อาหารฮาลาลกลายเป็นธุรกิจสำคัญในสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 25, 2010 16:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลในสิงคโปร์มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆมีความสนใจยื่นขอตราฮาลาลเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด ซุปเปอร์มาร์เก็ต Carrefour ได้เริ่มเปิดแผนกเฉพาะสินค้าฮาลาลที่สาขา 2 แห่งในสิงคโปร์ ณ Suntec City และ Plaza Singapura จำหน่ายอาหารที่ได้รับตราฮาลาลจาก Islamic Religious Council of Singapore (Muis) ซึ่งผู้บริหารของ Carrefour ให้ความสำคัญต่อลูกค้ามุสลิม และจะขยายประเภทของสินค้าฮาลาลให้มีมากชนิดขึ้น ในขณะนี้ Carrefour มีสินค้าของชำที่ได้รับตรา ฮาลาลจำนวน 9,440 รายการ และอาหารสดจำนวน 736 รายการ

Carrefour มีแผนการขยายกิจการในสิงคโปร์ภายใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยเงินลงทุน 84 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยกำหนดการสร้างซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตตามหมู่บ้านโครงการเคหะ(HDB : Housing Development Board) อีก 6-8 สาขา ซึ่งเขตที่จะสร้างอยู่ในบริเวณทิศเหนือ, ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกของสิงคโปร์ และซุปเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้จะมีแผนกสินค้าฮาลาลด้วย

นอกจาก Carrefour แล้ว ซุปเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ เช่น FairPrice, Giant และ Cold Storage ต่างก็มีแผนกสินค้าฮาลาลด้วยเช่นกัน สำหรับบริษัทอื่นๆที่เข้ามาในวงการสินค้าฮาลาล ได้แก่ บริษัท Apex—Pal International เจ้าของร้านอาหาร Sakae Sushi ได้รับตราฮาลาล Singapore Muis Halal Quality Management System หรือเรียกสั้นๆว่า HalMQ สำหรับร้านในเครือชื่อ Hei Sushi ซึ่งเป็นร้านซูชิบนสายพานเจ้าแรกที่ได้รับตราฮาลาลในสิงคโปร์ มีสาขา 2 แห่ง ที่ Downtown East และ Sembawang Shopping Centre นอกจากนี้มีซุ้ม Takeaway ซูชิที่ห้างสรรพสินค้า IMM อนึ่ง บริษัทฯ มีแผนการที่จะขยายสาขาของร้าน Hei Sushi เพิ่มขึ้นอีกในอนาคตทั้งในสิงคโปร์และประเทศมุสลิมอื่นๆ (รวมจำนวนลูกค้ามุสลิมถึง 1.9 พันล้านคน)

หน่วยงานที่ควบคุมและมีอำนาจในการอนุญาตตราฮาลาลในสิงคโปร์คือ Islamic Religious Council of Singapore (Muis) ที่สามารถออกตราฮาลาลให้แก่สถานประกอบการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งได้ออกตราฮาลาลไปแล้ว 2,450 ฉบับ (มค.-กย 2552) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 (เทียบกับปี 2549) ซึ่งบริษัทต่างๆ ที่ยื่นขอตรา ฮาลาลนั้น ไม่เพียงแต่ต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าท้องถิ่นที่เป็นชาวมุสลิมแล้วยังมองหาโอกาสที่จะส่งออกสินค้าฮาลาลของตนไปยังประเทศมุสลิมอื่นๆ

อนึ่ง นอกจากตลาดอาหารฮาลาลที่มีอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ตุรกี และประเทศในแถบตะวันออกกลางแล้ว ประเทศฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนี เป็นกำลังสำคัญในการเปิดตลาดอาหาร ฮาลาลในยุโรป ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจอาหารฮาลาลนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ตามร้านอาหารเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ค้าปลีกรายสำคัญๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น Tesco ของอังกฤษ หรือ Carrefour ของฝรั่งเศส สินค้าประเภทนมผง, เครื่องปรุงอาหารและซ๊อสปรุงรสต่างๆที่มีตราฮาลาล ล้วนเป็นสินค้ายอดนิยมในยุโรปทั้งสิ้น ซึ่งบริษัท Nestle ของสวิสฯ ได้เริ่มขายผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แช่แข็งที่มีตราฮาลาลในประเทศฝรั่งเศส Nestle เป็นบริษัทผู้นำระดับโลกที่ผลิตอาหารฮาลาลซึ่งในปี 2551 บริษัทฯมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมูลค่าถึง 5.23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนรายได้ทั้งปีของ Nestle นอกจากนี้ สำนักข่าว Reuters ได้ประมาณการมูลค่าของตลาดอาหารฮาลาลโลกว่ามีมูลค่าถึง 634 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนตลาดอาหารฮาลาลในยุโรปนั้น ได้ประมาณการมูลค่าไว้ที่ 66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 20-25 ภายในทศวรรษหน้า

ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในสิงคโปร์

ตาม Islamic Law ฮาลาล [Halal] หมายถึง อาหารที่จัดเตรียมตามระเบียบของศาสนาอิสลาม และอนุญาตให้ชาวมุสลิมบริโภค ซึ่งไม่มีส่วนประกอบจากสุกรและแอลกอฮอล์

ในสิงคโปร์ หน่วยงาน The Islamic Religious Council of Singapore หรือเรียกว่า MUIS จัดตั้งขึ้นในปี 1968 มีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องศาสนาอิสลามในสิงคโปร์ และในปี 1972 MUIS เริ่มให้บริการในการออกใบรับรองอาหารฮาลาล [Halal Certificate] ซึ่งสืบเนื่องมาจากการติดต่อค้าขายกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่ผู้ผลิตและส่งออกสิงคโปร์จะต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามระเบียบ Halal Certificate พร้อมได้รับอนุญาตและมีใบรับรองจาก MUIS

การผลิตและการบริโภคภายในประเทศ

การผลิต ไม่มีการจดบันทึกแยกสำหรับการผลิตสินค้าภายใต้ Halal โดยเฉพาะ หากดูจากจำนวนประชากรมุสลิมซึ่งมีร้อยละ 14 หรือจำนวนประมาณ 672,000 คน การผลิตและนำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศจึงมีจำนวนไม่มากนัก

การบริโภคภายในประเทศ สัดส่วนของชาวมุสลิมในสิงคโปร์ร้อยละ 14 หรือจำนวน 672,000 คน

การนำเข้า

ไม่มีการจดบันทึกโดยเฉพาะสำหรับสินค้า Halal

ศักยภาพของตลาดและโอกาสของไทย

ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดเล็กสำหรับอาหารฮาลาล แต่หากจะส่งออกสินค้าฮาลาลภายใต้ใบรับรองของ MUIS ไปยังประเทศมุสลิมอื่นๆ ก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1.9 พันล้านคน ประเทศที่นับว่าเป็นตลาดอาหารฮาลาลสำคัญคือ อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย ซาอุดิอาราเบีย คูเวต สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์ และอิหร่าน

คู่แข่งขัน

ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นประเทศคู่แข่งขันสำคัญที่ผลิตอาหารฮาลาลซึ่งได้รับการรับรอง สามารถส่งอาหารฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมต่างๆ ทั่วโลกได้

ลักษณะสินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นที่นิยมในสิงคโปร์

อาหารที่ประกอบด้วยเนื้อไก่ และเนื้อวัว โดยปรุงตามเมนูของอาหารมุสลิมเป็นอาหารสดที่ผ่านการฆ่าโดยใช้มีดคมมากและมี Muslim Operator ซึ่ง recite the phrase "Bismillah" ระหว่างการฆ่าและทำความสะอาด สำหรับส่วนผสม [Food Additives] ต้องได้รับ Islamic Status "Halal" ด้วย

ภาษีนำเข้า

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหาร ภาษีที่เรียกเก็บ คือ ภาษีสินค้าและบริการ [Goods & Services Tax : GST] ร้อยละ 7

มาตรฐานระหว่างประเทศด้านการผลิตสินค้าอาหารที่เป็นที่ยอมรับ

คือ มี logo "Halal" บนบรรจุภัณฑ์ ที่ออกใบรับรองจาก Islamic Council

ระเบียบการนำเข้า
  • ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าสินค้าได้เสรี โดยผ่านการตรวจสอบของหน่วยงาน Agri-Food Veterinary Authority (AVA)
  • สำหรับสินค้าอาหารฮาลาล MUIS ได้ให้ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ โดยสินค้าจะต้องมีตรา “Halal” ที่ Established Islamic Council ออกให้
ช่องทางการจำหน่าย

การส่งสินค้าจำหน่ายในสิงคโปร์ โดยผู้นำเข้าจะดำเนินการนำเข้า ส่งต่อให้ผู้ขายส่ง ขายปลีก และซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้ง Provision Shop ทั่วไปตามตลาดสด

อุปสรรคในการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย
  • ผู้บริโภคสิงคโปร์ยอมรับสินค้าอาหารฮาลาลที่ได้รับใบรับรองจาก MUIS หากอาหารฮาลาล ของไทยสามารถขอรับใบรับรองจาก MUIS ของสิงคโปร์ได้ ก็จะเป็นการสะดวกและง่ายในการส่งออกอาหาร ฮาลาลไทยจำหน่ายในสิงคโปร์และประเทศมุสลิมอื่นๆ ด้วย
  • สิงคโปร์ไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลไทยที่ประกอบด้วยเนื้อวัว สำหรับเนื้อไก่ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผ่านความร้อนสูงจากโรงงานผลิตที่ได้รับอนุญาตจาก Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) ของสิงคโปร์ และมีตรารับรอง “Halal”
ข้อคิดเห็น

(1) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก รวมทั้งสินค้าอาหารฮาลาล ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลมากกว่า 900 บริษัท และได้มีประเภทอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล จากคณะกรรมการกลางอิสสามแห่งประเทศไทยมากกว่า 10,000 ชนิด ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีอาหารหลาก หลายชนิด ถึงแม้ว่าไทยมีการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดสำคัญเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย อิยิปต์ อินโดนีเซีย และบรูไน ก็ตามแต่มีปริมาณน้อย

(2) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฮาลาลไทยให้เป็นที่รู้จัก เป็นช่องทางสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมหันมานิยมเลือกซื้อสินค้าจากไทย ดังนั้น การนำสินค้าอาหารฮาลาลไทยเข้าประชา- สัมพันธ์ในงานแสดงสินค้าอาหารในสิงคโปร์ ได้แก่ Asia Pacific Food Expo, Food & Hotel Asia, Singapore Food Expo เป็นต้น โดยให้ความรู้แก่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ให้มีความเข้าใจในการรับรองตรามาตรฐานฮาลาลของไทยและทำให้เกิดความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าอาหารฮาลาลจากไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นการจับคู่ทางธุรกิจกับผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายสำคัญๆทั้งจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะตลาดเป้าหมายใหม่คือ อัฟริกา ซึ่งมีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับสองรองจากทวีปเอเซีย อนึ่ง ในปัจจุบันความต้องการอาหารฮาลาลในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณ 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

(3) สิงคโปร์เป็นคู่แข่งทางการค้าสินค้าฮาลาลที่สำคัญ เนื่องจากผู้ค้าสิงคโปร์ได้รับการสนับสนุนจาก Islamic Religious Council of Singapore หรือ MUIS โดยร่วมมือกับ Economic Development Board (EDB), International Enterprise Singapore (I E Singapore) และ SPRING ส่งเสริมสินค้าฮาลาลของสิงคโปร์ร่วมกับประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งกำหนดว่าเมื่อสิงคโปร์จัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA กับประเทศในตะวันออกกลาง ให้ระบุการส่งเสริมอาหารฮาลาลในข้อตกลงด้วย ทั้งนี้ สิงคโปร์ส่งออกอาหารฮาลาลไปยัง 10 ประเทศในตะวันออกกลางมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์/ปี

(5) นอกจากนี้ สินค้าฮาลาลของสิงคโปร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 และ HACCP แล้ว และได้รับการรับรองจาก MUIS ด้วย จะเป็น Brand Name ที่ได้รับความเชื่อถือและนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ผลิตไทยอาจจะร่วมลงทุนกับสิงคโปร์ใช้โอกาสส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลที่ผลิตในไทยสู่ตลาดตะวันออกกลาง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก singapore   สิงคโปร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ