Ready-to-eat Food: สูตรสำเร็จสำหรับการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 17, 2009 17:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพสูง อาหารการกินส่วนใหญ่ก็เน้นในเรื่องโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ดังนั้น ภาพรวมโครงสร้างประชากรของประเทศจึงมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก จนนำมาซึ่งปัญหา Aging Society ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในอีกแง่มุมหนึ่ง ญี่ปุ่นก็เป็นชาติที่ได้รับการขนานนามว่า “สัตว์เศรษฐกิจ” เนื่องจากผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เงินเดือน ซึ่งทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ รวมถึงแม่บ้านที่มีภาระต้องดูแลบุตรและพ่อแม่ผู้สูงอายุที่พักอาศัยด้วย ก่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน(Ready-to-eat Food) ตลอดจนธุรกิจบริการส่งอาหารและเครื่องปรุงที่ใช้ในการประกอบอาหารตามบ้านพักอาศัยในปัจจุบัน

Asatsu-DK Inc. ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่น โดยเน้นที่รายการอาหารค่ำของครอบครัวชาวญี่ปุ่นซึ่งแม่บ้านวัย 30-40 ปี ในเขตโตเกียว จำนวน 230 ครอบครัว มากว่า 10 ปี และพบว่า รายการอาหารจำนวนมากไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยอาหารประเภท Ready-to-eat เช่น อาหารแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปที่วางขายใน Supermarket และนับวันสัดส่วนของอาหารกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสวยกับและกับข้าวพร้อมเครื่องเคียงที่หลากหลาย กลายเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาสำหรับรายการอาหารค่ำ รวมถึงวัฒนธรรมการสังสรรค์ระหว่างสมาชิกครอบครัวในมื้อค่ำก็เริ่มหดหายไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะวิถีชีวิตที่เร่งรีบของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันดังที่กล่าวมาแล้ว

ผลสำรวจของ Ministry of Internal Affairs and Communications ระบุว่า ครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่มีสมาชิกมากกว่า 2 คน จะมีการใช้จ่ายประมาณ 8,100 เยน (ประมาณ 2,700 บาท) ต่อเดือน เพื่อซื้ออาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่สูงกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วถึง 12 เท่า นอกจากนี้ ธุรกิจที่ให้บริการส่งอาหารและเครื่องประกอบอาหารก็เฟื่องฟูขึ้นมาก เนื่องจากสะดวกสำหรับแม่บ้านยุคใหม่ โดยบริการของบริษัทเหล่านี้รวมถึง การนำเสนอรายการอาหารพร้อม เครื่องปรุงและระยะเวลาที่ใช้ในการประกอบอาหาร โดยผลสำรวจเผยว่า เครื่องปรุงที่ใช้ในการประกอบอาหารค่ำ 5 มื้อสำหรับผู้ใหญ่ 4 คน มีราคาอยู่ที่ประมาณ 7,000 เยน (ประมาณ 2,300 บาท)

Shunkubo Co., Ltd. บริษัทที่ให้บริการส่งอาหารและเครื่องประกอบอาหารซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Fukuoka และมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกจำนวน 10,000 ราย เผยว่า ยอดขายเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหารเพิ่มขึ้นทุกปีสำหรับกลุ่มครอบครัวที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี และคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของยอดขายรวมของบริษัท นอกจากนี้ Mr. Mitsuo Mikami ผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการส่งอาหารกล่องในเขตโตเกียว ได้ให้ข้อมูลว่า อาหารกล่องที่จำหน่ายมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กล่องละ 700 เยน (ประมาณ 230 บาท) โดยกลุ่มลูกค้าหลัก คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรงและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีภาระในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากอยู่ในวัยศึกษาและทำงาน ดังนั้น การทำอาหารจึงเป็นภาระที่หนักเกินไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ