และการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะหน่วยงาน The Singapore Workforce Development Agency ได้ร่วมมือโดยตรงกับ SIMTech ในการอบรมผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพระดับ diploma คาดว่าจะเปิดการอบรมในเดือนมกราคม 2553 โดยให้สิทธิพิเศษในการลงทะเบียนสำหรับสมาชิกของ Medtech Manufacturing Consortium นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านอื่นๆ ได้แก่ การให้คำแนะนำ/ปรึกษา, การร่วมมือ R&D, การจับคู่ธุรกิจการค้า และ Technology Study Tours ซึ่งถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 26 ราย อนึ่งอุตสาหกรรมฯในสิงคโปร์เจริญเติบโตทวีคูณ ในปี 2551 มีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มจาก 1.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2543 และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 8,200 อัตรา จาก 4,000 อัตรา อีกทั้งได้มีการสร้างโรงงานผลิตมูลค่า 80 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จะมีผลผลิตในปี 2554 และสร้างงานได้ 100 อัตรา ภายใน 2 ปีข้างหน้า

10. นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Mr. Lee Hsien Loong กล่าวในการประชุมสมาชิกสหภาพแรงงานและตัวแทนนายจ้างจำนวน 1,000 คน เกี่ยวกับการที่ภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยความร่วมมือจากสมาชิกสหภาพแรงงานและทุกฝ่าย และสร้างชื่อเสียงให้สิงคโปร์เป็นทำเลทองสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างมีศักพยภาพ ส่งผลเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและช่วยสร้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันบริษัทนานาชาติได้จัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ ได้แก่ Rolls-Royce (British engine manufacturer), Abbott Laboratories (American health-care firm) และ Li Ning (Chinese sportswear giant) เหตุผลที่บริษัทนานาชาติสนใจเข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ จากความคิดเห็นของ Mr. Jean-Paul Betbeze ผู้นำนักเศรษฐศาสตร์ของ Credit Agricole (French Bank) อาทิ การควบคุมที่ชัดเจน, มาตรการภาครัฐที่โปร่งใสเป็นระเบียบและมั่นคง, เป็นทั้งศูนย์กลางเงินทุนและศูนย์กลางเพื่อการส่งออก (เทียบกับเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง), โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ รูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจนและประทับใจ สหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง เป็นต้น และทำให้บริษัทฝรั่งเศสใช้สิงคโปร์เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาค นอกจากนี้ บริษัทรัสเซียได้รวมบริษัทศูนย์กลางการจัดซื้อ 2บริษัทในลอนดอนและShenzhen เข้าด้วยกันและจัดตั้งบริษัทในสิงคโปร์ อีกทั้งนักธุรกิจญี่ปุ่นจะใช้สิงคโปร์เป็นฐานการค้าไปสู่ภูมิภาคและร่วมลงทุนกับบริษัทสิงคโปร์ที่ทำโครงการทั่วโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำ อนึ่ง นายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลกเพราะมีเศรษฐกิจเปิดและขนาดเล็ก แต่การที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันและแก้ปัญหาร่วมกัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แม้ว่าในช่วงปัจจุบันจะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม

11. นักเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า การเจริญเติบโต GDP ที่มีอัตราเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นตลาดหุ้นให้คืนสู่สภาพเดิมมีสถานะที่แข็งแกร่ง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเร็ววันนี้ บริษัทหุ้นสำคัญที่เริ่มฟื้นตัว ได้แก่ Straits Times Index (STI), AmFraser Securities และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว STI ลอยตัวสูงขึ้นเป็น 47.98 จุด หรือร้อยละ 1.84 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และตลาดปิดที่ 2,652.51 จำนวนเฉลี่ยหุ้นในแต่ละวันอยู่ที่ 2.05 พันล้านหุ้น มีมูลค่า 1.64 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.36 พันล้านหุ้น มูลค่า 1.59 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) นอกจากนี้ หุ้นอื่นๆได้ เริ่มขยับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หุ้นด้านการเงิน/การคลัง อสังหาริมทรัพย์ Offshore และสินค้าล่วงหน้า รวมถึง Singapore Press Holdings และ Singapore Airlines อนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 10 ราย จากคาดการณ์ GDP ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ตลาดหุ้นจะกลับคืนสู่สภาพปกติ ในลักษณะ V-shaped หลังจากที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มฟื้นตัว

12. หน่วยงาน Spring Singapore และ International Enterprise Singapore (IE Singapore) ได้ประสานความร่วมมือจัดโปรแกรม Local Enterprise and Association Development (Lead) ให้การสนับสนุนบริษัทอุตสาหกรรมการบินเพื่อให้มีโอกาสขยายตลาดสู่ตลาดอุตสาหกรรมการบินที่มีมูลค่า 7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ โดย Association of Aerospace Industries of Singapore (AAIS)ประสงค์จะจัดหาบริษัทด้าน precision engineering เพื่อให้บริการแก่ผู้ที่สนใจในการทำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่มีกฎ/ระเบียบเคร่งครัด อาทิ ประกาศนียบัตร AS9100 ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่มีคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมนานาชาติและมีคุณลักษณะสำคัญด้านการบินที่ผู้จัดหาสินค้าต้องปฏิบัติตาม แต่อุปสรรคของการขอ AS9100 มีค่าใช้จ่ายสูงและระบบที่ยุ่งยาก ทั้งนี้ Lead จะให้การสนับสนุนร้อยละ 80 ของโครงการที่สมาคมเสนอและได้รับการอนุมัติ โดยสาขาที่สมาคมเสนอเพื่อให้ได้รับการพัฒนา ได้แก่ การส่งเสริมเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาความสามารถแข่งขันด้านการจัดการและผู้ชำนาญการ ความร่วมมือธุรกิจ การค้นคว้าวิจัย และการให้คำปรึกษาธุรกิจ ซึ่งถึงปัจจุบัน Lead ได้ให้การสนับสนุนการบริการของบริษัทจำนวน 80 บริษัท และบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 14 บริษัท โดยผ่านกระบวนการของ AS9100 เพื่อส่งผลให้สิงคโปร์รักษาสภาพการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการบินและศูนย์กลางการบิน รวมถึงงานซ่อมบำรุงส่วนประกอบเครื่องกลและระบบโครงสร้างและอิเลคทรอนิคส์การบินด้วย นอกจากนี้ Lead มีแผนการช่วยเหลือ AAIS นำคณะผู้แทนธุรกิจเยือนตลาดทั่วโลกและนำคณะผู้แทนนานาชาติเยือนสิงคโปร์ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจ

13. หน่วยงานสิงคโปร์ Monetary Authority of Singapore (MAS) คาดว่า อัตราเงินเฟ้อปี 2553 จะมีแนวโน้มสูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ1-2 (คาดการณ์ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 0) เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าบริโภคสูงขึ้น

จากรายงานของ MAS แสดงให้เห็นถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆอยู่ในระดับที่ลดลง เช่น ค่าเช่าสถานที่ และค่าจ้าง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเฉลี่ย -0.5 ในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2552 และในปี 2553 คาดว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นค่าเช่าสถานที่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะสู่สภาพปกติในครึ่งปีแรกของปี 2553 อย่างไรก็ตาม MAS จะเน้นความสำคัญที่ราคาอาหาร ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเป็นสินค้าที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก สภาพอากาศเลวร้ายส่งผลให้การผลิตอาหารทั่วเอเชียเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะราคาข้าวในเอเชีย และ Chicago Board of Trade ได้ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 เมื่อเดือนมีนาคม 2552 อีกทั้ง คาดหวังว่าผลผลิตข้าวในอินเดีย(ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก) จะลดลงประมาณร้อยละ 18 และตามรายงานของ United Nations Food and Agriculture Organization (FAO) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บ่งถึงฟิลิปปินส์ ผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลก ได้ประสบลมมรสุมสองครั้งทำให้สูญเสียข้าวไปอย่างน้อย 450,000 ตันหรือร้อยละ 7 ของปริมาณผลผลิตรวม ซึ่งจะทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวในปี 2553 ดังนั้น การฟื้นตัวเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่จะมีความแข็งแกร่งขึ้นและดีขึ้นในอนาคตนั้น MAS กล่าวว่า คงจะต้องพึงระวังปัจจัยสำคัญๆได้แก่ สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจภายนอกค่าเงินเหรียญสิงคโปร์ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ เป็นต้น

ข. ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1. สิงคโปร์กับ Tatarstan -รัสเซีย หน่วยงาน IDA International และ The Republic of Tatarstan (Tatarstan) ได้ลงนาม MOU ร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก Mr Seah Chin Siong, Chief Executive Officer of IDA International และนายกรัฐมนตรีของ Tatarstan, Minnikhanov Rustam Nurgalievich ซึ่งจะมีความร่วมมือกันในด้าน (1) Infocomm Technology (ICT) โดยเฉพาะการจัดตั้งระบบ eGovernment การประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน (G2B) ภาครัฐกับพนักงาน (G2E) และภาครัฐกับประชาชน (G2C) ใน Tatarstan (2) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในการใช้ ICT โดยภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริม ด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจ และเทคโนโลยี (3) ประสานงานในด้าน โปรแกรมและโครงการที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนา และใช้ระบบ ICT และ (4) พัฒนาความสามารถบุคคลากร และอุตสาหกรรม ICT ใน Tatarstan

2. สิงคโปร์กับญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง ได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคม 2552 และได้ปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Mr. Yukio Hatoyama ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การสร้างความสมดุลจากการประชุม 20 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ (G-20) ให้มีความต่อเนื่องสู่การเจริญ เติบโตในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิค และความสัมพันธ์ต่อไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก, ความร่วมมือต่อกันด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์กับญี่ปุ่น, การประชุม APEC ในสิงคโปร์ และความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียในระบบ open regionalism

3. สิงคโปร์กับจีน เปิดตัวโครงการที่พักอาศัยห้องชุด 570 ห้อง ใน Tianjin Eoc-City โดยจีนได้รับความร่วมมือจากสิงคโปร์ในด้านประสบการณ์และความรู้ความสามารถเรื่องการก่อสร้างอาคาร การบำรุงรักษาและพัฒนาห้องชุดอย่างมีประสิทธิภาพด้วยราคาที่ย่อมเยา พร้อมกับมีสภาวะแวดล้อมที่ช่วยรักษาธรรมชาติ และให้โครงการนี้เป็นโครงการตัวอย่างที่ดีสำหรับการก่อสร้างอาคารอื่นๆต่อไปในอนาคต

4. สิงคโปร์กับไทย การประชุม Civil Service Exchange Programme (CSEP) ประจำปี 2552 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ โดยมีข้าราชการของสิงคโปร์และไทยจำนวน 90 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม Shangri-La เปิดงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ Mr. George Yeo และไทย Mr. Kasit Piromya ทั้งสองประเทศให้ความร่วมมือกันใน 13 สาขา ได้แก่ การศึกษา สุขอนามัย กีฬา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพัฒนาระบบผังเมือง และในปีนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญมากด้านสภาวะสิ่งแวดล้อม เรื่องมลพิษที่มีผลมาจากหมอกควันพิษและควันเสียจากยานพาหนะ (โครงการร่วมกับ Ministry of the Environment and Water Resources สิงคโปร์) รวมถึงเรื่องโรคระบาด

5. สิงคโปร์กับกรีซ กรีซได้ให้เงินสนับสนุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่เงินกองทุนของหน่วยงานการเดินเรือนานาชาติ เพื่อช่วยเหลือและรักษาความปลอดภัยการเดินเรือในน่านน้ำ Straits of Malacca และสิงคโปร์ นอกจากสิงคโปร์แล้ว มาเลเซียและอินโดนีเซีย จะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการรักษาความปลอดภัยน่านน้ำและสภาวะแวดล้อมทะเล ซึ่งมีเรือเดิน ทะเลมากกว่า 100,000 ลำ/ปี ผ่านเส้นทางนี้ ทั้งนี้ เงินสนับสนุนดังกล่าว จะช่วยในโครงการต่างๆ ได้แก่ การลากจูงเรือฉุกเฉิน การใช้ transponders สำหรับเรือขนาดเล็กเพื่อให้การเดินเรือเป็นไปอย่างสะดวกปลอดภัย และการใช้ระบบทันสมัยในการตรวจวัดแรงลม ระดับน้ำและคลื่น เป็นต้น

ค. การลงทุนในสิงคโปร์

1. Mr. Lim Chuan Poh, Chairman of the Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ได้เปิดตัว Kilo Laboratory (Kilo Lab) ของ The Institute of Chemical and Engineering Sciences (ICES) ณ Jurong Island ซึ่งเป็นห้อง ทดลองแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการค้นคว้าพัฒนาเทคนิคใหม่สำหรับแก้ไขปัญหาการผลิตเภสัชภัณฑ์และภาคอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการฝึกอบรมให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในสิงคโปร์ เกี่ยวกับแนวโน้มและเทคโนโลยีล่าสุด ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม โดยมียารักษาโรคที่ปลอดภัยและราคาพอสมควร

2. หน่วยงาน Media Development Authority (MDA) ได้มีความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ 2 บริษัท Imagenation Abu Dhabi และ Hyde Park Entertainment Group (Major Hollywood Production Company) ให้การสนับสนุนเงินทุนประมาณ 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี สำหรับการสร้างภาพยนต์จำนวน 3-4 เรื่องต่อปี รวมทั้งจะจัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ให้บริการในภูมิภาคเอเชียต่อไป ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะเริ่มต้นจากการสร้างภาพยนต์ภาษาอังกฤษ

3. หน่วยงาน A*STAR’s Institute of Chemical and Engneering Sciences (ICES) ได้ประกาศเปิดตัวห้องทดลองใหม่ “Kilo Lab” มูลค่า 7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในเกาะจูร่ง เป็นห้องทดลองแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมการค้นคว้า พัฒนาและการฝึกอบรมในด้านเภสัชภัณฑ์และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เฉพาะด้าน ไม่ให้มีผลกระทบต่อสภาวะตามธรรมชาติและค้นคว้าวิจัยโดยมีหน่วยเป็น Kilograms มากกว่าการทดลองที่ผ่านมาเป็น milligrams ห้องทดลองออกแบบและมีอุปกรณ์เหมือนกับโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ ด้วยระบบที่สะอาดกว่า ถูกกว่า และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีแผนการร่วมมือกับบริษัทเภสัชภัณฑ์นานาชาติให้ช่วยนำผลการทดลองมาสู่ตลาดสิงคโปร์ ทั้งนี้ในปี 2551 ภาค Biomedical Sciences ได้ผลผลิตมูลค่า 19 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ มีการจ้างงาน 12,450 อัตรา และบริษัทเภสัชภัณฑ์นานาชาติประมาณ 12 บริษัทได้จัดตั้งโรงงานผลิตในสิงคโปร์แล้ว

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 15-31 ตุลาคม 2552

1. สื่อมวลชนสิงคโปร์เยือนงาน BIG & BIH 2009 (October)

2. เจ้าหน้าที่ฯ นำคณะนักธุรกิจสิงคโปร์เข้าชมงาน BIG & BIH 2009 (October) ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2552

3. ประสานงานและติดต่อหน่วยงานในสิงคโปร์ สำหรับโครงการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้า TAPA 2010 (Road Show-ASEAN) ในสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม —2 พฤศจิกายน 2552

4. ประสานงานเชิญนักธุรกิจสิงคโปร์เข้าร่วมการสัมมนา สำหรับโครงการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้า TAPA 2010 (Road Show-ASEAN) ในสิงคโปร์ วันที่ 30 ตุลาคม 2552 ณ ห้องประชุม Singapore Business Federation

5. จัดการสัมมนาสำหรับโครงการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้า TAPA 2010 (Road Show-ASEAN) ในสิงคโปร์ วันที่ 30 ตุลาคม 2552 ณ ห้องประชุม Singapore Business Federation

6. นำคณะโครงการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้า TAPA 2010 (Road Show-ASEAN) เข้าพบและปรึกษาหารือกับหน่วยงานสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์

7. ประสานงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องสำหรับการประชุม Apec ในสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2552

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ