วิเคราะห์เศรษฐกิจ และแนวโน้มตลาดญี่ปุ่นในปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2010 14:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 โดยปีคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว ติดลบ -3.2 % ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียทำให้ความต้องการสินค้าจากญี่ปุ่นเพิ่ม แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น (1) ความต้องการซื้อ (Demand) ภายในประเทศยังอ่อนตัว ทั้งที่เกิดจากการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของครัวเรือน (2) อัตราการว่างงานยังสูงที่ระดับ 5 % และอัตราค่าจ้างมีแนวโน้มลดลง ทำให้ผู้ซื้อระมัดระวังการใช้จ่าย (3) สภาวะ Deflation ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2009 ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันด้วยการลดราคาขาย และลดคุณภาพ ส่งผลต่อรายได้ของภาคธุรกิจและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว

สภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มตลาดญี่ปุ่นใน ปี 2553 สรุป ดังได้นี้
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจขยายประมาณ 1.0 - 1.4 % โดยอาจจะเห็นภาพการฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีขณะที่ Nominal growth อาจจะอยู่ที่ 0 %
  • ในภาพรวม ตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่าจะหดตัวลงเรื่อยๆ เพราะจำนวนประชากรที่ลดลง และการเข้าสู่
ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งต้องการบริโภคน้อยลง สินค้าในตลาดจึงอยู่ในภาวะ Over Supply หรือ มี Demand gap อยู่มูลค่าสูงถึง 35 ล้านล้านเยน (Trillion Yen หรือ $ 384.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือเท่ากับ 7 %GDP
  • กลุ่มสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดว่าเป็นกลุ่มที่ตลาดกำลังเติบโตและมีความสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Environment, Medical care และTourism ส่วนภาคธุรกิจที่จะขยายตัว ประกอบด้วย 4 E sectors ได้แก่ Eco-issue; Emerging market; Elderly และ E-commerce โดย Key words ของความสำเร็จทางธุรกิจ ได้แก่ ความปลอดภัย (Safety), ความมีเสถียรภาพ (Stability) และการสื่อข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน (Communication)
  • GDP ของญี่ปุ่นโดยรวมมีมูลค่า 5.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ GDP ของจีนมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านเหรียญฯ ด้วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงถึง 8.7 % ในปี 2552 ขณะที่ GDP ของญี่ปุ่นติดลบ ทำให้คาดกันว่าจีนอาจจะแซงหน้า ชิงตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก จากญี่ปุ่นในปี 2553 และอาจแซงหน้าสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)
  • นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่น โต้แย้งว่า แม้จีน จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ อำนาจซื้อของตลาด หรือรายได้ต่อหัวประชากร (per capita GDP) ของจีนก็ยังห่างไกลอยู่มาก คือมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของญี่ปุ่น และแม้ว่าจะปรับด้วยดัชนีราคา (price adjusted) แล้ว ก็ยังมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ก็แนะนำว่า ด้วยขนาดของประชากรที่มีมากกว่าญี่ปุ่น ถึง 10 เท่า จีนจึงเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อญี่ปุ่นอย่างมาก จึงควรใช้ความได้เปรียบของระยะทางที่ใกล้กับจีนสร้างโอกาสทางธุรกิจกับจีน

แนวโน้มข้างต้น ทำให้กลุ่มผู้ผลิต โดยเฉพาะ กลุ่ม SME ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หลายรายมองหาลู่ทางออกไปผลิตและขยายตลาดในต่างประเทศ การนำเข้าของญี่ปุ่นในระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มว่า จะเปลี่ยนทิศทางไปสู่การนำเข้าเพื่อนำไปผลิตยังโรงงานของญี่ปุ่นในต่างประเทศ โดยมีเอเชีย ซึ่งคืออาเซียน เป็นศูนย์กลางจะเห็นบริษัทญี่ปุ่นออกไปลงทุน และร่วมทุน ในอาเซียน เพื่อการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวม จีนและอินเดียมากขึ้นด้วย ประเทศไทยจึงควรผลักดันให้เป็นOutsourcing Center และ Regional Operating Headquarters ให้ได้ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เป็นตัวอย่างว่าญี่ปุ่นใช้อาเซียน เป็นฐานการผลิต เช่น ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเครื่องยนต์ และเครื่องปรับอากาศ ใช้มาเลเซียเป็นฐานผลิตเครื่องยนต์และ condenser อินโดยนีเซียเป็นฐานผลิตเครื่องยนต์ก๊าซโซลีนและแตร ฟิลิปปินส์เป็นฐานผลิต มิเตอร์และ Transmission Combination เป็นต้น สำหรับภูมิภาค และประเทศ ที่บริษัทญี่ปุ่นมองว่ามีศักยภาพสูง และเป็นเป้าหมายของธุรกิจ ทั้งการลงทุนและการค้า ได้แก่ BRIC : Brazil, Russia, India, China

สำหรับแนวโน้มของตลาดสินค้าไทยในญี่ปุ่นในรอบปี 2553 เชื่อว่า นอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักร ซึ่งตลาดเริ่มฟื้นตัว แล้ว สินค้าอุปโภค-บริโภค ก็เป็นกลุ่มที่มีลู่ทางขยาย โดยสินค้าอาหารยังมีโอกาสสดใส เพราะนโยบาย Food Safety และระบบ Traceability ที่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าส่งออก ทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย สินค้าอาหารที่มีโอกาสขยายได้อีกมาก เช่นอาหารในลักษณะ Fusion ที่ผสมผสานความเป้นอาหารไทยกับอาหารประจำชาติญี่ปุ่น อาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ สินค้าอื่นๆ ที่มีลู่ทาง เช่น สินค้าแฟชั่น ตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับของขวัญของชำร่วยที่มี function ใช้งานได้ด้วย เป็นต้น ปัจจัยของความสำเร็จในการขายในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คือ การขายสินค้าที่มีคุณภาพและคุ้มค่าเงินที่ผู้ซื้อจ่าย

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ