ภาวะการณ์การค้าทองคำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2009 16:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การนำเข้าทองคำของไทย ปี 2552 ในช่วงเวลา 10 เดือนแรก (มค.- ตค.) มีมูลค่า 2,483.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 49.93 โดยมีการส่งออกใน 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีอัตราขยายตัวลดลงทุกตลาด ยกเว้นฮ่องกง ที่มีอัตราขยายตัวร้อยละ 18.41 เพียงตลาดเดียว

การส่งออกอัญมณีทำด้วยทอง ปี 2552 ในช่วงเวลา 10 เดือนแรก (มค.- ตค.) มีมูลค่า 1,161.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 26.30 โดยมีการส่งออกใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราขยายตัวลดลงทุกตลาดยกเว้นฮ่องกง และออสเตรเลีย ที่มีอัตราขยายตัวร้อยละ 0.41 และ 0.80 ตามลำดับ

การส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปปี 2552 ในช่วงเวลา 10 เดือนแรก (มค.- ตค.) มีมูลค่า 5,396.54 ล้าน-เหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 117.57 โดยมีการส่งออกใน 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐฯ และไต้หวัน โดยมีตลาดที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งมีอัตราขยายตัวร้อยละ 329.92 68.99 81.00 และ 9,919.0 ตามลำดับ

จากการที่ราคาทองคำโลกได้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศขึ้นทำระดับสูงสุดครั้งใหม่ตามไปด้วย โดยในวันที่ (23 พ.ย.52) ที่ผ่านมาราคาทองคำแท่งขาย 18,350 บาท รับซื้อที่ราคา 18,250 บาท ต่างจากราคาช่วงต้นเดือน (2 พ.ย. 52) ราคาขายอยู่ที่ 16,600 บาท ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น จากต้นเดือนถึง 11%

หากเทียบกับสิ้นปี 2551 นั้น ราคาทองคำโลกล่าสุดเพิ่มขึ้นมาแล้วถึง 33% และราคาทองคำแท่งในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นมาแล้ว 31% นอกจากนี้เมื่อเทียบกับข้อมูลอัตราผลตอบแทนจากราคาทองคำโลกและทองคำแท่งในรูปเงินบาท พบว่าอัตราผลตอบแทนในปีนี้ปรับสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ระดับ 33% เกินกว่าในปี 2550 ซึ่งอัตราผลตอบแทนของราคาทองคำอยู่ที่ระดับ 31% โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า นักวิเคราะห์คาดว่าราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก ภายใต้มุมมองในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก ที่คงจะช่วยหนุนความต้องการทองคำในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเงินเหรียญสหรัฐก็ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ตราบใดที่ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าราคาทองคำก็ยังสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากในปีหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคาด รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกและแรงกดดันเงินเฟ้อไม่ขยายตัวมากนัก อาจส่งผลให้ราคาทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์เผชิญความผันผวนได้

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาทองคำ มีสาเหตุหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่หนุนความต้องการถือครองทองคำทั้งในวัตถุประสงค์ของการเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมฟัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความต้องการลงทุนในทองคำผ่านกองทุน ETF ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับสถานการณ์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2553 ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน อันจะมีผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งส่งออกทองคำเพื่อทำกำไรและลดความเสี่ยงจากการถือครองทองคำจำนวนมากที่ผู้บริโภคภายในประเทศนำมาขายเหมือนดังเช่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประกอบกับฐานที่ต่ำของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอื่นๆที่ไม่ใช่ทองในปี 2552 โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงการเติบโตของภาคการผลิตที่แท้จริงของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนั้นอาจจะฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ โดยมีตลาดใหม่ๆอย่างจีน รัสเซีย และตะวันออกกลางเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

การส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้การเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2552 โดยมีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยยังคงนิยมที่จะลงทุนและค้ากำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำแท่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยในปี 2553 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะคาดว่าราคาเฉลี่ยของทองคำในปี 2553 จะยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับฐานที่ต่ำของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอื่นๆที่ไม่ใช่ทองในปี 2552 โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป นั้นอาจจะฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ เพราะการฟื้นตัวจากความต้องการในประเทศคู่ค้าหลักยังไม่ชัดเจนมากนัก โดยคาดว่าเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเทียมจะยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ระดับหนึ่ง เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจตกต่ำที่ยังคงชื่นชอบการแต่งตัวได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยราคาถูกกว่าเครื่องประดับทอง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ