การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2010 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 2551 ส่งผลกระทบให้มูลค่าส่งออก และนำเข้าของญี่ปุ่นลดลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 20 ปี โดยลดลงในอัตราร้อยละ 25.8 และ 27.8 ตามลำดับ

การส่งออก

ในปี 2552 มูลค่าส่งออกของญี่ปุ่นลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 หลังจากนั้นเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่2 ของปี 2552 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางปัจจัยลบอื่น ได้แก่ ความต้องการโดยรวมภายในประเทศที่ยังอ่อนตัว ทั้งจากภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ค่าเงินเยนแข็งค่า การว่างงานสูงขึ้น ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย เป็นต้น

การส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น เป็นผลจากความต้องการในประเทศจีน และตลาดอื่นในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งอินเดีย ขณะที่ตลาดยุโรปยังไม่ฟื้นตัวดี

ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นที่ลดลงมากถึงร้อยละ 31.7 ในตลาดสหรัฐฯ ตามสภาพเศรษฐกิจส่งผลให้ จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ทั้งในฐานะตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้า หลังจากที่จีนครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2550 และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกของญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดมาตั้งแต่ปี 2544 โดย มูลค่าส่งออกไปจีนทั้งปี 2552 ลดลงจากปีก่อนเพียงร้อยละ 12.3

การนำเข้า

การนำเข้าของญี่ปุ่นมีมูลค่าต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังจากนั้นยังไม่แสดงแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน มูลค่านำเข้าในช่วงปลายปี 2552 อยู่ในระดับสูงกว่าระยะต้นปีไม่มากนัก โดยมีปัจจัย ได้แก่

  • การลดลงของราคาสินค้าเชื้อเพลิงซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าการนำเข้ารวม
  • แม้การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวขึ้นตามสถานการณ์ส่งออก แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงกลางปี 2551 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ประมาณ ร้อยละ 20 ความต้องการสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปยังไม่ฟื้นตัวนัก
  • ความต้องการรวมภายในประเทศอ่อนตัวลงทั้งการลงทุนในภาคธุรกิจ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 58 ของ GDP
  • อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเป็นประวัติการในเดือนกรกฎาคมที่รอ้ ยละ 53.7 และอัตราค่าจ้างเฉลี่ยปี 2552 น้อยลงจากปีก่อนร้อยละ 3.9 ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมานิยมสินค้าคุณภาพปานกลางที่มีราคาไม่แพงมากขึ้น จนผู้ประกอบการต้องแข่งขันลดราคา และนำเสนอสินค้าที่มีต้นทุนต่ำลง

สินค้านำเข้าลดลงเกือบทุกประเภท ที่ลดลงมาก เช่น สินค้าเชื้อเพลิง สินแร่ ยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า ยางและผลิตภัณฑ์

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทยปี 2552 มูลค่าหดตัวลงทั้งการส่งออกและนำเข้า ตามสถิติศุลกากรญี่ปุ่น การส่งออกมาไทยมีมูลค่า 22,250.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 24.6 นำเข้าจากไทยมูลค่า 16,013.4 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 23.1 ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทย 6,237.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 28.1

การนำเข้าจากไทย

สินค้าสำคัญที่นำเข้าจากไทยมีมูลค่าลดลงตามสถานการณ์การผลิต และการส่งออกของญี่ปุ่น เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์การขนส่ง ยางพารา เครื่องจักรเครื่องกล เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ และเนื่องจากภาวะราคาที่ลดลง ส่งผลให้สินค้าบางชนิดมีมูลค่าลดลง ทั้งที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น อลูมิเนียม พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยขยายตัวในอัตราสูงมากในปี 2552 คือ เครื่องสำอางและน้ำหอม ซึ่งรวมสบู่และผลิตภัณฑ์สปา เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 48.1 โดยผลิตภัณฑ์สปาจากไทย รวมทั้งสบู่ที่ผสมสมุนไพร และวัตถุดิบธรรมชาติจากไทย เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นหลากหลายชนิดขึ้น สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมเชิงรุกแนะนำผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบธุรกิจสปาญี่ปุ่น

เสื้อผ้าสำเร็จรูป ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 โดยในปี 2552 ที่ผ่านมาญี่ปุ่นนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่ารวมจากทุกแหล่ง ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย แต่สินค้าในตลาดญี่ปุ่นเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค โดยลดความนิยมเสื้อราคาแพงที่นำเข้าจากอิตาลี และที่ผลิตในญี่ปุ่นลง เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปเป็นสินค้าคุณภาพปานกลางราคาไม่แพง ที่ผู้ค้าและผู้ประกอบการในประเทศ นำเข้าหรือออกไปลงทุนผลิตจากประเทศเอเชียมากขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งได้ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ผ้าผืน เส้นด้ายลดลง

สำหรับสินค้าอาหารแม้ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารโดยรวมลดลง แต่การนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าอาหารจากไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยที่ขยายตัวมากกว่าสินค้าจากแหล่งอื่น เช่น กุ้ง ปูสดแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารจากไทยบางรายการที่ลดลงมากกว่าแหล่งนำเข้าอื่น เช่น เนื้อปลาสดแช่เย็น /แช่แข็ง ปลาหมึกแช่เย็น/แช่แข็ง ที่ความอุดมในน่านน้ำไทยได้ลดลง น้ำตาลที่มูลค่าลดลงหลังจากที่ขยายตัวสูงมากในปี 2551 เนื่องจากปัญหาการผลิตในออสเตรเลีย

การส่งออกมาไทย

โดยที่สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้าทุน วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าสำคัญที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทย ลดลงเกือบทุกรายการ ตามสถานการณ์การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย

สินค้าที่มูลค่าลดลงมาก เช่น สินค้าประเภท เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องจักร เครื่องกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี อย่างไรก็ตาม สินค้าเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าบางรายการมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และอุปกรณ์เครื่องจักรกลอื่นๆ

แนวโน้มสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นปี 2553

นักวิเคราะห์เห็นว่า การส่งออกของญี่ปุ่นและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่กลางปี 2552 จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2553 จะขยายตัวเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 0.8 และ 0.75 ตามลำดับ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความต้องการโดยรวมภายในประเทศยังออ่ นตัว มาตรการกระตุน้ เศรษฐกิจชุดใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อปลายเดือนมกราคม 2553 ไม่ส่งผลมากพอสำหรับภาวะปัจจุบันที่ deamand ต่ำกว่า supply รวมของประเทศถึง 35 ล้านล้านเยน ญี่ปุ่นจะยังประสบภาวะเงินฝืดต่อไปอีก โดยระดับราคาสินค้ายังคงโน้มลดลง จนถึง มีนาคม 2555

ดังนั้น การนำเข้าสินค้าโดยรวมของญี่ปุ่นฟื้นตัวจากปี 2552 แต่ยังไม่เต็มที่นัก คาดว่ามูลค่านำเข้าจากไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 10 สินค้าไทยที่มีโอกาสขยายตัว ได้แก่

  • สินค้าอุตสาหกรรมบางชนิดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามสถานการณก์ รส่งออกของญี่ปุ่น
  • สินค้าอาหารประเภทผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และเครื่องปรุง ยังมีโอกาสขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น แม้ผลิตภัณฑ์จากจีนที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นไปร่วมทุนกลับมาขยายตัวขึ้นก็ตาม โดยต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นใจในคุณภาพอาหารจากไทย รวมทั้งนำเสนออาหารไทยที่ผสมผสานกับวัตถุดิบญี่ปุ่น หรือรูปแบบใหม่สไตล์สากล เพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้าให้ตลาดขยายในวงกว้าง
  • สินค้าแฟชั่น ประกอบด้วย เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า รองเท้า รวมทั้งเครื่องประดับ ตลาดสำหรับสินค้าที่เป็น fast fashion ซึ่งมีคุณภาพปานกลางราคาไม่แพงกำลังขยายตัวในญี่ปุ่น สินค้าจากไทยมีโอกาสแข่งขัน โดยต้องปรับรูปแบบ การออกแบบ ให้เหมาะกับตลาด รวมทั้งการสร้างแบรนด์ ใช้ช่องทางตลาดใหม่ๆ เช่น การจำหน่ายทาง online
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามรวมทั้งผลิตภัณฑ์สปา ตลาดสนใจผลิตภัณฑ์เพื่อความงามจากสมุนไพร และวัตถุดิบจากธรรมชาติมากขึ้น แต่ต้องผลิตให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ปรับปรุง packaging รวมทั้งจัดกิจกรรมเชิงรุกร่วมมือกับผู้นำเข้า ตลอดจนแนะนำผลิตภัณฑ์พร้อมรูปแบบสปาไทยแก่ผู้ประกอบธุรกิจสปาในญี่ปุ่น

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ