คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2010

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 12, 2010 15:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มีสัญญาณการฟื้นตัว

ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจฮ่องกงเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งการล้มละลายของ Lehman Brothers ปัญหา Subprime ในสหรัฐฯ การระบาด H1N1 ทำให้เศรษฐกิจติดหล่มในช่วงขาลงตั้งแต่กลางปี 2008 โดย Real GDP ลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 และร้อยละ 7.6 ในไตรมาสแรกของปี 2009 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัว

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทางเศรษฐกิจของรัฐบาลฮ่องกงเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ในไตรมาสสองของปี 2009 โดย Real GDP ลดลงในอัตราร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าของปีเดียวกันพบว่า Real GDP เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 3.3

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจฮ่องกง สาเหตุหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่เริ่มดีขึ้น การบริโภคภายในประเทศไตรมาสสองเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ส่วนในด้านการส่งออกลดลงร้อยละ 12.4 (ไตรมาสแรกลดลงถึง ร้อยละ 22.7) การส่งออกที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดจีน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นของประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเติม Stock ที่เริ่มหมดลง แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนของฮ่องกงยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง ในอัตราร้อยละ 13.7 และร้อยละ 14 ในไตรมาสแรก และสองของปี 2009 ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจยังมิได้ฟื้นตัวเต็มที่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบของวิกฤตในครั้งนี้กับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อสิบปีก่อน จะเห็นว่าเศรษฐกิจฮ่องกงรับมือได้ดีกว่าในคราวนี้ ทั้งในด้านความรุนแรงและระยะเวลาการฟื้นตัว ซึ่งสาเหตุเนื่องจากระยะห่างจากศูนย์กลางวิกฤต และที่ผ่านมาเศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2547-2551 เศรษฐกิจฮ่องกงมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.3 ต่อปี

ทำให้ประชาชนมีรายได้และเงินเดือนสะสมที่เพียงพอในการใช้จ่าย ตลอดทั้งอัตราการจ้างงานค่อนข้างคงที่ อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำ การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูของภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศและการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับมา

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เป็นบวก

เศรษฐกิจโลกที่ดูเหมือนเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวในไตรมาสสองถึงร้อยละ 7.9 ทำให้เศรษฐกิจจีนเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 8

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศหลักในสหภาพยุโรป ก็พบว่าการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสองของปีดีกว่าที่คาด เนื่องจากมาตราการกระตุ้นของภาครัฐเริ่มทำงาน จากตัวเลขของ U.S. Bureau of Economic Analysis พบว่าการบริโภคภายในประเทศในไตรมาสสองลดลงร้อยละ 1 ในขณะที่ไตรมาสแรกลดลงถึงร้อยละ 6 ซึ่งเป็นสัญญาณที่เป็นบวก ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจผ่านช่วงต่ำสุดไปแล้ว

ด้วยสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้การค้ากับต่างประเทศของฮ่องกงฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตามนักวิชาการฮ่องกง ยังมีความกังวลกับการฟืนตัวครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ได้นำนโยบายด้านการเงินมาใช้โดยเพิ่มจำนวนเงินเข้าสู่ตลาด เพื่อรักษาตลาดการเงิน ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ปกติ และเกิดคำถามว่าประสิทธิภาพของมาตรการชั่วคราวนี้จะรักษาได้อย่างไร จะจัดการกับผลกระทบข้างเคียงอย่างไรและเมื่อไรรัฐบาลถึงจะเลิกแทรกแซงได้ จนหลายคน เริ่มเชื่อว่า เศรษฐกิจอาจจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรอบสอง ในระยะอันใกล้นี้

รูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในตลาดหลัก

เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากภาระหนี้จำนวนมหาศาลและอัตราความเชื่อถือ (Credit rate) ที่ต่ำ รวมทั้งภาวะอัตราการว่างงานสูงต่อไปอีกระยะโดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตร พบว่าอัตราการจ้างงานลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ครอบครัวชาวอเมริกัน ส่วนใหญ่ซึ่งเคยชินกับการพึ่งการใช้เครดิตในการบริโภคสินค้า กำลังเจ็บปวดกับผลการใช้จ่ายเกินตัว อัตราหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวอเมริกันมีมากถึง ร้อยละ 132 ในปี 2007 และลดลงเป็นร้อยละ 124 ในเดือนมีนาคม 2009 ในขณะอัตราการออมเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 0 ก่อนวิกฤตเป็นร้อยละ 6.9 ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในรอบ 15 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไปของชาวอเมริกัน และอาจเป็นการเปลี่ยน paradigm ของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ผลิตสินค้าต้องหันกลับมาสู่สามัญ (back to basic) มากขึ้น

การก่อตัวของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ จากเงินร้อนจีนอาจเป็นชนวนวิกฤตลูกใหม่

บรรยากาศลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นฮ่องกงดูเหมือนดีขึ้นเป็นลำดับ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนหน้าวิกฤต ดัชนีหุ้น Heng Seng เกิน 20,000 จุด แต่อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจฮ่องกงได้เตือนให้ระวังการไหลเข้าของเงินทุนจากจีน แม้จะดึงตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ให้สูงขึ้น แต่จะเพิ่มความเสี่ยงของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ หากรัฐบาลจีนกลับลำ โดยหยุดอัดฉีดเข้าระบบตลอดทั้งเข้มงวดในธุรกรรมด้านการเงินระหว่างประเทศ จะทำให้การเคลื่อนไหวของกระแสทุนอ่อนลง จะส่งผลให้ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงปั่นป่วน ซึ่งจะเป็นผลร้ายกับตลาดการบริโภครวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของฮ่องกง

โดยสรุป

การคาดการณ์เศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2010 ค่อนข้างเป็นบวก แม้ว่า GDP ของปี 2009 คาดการณ์ว่าจะติบลบร้อยละ 3 แต่ประเมินว่าจะฟื้นตัวมาเป็นปกติได้ในปี 2010 และในปี 2010 ทั้งปี เศรษฐกิจฮ่องกงจะเติบโตประมาณร้อยละ 3

สคร.ฮ่องกง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ