สนุกสุดเหวี่ยงกับปีใหม่แขก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2009 15:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แขกนั้นรักสนุกไม่เบา ไม่แพ้คนไทยเลยทีเดียว โดยเฉพาะปีใหม่แขกเขาสนุกกันข้ามวันข้ามคืน ปีใหม่อินเดียไม่ใช่ 13 เมษายน หรือ 1 มกราคม แต่เป็นเดือนตุลาคม โดยเขาเรียกว่าเทศกาลดิวาลี ถ้าคุณบังเอิญไปอินเดียช่วงนั้นปล่อยเขาสนุกกันไปเถอะ สำหรับเราคนไทยนั่งนับเงินกันดีกว่า

ดิวาลี (Diwali) (ทางภาคใต้เขาเรียกว่า ดีปาวาลี-Deepavali) หมายถึงเทศกาลแห่งแสงสว่าง ตามตำนานนาร๋ายนารายณ์เล่าว่าเป็นการเฉลิมฉลองวันที่ศรีรามเสด็จนิวัติกรุงอโยธยาเพื่อขึ้นครองศิริราชสมบัติ หลังจากที่ไปผจญภัยไล่ล่าทศกัณฐ์เสียหลายเพลา บางตำนานก็เล่าว่าเป็นการเฉลิมฉลองการมีชัยชโยตีของพระกฤษณะต่อยักษ์นรักขสุราขึ้นอยู่กับว่าท้องที่ใดจะเชื่อกันแบบไหน แต่จะอย่างไรก็ช่างเถิด คนอินเดียก็ฉลองกันอุตลุตอยู่ดีด้วยการช้อปสนั่น แจกสะบั้น เลี้ยงฉลองกันไม่เลิกลา แถมด้วยการจุดพลุสนั่นหวั่นไหวเจ็ดวันเจ็ดคืน

ในภาคเหนือแม่บ้านจะลุกขึ้นมาสวดมนต์แต่เช้าเพื่อขอให้ทวยเทพประทานพรให้กับพ่อบ้านให้อายุมั่นขวัญยืนเป็นร่มโพธิร่มไทรกับครอบครัวไปตราบนานเท่านาน ส่วนในภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรก็จะทำพิธีบายศรีให้กับโค-กระบือที่มีบุญคุณต่อเกษตรกร

อันที่จริงปัจจุบันเทศกาลดิวาลีไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนามากเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นการเฉลิมฉลองชีวิตใหม่หรือการเริ่มต้นใหม่ๆ ในสิ่งดีๆ ลาทีสิ่งเก่า สวัสดีสิ่งใหม่ๆ เช่นเดียวกับปีใหม่บ้านเรา อีกทั้งเป็นช่วงเริ่มเข้าหน้าหนาว ทุกคนอารมณ์เบิกบานอยากฉลองกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ฉลองกันอยู่ดี

ขายอะไรดีในเทศกาลดิวาลี

เทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลเยี่ยมญาติ ผู้ใหญ่และเพื่อสนิท และเพื่อให้เป็นศิริมงคลกับชีวิตทุกคนจะสวมเสื้อผ้าใหม่และเมื่อเจอกันก็จะแลกเปลี่ยนของขวัญกัน ดังนั้นเสื้อผ้าจึงเป็นสิ่งแรกๆ ในบัญชีหางว่าวสำหรับนักช้อปชาวโรตีในช่วงเทศกาลนี้ เพราะซานตาครอส (พ่อบ้าน) จะต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้สมาชิกในครอบครัวคนละ 1 ชุดเป็นอย่างน้อย ดังนั้นช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้าเทศกาลดิวาลีบรรดาโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่างเร่งรีบทำงานจนกลายสภาพเป็นโรงงานนรกไปทันที สำหรับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็ผลักดันแฟชั่นใหม่ล่าสุดเข้าห้างและตู้โชว์กันอย่างเมามันเพื่อล่อตาล่อใจนักช้อปทั้งหลาย ทั้งนี้สีสันจะต้องฉูดฉาดบาดตาแถมมีเลื่อมระยิบระยับเป็นพิเศษเพื่อเอาใจลูกค้า ข้อควรระวังก็คือสีอัปมงคล ไม่ว่าจะเป็นดำ น้ำตาล หรือเทาห้ามเอามาขายอย่างเด็ดขาดในช่วงนี้ ดีไซนด์เนอร์บ้านเราลองไปสำรวจตลาดก็ไม่เลว รับรองไม่ผิดหวัง

ร้านเพชรร้านทองก็ขายดีเช่นกันในเทศกาลดิวาลี เนื่องจากค่านิยมของคนอินเดียมักจะให้ของขวัญกันเป็นทองรูปพรรณสำหรับคนพิเศษเสมอไม่เว้นแม้แต่เทศกาลนี้ แพรนดาจิวเวอรีของไทยที่ไปทำตลาดเครื่องประดับทองอยู่ในอินเดียก็ทำยอดขายได้สูงเป็นพิเศษในช่วงนี้

เมื่อมีแขกมาเยือนถึงบ้านช่วงดิวาลี คงไม่ดีแน่ถ้าให้แขกเห็นของใช้และเฟอร์นิเจอร์เก่า ดังนั้นคนอินเดียจึงนิยมซื้อของใช้ภายในบ้านใหม่กันในช่วงนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันรวยกว่าปีก่อนนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับครัวเรือนรวมทั้งเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับจะขายดีเป็นเทน้ำในช่วงดิวาลี บลูเบอรี ไอพอต มือถือสองซิม หรือเครื่องซักผ้าก็ทำยอดพุ่งพรวดกันในช่วงนี้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ไทยๆ จะเป็นที่นิยมเป็นพิเศษเพราะดีไซนด์หรูเลิศแถมไม่แพง ยี่ห้อไทยที่ติดตลาด ได้แก่ Rockworth และ P.S.P. Furniture กำลังมาแรงในเจนไนและไฮเดอราบัด

นอกจากนั้น เทศกาลนี้ยังเป็นช่วงโละสินค้าเก่าสำหรับห้างต่างๆ เพราะคนนิยมนำกระเช้าของขวัญไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่และคนที่นับถือ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็เลยจัดชุดกระเช้าไว้บริการลูกค้ากันถ้วนหน้า ของในกระเช้าส่วนใหญ่ก็เป็นของกิน ซึ่งครัวโลกอย่างประเทศไทยคงเข้าไปแจมด้วยได้ไม่ยาก

แถมเทศกาลนี้ยังมีเฮเพราะทุกบริษัทจะแจกโบนัสประจำปีกันถ้วนหน้า ทำให้เศรษฐีข้ามคืนใช้เงินกันอย่างมันมือไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าคงทนเพื่อเปลี่ยนฮวงจุ้ยใหม่ให้กับบ้านและทำให้ทุกคนในบ้านแฮปปี้อารมณ์ดีโดยเฉพาะคุณแม่บ้าน

เท่านั้นยังไม่พอ เทศกาลดิวาลียังเป็นเทศกาลลด แลก แจกแถม หั่นราคากันดุเดือด สำหรับห้างร้านต่างๆ เพื่อรอรับบรรดาเศรษฐีข้ามคืนทั้งหลาย ดังนั้น เราจะเห็นป้าย “ลดแหลก” “ลดครึ่งราคา” “ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง” กันดาษดื่น เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่ว่าร้านเล็กๆ หรือห้างใหญ่ๆ ก็ล้วนมีลูกค้าเข้าไปอัดกันแน่นกันถ้วนหน้าเหมือนกับว่ากำลังแจกของฟรี ดังนั้นอย่างได้ตกใจหากคุณจะถูกดันให้กระเด็นกระดอนไปมาตามกระแสคลื่นมหาประชาแขกหากคุณบังเอิญหลงเข้าไปในย่านค้าขายอย่าง Chandni Chowk ของกรุงนิวเดลี T. Nagar ของเจนไน Dadar ของมุมไบ และ Brigade Road ของบังกะลอร์ (ชื่อใหม่คือ Bengaluru)ในช่วงดิวาลี

งานเลี้ยงดิวาลี

แขกมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับเป็นคติที่คนอินเดียยึดถือเช่นคนไทย เช่นเดียวกับงานเฉลิมฉลองอื่นๆ ดิวาลีจะต้องมีของอร่อยๆไว้ทานกัน กับข้าวประเภทแกงแบบไทยเริ่มเป็นเครื่องเคียงสำหรับมื้อพิเศษของดิวาลีมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนั้นอาหารที่ขาดไม่ได้คือขนมหวาน ขนมที่นิยมกันเป็นพิเศษได้แก่ laddus, burfis, jalebis, jangris, pedas, cham chams และ halwas ที่หวานสะใจมาก ถ้าจะให้ครบสูตรจะต้องกินพร้อมนมร้อนๆ ที่ปรุงด้วยกระวาน กานพลู หญ้าฝรั่น เหยาะด้วยเนยเหลวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ก็หันมาบริโภคขนมจากเมืองนอกกันมากขึ้นถึงจะอินเทร็น ขนมหวานแปลกๆ ใหม่ๆ มีให้จับจ่ายและลิ้มลองมากมายทุกหนแห่งในอินเดีย ดังนั้น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ข้าวเกรียบ และผลไม้อบกรอบของไทยก็มีสิทธิเกิดในเทศกาลนี้

ของที่มากับกระเช้าของขวัญที่พบเห็นมากที่สุดเห็นจะเป็นผลไม้แห้งและสารพัดถั่ว อย่างเช่น ลูกเกด ลูกพลับ ถั่วลิสง มะม่วงหิมพาน อินทผาลัม เกาลัด ฯลฯ เห็นอย่างนี้แล้ว ผลไม้แปรรูป ผลไม้อบกรอบ ผลไม้ดีไฮเดรต โก๋แก่ สแนคไทยๆ และทองการ์เด็นบ้านเราคงเจาะตลาดได้ไม่ยากและสามารถเชิดหน้าชูตาในกระเช้าดิวาลีได้ไม่อายใคร บางเจ้าทำแพกเกจจิ้งเก๋ๆ โดนใจบริษัทใหญ่ๆ เขาเหมาหมดคอนเทนเนอร์ไว้แจกลูกค้าเลยทีเดียว บางครั้งก็เอาไว้เป็นอั่งเปาแจกพนักงานในบริษัทด้วย กล่องของขวัญสารพัดถั่วและผลไม้แห้งยังแสดงอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศข้ามเมืองข้ามประเทศไปทั่วโลก เพราะแขกเขานิยมส่งไปรษณีย์ไปให้เพื่อนๆ ต่างเมืองและต่างประเทศ ดังนั้นไม่ควรมองข้ามตลาดกระเช้าของขวัญแขกทีเดียวขอบอก คนอินเดียในภาคเหนือจะพิถีพิถันกับการจัดกระเช้ามากเป็นพิเศษ แต่สำหรับภาคใต้กระเช้าจะไม่ค่อยหรูหราเท่าไร ดังนั้นจึงต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในจุดนี้ด้วย

สำหรับอาหารที่ใช้รับรองแขกก็เป็นอาหารรสเลิศเท่าที่เจ้าภาพจะหาได้ แต่ในบางครั้งเจ้าภาพอาจชวนแขกไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยกัน ร้านอาหารไทยถือเป็นแหล่งสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลียอดนิยมเช่นกัน ที่ร้านเบญจรงค์ และร้านสไวในเมืองเจนไน ร้านตำหนักไทยในเมืองมุมไบ และร้านอิษฎา ในเมืองไฮเดอราบัดจะมีลูกค้าอุดหนุนกันมากเป็นพิเศษในเทศกาลนี้

เทียนดิวาลี

เทศกาลแห่งแสงสว่างจะมีการประดับประดาเทียนหอมกันทั่วบ้านไม่ว่าจะเป็นระเบียง บันได ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น หรือแม้แต่ห้องน้ำ สินค้าไทยประเภท เทียนหอม กำยาน และตะเกียงน้ำหอมมีโอกาสมากในการเจาะตลาดอินเดียในช่วงเทศกาลนี้ ในยามค่ำคืนจะมีการประชันกันจุดพลุกันสนั่นหวั่นไหวทั่วบ้านทั่วเมืองราวกับวันแดงเดือดที่มุมไบ บั้งไฟพญานาคของไทยก็มีสิทธิเกิดหากเสนอจุดขายเพื่อการขอพรเทพเจ้าแทนการขอฝน

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

กล่าวโดยสรุปสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดของไทยมีโอกาสสูงในตลาดอินเดียด้วยจุดแข็งการเป็นครัวโลกของไทย ผู้สนใจตลาดอินเดียควรวางแผนเนิ่นๆ ในการเจาะตลาดเทศกาลดิวาลีเพราะพ่อค้าเขาจะตุนสินค้า 2-3 เดือนก่อน ถึงเดือนดิวาลี ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ไปร่วมงาน Thailand Trade Link ที่เมืองเจนไนในเดือนสิงหาคม ที่ซึ่งท่านจะได้พบปะกับผู้นำเข้าชาวอินเดียโดยตรง แต่หากท่านสนใจไปดูตลาดช่วงเทศกาลดิวาลีเลย ก็ขอแนะนำให้ไปร่วมงาน Thailand Exhibition ที่เมืองมุมไบ อย่างไรก็ตามบรรยากาศดิวาลียังคงเนิ่นนานอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งท่านสามารถไปร่วมออกร้านกับ Thai Pavilion ในงานแสดงสินค้านานาชาติที่กรุงนิวเดลีก็ไม่ผิดกติกา

นายไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ