ออสเตรเลีย : พันธมิตรสำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2010 14:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่มีความสำคัญต่อญี่ปุ่น โดยในด้านความมั่นคง ญี่ปุ่นและออสเตรเลียต่างเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งทั้งสามประเทศได้มีท่าทีร่วมในประเด็นอ่อนไหวต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และในด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับสองของออสเตรเลีย และเป็นประเทศที่มี FDI ในออสเตรเลียสูงเป็นลำดับที่ 3

ประเด็นที่สองประเทศจะสานต่อและยกระดับความสัมพันธ์ในมิติทางการเมืองและความมั่นคงในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้เป็นยุทธปัจจัย การบรรลุ Acquisition and Cross-Servicing Agreement (ACSA) เพื่อความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านอาหาร พลังงาน และการขนส่งลำเลียง ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ รวมถึงการจัดทำ Safeguard Accord ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความมั่นคงเพื่อเป้าหมายในการสร้าง เสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งทั้ง ACSA และ Safeguard Accord ล้วนเป็นความตกลงที่ญี่ปุ่นทำไว้กับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวเท่านั้นในปัจจุบัน

ในด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของออสเตรเลียในสินค้าพลังงานและอาหาร ในขณะที่ออสเตรเลียนำเข้ารถยนต์และเครื่องจักรกลจากญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐฯ การใช้ Economic Partnership Agreement มากระชับความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศต่างเห็นพ้องว่ามีความจำเป็น กระนั้นก็ตาม สินค้าเกษตรที่อ่อนไหว เช่น เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์นม ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเจรจายากขึ้นไปอีก ซึ่งญี่ปุ่นจำต้องพิจารณาและให้น้ำหนักระหว่างสินค้าอ่อนไหวดังกล่าวกับการใช้ออสเตรเลียเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อรองรับนโยบาย Food Security ของประเทศ รวมถึงการนำพลังงานและแร่ธาตุซึ่งจำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศเช่น ถ่านหิน เหล็ก สินแร่ และยูเรเนียม จากออสเตรเลียมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุ EPA ได้ในอนาคต ออสเตรเลียจะเป็นคู่แข่งสำคัญของหลายประเทศ รวมทั้งไทย ในการส่งออกสินค้าอาหารมายังตลาดญี่ปุ่นยิ่งไปกว่าปัจจุบัน

ในภาพรวม ความสัมพันธ์ทวิภาคีญี่ปุ่น-ออสเตรเลียเป็นไปด้วยดีมาตลอด แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างสองประเทศอยู่บ้าง เช่น ออสเตรเลียซึ่งเป็นหัวหอกในการต่อต้านการล่าวาฬภายใต้ International Whaling Commission ไม่พอใจญี่ปุ่นในเรื่องดังกล่าว แต่ก็คาดว่าเรื่องนี้ ไม่น่าจะเป็นชนวนที่กระทบต่อความสัมพันธ์สองฝ่ายอย่างรุนแรง เพียงแต่ญี่ปุ่นน่าที่จะต้องหาทางออกที่ดีเพื่อตอบออสเตรเลียและประชาคมโลกในเรื่องดังกล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ