สินค้าอาหารไทยในตลาดเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 14:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

ในปี 2552 ที่ผ่านมา มูลค่าผลผลิตมวลรวมของเยอรมนีลดลงประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากการค้ากับต่างประเทศทั้งในด้านส่งออกและนำเข้ามีมูลค่าลดลงมากร้อยละ 17.9 และ 16.4 ตามลำดับ สำหรับสินค้าอาหาร มีการส่งออกมูลค่า 47,288 ล้านยูโรและนำเข้ามูลค่า 56,167 ล้านยูโร เทียบกับปี 2551 มูลค่าลดลงด้วยเช่นกัน ร้อยละ 8.9 และ 9.0 ตามลำดับ

สินค้าส่งออกของไทย

ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรไปเยอรมนีเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 456 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนมกราคม 2553 มีการส่งออกมูลค่า 40.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 สินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่ ไก่แปรรูป กุ้งแช่แข็ง ข้าว กุ้ง กระป๋อง ปลาทูน่า และสับปะรดกระป๋อง

แหล่งนำเข้าของเยอรมนี

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเยอรมนี มีส่วนแบ่งตลาดและของประเทศคู่แข่งสำคัญๆ ดังนี้

ไก่แปรรูป เบลเยี่ยม 20.0 % เนเธอร์แลนด์ 18.9 % ไทย 12.2 %

กุ้งแช่แข็ง เวียดนาม 16.8 % บังคลาเทศ 14.4 % เนเธอร์แลนด์ 12.3 % ไทย 10.7

ข้าว อิตาลี 30.5 % เนเธอร์แลนด์ 18.4 % เบลเยี่ยม 12.0 % ไทย 10.7 %

กุ้งกระป๋อง ไทย 26.8 % เนเธอร์แลนด์ 20.5 % เดนมาร์ค 11.1

สับปะรดกระป๋อง ไทย 40% เนเธอร์แลนด์ 22.0 % เคนยา 17 % อินโดนีเชีย 14.%

ปลาทูน่ากระป๋อง ฟิลิปปินส์ 23.7 % เนเธอร์แลนด์ 18.7 % เอควาดอร์ 17.5 % ไทย 4.3%

ในปี 2552 ที่ผ่านมา ดัชนีค่าครองชีพของเยอรมนีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.4 เนื่องจากสินค้าประเภทเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงในช่วงต้นปี ได้มีราคาลดต่ำลงในช่วงต่อๆ มาส่วนอาหารมีราคาต่ำลงเนื่องจากมีการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของร้านค้าประเภท Discounter (Aldi , Lidl และ Netto) ด้วยการลดราคาสินค้ากว่า 12 ครั้งในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายตลาดค้าปลีกอาหารโดยรวมลดลง สำหรับเดือนมกราคมนี้ เป็นช่วงที่อากาศยังหนาวเย็น ผักผลไม้สดที่จำหน่ายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากการปลูกในเรือนกระจก และนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาแพงกว่าปกติบ้าง

จากการที่สหภาพยุโรป กำหนดให้สุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้าง สารพิษอันตรายในผักสด 3 ชนิดจากไทย (ถั่วฝักยาว มะเขือและกะหล่ำ) ตั้งแต่มกราคม 2553 เป็นต้นมา ในส่วนของเยอรมนียังไม่ทำให้เกิดปัญหาเท่าใด เพียงก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายกับผู้นำเข้าและทำให้ระยะเวลาการขนส่งนานเพิ่มขึ้นอีก 2 — 3 วัน เพื่อป้องกันมิให้สินค้าส่งออกของไทยเกิดปัญหาถูกห้ามนำเข้า ควรจะมีการควบคุมการผลิตให้ปลอดภัย ปราศจากสารพิษ สารต้องห้ามต่างๆ ตกค้าง และรักษาคุณภาพสินค้าให้คงที่ จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาถูกห้ามนำเข้า และจะช่วยให้สินค้าไทยยังคงเป็นที่นิยมสืบต่อไป นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก

          การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปเยอรมนี
                              ปี 2551   ปี 2552   ปี 2552   ปี 2553   เพิ่ม/ลด %
                                                   (ม.ค.-ม.ค.)
สินค้าเกษตร (ล้านเหรียญสหรัฐ)
รวมทั้งสิ้น                        287.7    191.4    15.3     20.3      +32.5
ไก่แปรรูป                         63.2     43.7     4.6      4.8      + 5.8
กุ้งแช่แข็ง                         26.0     28.7     0.9      2.3     +157.7
ข้าว                             23.1     20.6     1.9      1.7      -10.2
สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร
รวมทั้งสิ้น                        247.8    211.2    15.0     20.3      +35.2
กุ้งแปรรูป                         44.9     53.5     2.5      5.7     +125.5
สับปะรดกระป๋อง                    40.2     25.8     2.5      2.1      -16.8
ปลาทูน่ากระป๋อง                    20.5     10.5     0.2      1.8     +701.1
ที่มา กรมศุลกากรไทย
ปัญหาอุปสรรค

1. สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น แต่เนื่องจากมีปริมาณและคุณภาพดี เป็นที่ไว้วางใจได้ จึงยังเป็นที่สนใจของผู้นำเข้า

2. การใช้กฏหมายตรวจเข้มสินค้าอาหารที่นำเข้าสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำเข้า และในที่สุดอาจเลิกนำเข้าสินค้าจากไทยหากมีการตวจพบสารเคมี สารต้องห้ามตกค้างในสินค้าจากไทย

3. คู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะ จีนและเวียตนามมีความสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานมากขึ้น และมีราคาต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากไทย

4. อาหารไทยมีรสชาติจัด เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ คนเอเชียจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือผู้ที่รู้จักประเทศไทยเท่านั้น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ