ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านมอบหมายให้หน่วยงานของอิหร่าน คือ Government Trading Corporation (GTC) เป็นผู้ผูกขาดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว โดย GTC นำเข้าข้าวสารผ่านระบบประมูลทั้งแบบ G2G และ G2B โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแทรกแซงราคาข้าว ป้องกันปัญหาขาดแคลนข้าวภายในประเทศ ตลอดจนอุดหนุนราคาข้าวแก่ผู้ยากจนในอิหร่าน
ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยขายข้าวให้ GTC แบบ G2G และส่งออกข้าวขาว 100% ชั้น 2 ให้อิหร่านเป็นจำนวนหลายแสนตันต่อปี อย่างไรก็ดี แต่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลอิหร่านเปลี่ยนนโยบายจากเดิมให้ GTC ผูกขาดการนำเข้าเป็นสนับสนุนให้ผู้นำเข้าข้าวเอกชนชาวอิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแทน ส่งผลให้การนำเข้าข้าวจากไทยแบบ G2G หมดไป และผู้นำเข้าอิหร่านเริ่มนำเข้าข้าวบาสมาติกจากอินเดียและปากีสถานเข้าสู่ตลาดอิหร่านมากขึ้น
อิหร่านนำเข้าข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตันทุกปี โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2551 หน่วยงาน GTC เป็นผู้ดำเนินการนำเข้าข้าวเองทั้งหมด และในปี 2551 หน่วยงาน GTC เริ่มลดปริมาณการนำเข้าลง ซึ่งในปี 2552 GTC ยกเลิกการนำเข้าโดยสิ้นเชิง และให้ภาคเอกชนอิหร่านเป็นผู้นำเข้าข้าวเองทั้งหมดเป็นปริมาณถึง 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 8.13 รายละเอียดดังตาราง 1
จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรอิหร่าน หลังจากที่ GTC ยกเลิกการนำเข้าข้าวแบบ G2G อิหร่านก็นำเข้าข้าวจากไทยลดลงตามลำดับ โดยในปี 2552 อิหร่านนำเข้าข้าวจากไทยเพียง 2,711,125 กิโลกรัม เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,234,995 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ดังแสดงในตาราง 2
ในปี 2552 อิหร่านนำเข้าข้าวสารจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นปริมาณสูงที่สุดคือ 567,792,173 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ประเทศปากีสถานเป็นปริมาณ 363,385,493 กิโลกรัม และอินเดีย เป็นปริมาณ 265,728,593 กิโลกรัม โดยแต่ละประเทศมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าข้าวในอิหร่านร้อยละ 44 ร้อยละ 28 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ดังแสดงในตารางที่ 3
1. ผู้บริโภคอิหร่านยังไม่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย แม้ว่าชาวอิหร่านมีพฤติกรรมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับคนไทย แต่อย่างไรก็ดี ข้าวหอมที่ชาวอิหร่านนิยมบริโภค เป็นข้าวชนิดที่หุงแล้วแห้งร่วน ไม่เกาะกันเป็นก้อน ซึ่งมีเฉพาะในข้าวหอมอิหร่าน และข้าวบาสมาติกของอินเดีย ทำให้ข้าวไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ดังนั้น การที่จะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในอิหร่านได้ จำเป็นต้องค้นคิดและเผยแพร่วิธีการหุงข้าวหอมมะลิให้ร่วนและไม่เกาะกันเป็นก้อนตามความนิยมของชาวอิหร่าน และต้องปรับพฤติกรรมผู้บริโภคอิหร่านให้หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย โดยการโฆษณาเผยแพร่ความรู้ เรื่องคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย และค้นคิดวิธีการหุงข้าวหอมมะลิไทยให้ถูกปากประชาชนอิหร่าน จะช่วยให้ ชาวอิหร่านปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อข้าวหอมมะลิไทยและหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดอิหร่านมากขึ้น
2. ปัญหาการโอนเงินระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว (Unilateral sanction) ต่ออิหร่าน โดยใช้มาตรการให้ธนาคาร/สถาบันการเงินทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ให้ยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยปฏิเสธรับ L/C และระงับการทำธุรกรรมกับอิหร่านโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าข้อมติต่างๆ ของ UNSC เนื่องจากการส่งออกสินค้าของไทยมิได้เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด ทั้งนี้ธนาคารไทยเข้าใจว่าหากดำเนินธุรกรรมกับอิหร่านแล้ว จะถูกรัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็งและสั่งมิให้ดำเนินธุรกรรมกับธนาคารของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถรับเงินค่าชำระสินค้าจากผู้นำเข้าอิหร่านได้ ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยไปตลาดอิหร่านชะงักงัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และ สหรัฐอาหรับเอ-มิเรตส์ สามารถสร้างช่องทางธนาคารเพื่อดำเนินธุรกรรมได้ จึงสามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว
สคร ณ กรุงเตหะราน
ที่มา: http://www.depthai.go.th