ข้อมูลมณฑลไหหลำ (Hai Nan )

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 7, 2010 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ที่ตั้งและพื้นที่

มณฑลไหหลำหรือมณฑลไหหลำตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของจีนล้อมรอบด้วยทะเลจีนใต้ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นมณฑลและประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2531 และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะ มีพื้นที่ 35,354 ตร.กม. มีขนาด ใหญ่เป็นอันดับที่ 28 ของประเทศ มณฑลไหหลำเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากเกาะไต้หวันโดยทิศเหนือมีช่องแคบโฉงโจว กั้นระหว่างมณฑลไหหลำกับมณฑลกวางตุ้ง ทิศตะวันตกมีอ่าวเหนือกั้นแดนกับประเทศเวียดนาม ทิศตะวันออกหันหน้าเข้าเกาะไต้หวัน ทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้หันหน้าเข้าสู่ประเทศบรูไน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในทิศใต้นั้นมีเกาะเจิงหมู่อั้นซา ในหมู่เกาะหนานซา ถือเป็นเขตพรมแดนใต้สุดของจีน

2. ประชากร

ในปี 2552 มณฑลไหหลำมีประชากรทั้งสิ้น 8.64 ล้านคน เป็นมณฑลที่มีประชากรอยู่ในลำดับที่ 28 ของประเทศ มีความหนานแน่นประชากร 242 คน ต่อตร.กม. มีอัตราการเกิด 14.71% และอัตราการตาย 5.72% อกเหนือจากชาวฮั่นแล้ว มณฑลไหหลำยังเป็นมณฑลที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่กว่า 37 ชนเผ่า กว่า 1.45 ล้านคน หรือ 21.04% ของประชากรทั้งมณฑล ได้แก่ ชาวหลี ม้ง/แม้ว และหุย ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิม รวมทั้งชาวฮั่น นอกนั้นเป็นกลุ่มชนเผ่าที่อพยพเข้ามาภายหลังปี 2493 โดยชาวฮั่นมีสัดส่วนมากที่สุด โดยมากอาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและแถบชายฝั่งทะเล มีชาวหลีเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่มากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 1.32 ล้านคน และเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในมณฑลไหหลำ โดยมากอาศัยอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของเกาะ รองลงมาคือ ชาวม้ง/แม้ว มีประชากร 68,427 คน อาศัยอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ เช่นเดียวกับชาวหลี

3. เมืองสำคัญ - เมืองไหโข่ว

เมืองไหโข่วเป็นเมืองเอกของมลฑลไหหลำ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำหนานตู้เจียง ถือเป็นเมืองที่อยู่ติดกับส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่มากที่สุด เมืองไหโข่วเป็นเมืองที่สวยงามโดยมีแนวต้นปาล์มเรียงรายตลอดแนวถนนใหญ่จำนวนมาก บริเวณที่เป็นท่าเรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง ส่วนทางเหนือเป็นศูนย์กลางร้านค้าตั้งอยู่ในย่านอาณานิคมเก่า เมืองไหโข่วตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะไหหลำ ทางเหนือใกล้กับช่องแคบโฉงโจว อยู่ห่างจากตำบลไห่อัน ของมณฑลกวางตุ้ง 18 ไมล์ทะเล มีพื้นที่รวม 2,304.84 ตร.กม. มีประชากรประมาณ 1.6 ล้านคนเศรษฐกิจเมืองไหโข่ว มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 10% ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 11 โดยในปี 2551 มีมูลค่า GDP 44,318 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10.4% มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตทางเศรษฐกิจมากที่สุดของมณฑล คิดเป็น 30.4% ของมูลค่าผลผลิตรวมของมณฑลไหหลำ โดยนครไหโข่วมีมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 26,761 หยวน เพิ่มขึ้น 8.0%

4. เศรษฐกิจของมณฑลไหหลำ

มณฑลไหหลำเป็นมณฑลที่มีความเข้มแข็งในด้านการผลิตภาคการเกษตร เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้น และเป็นมณฑลที่มีสัดส่วนการผลิตภาคการเกษตรต่อ GDP มากที่สุดในประเทศ โดยในปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกลางได้กำหนดให้มณฑลไหหลำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมีอัตราส่วนอุตสาหกรรมภาคการเกษตรสูงถึง 50.03% ภาคอุตสาหกรรมเพียงแค่ 18.35% และภาคการบริการ 31.62% โดยธุรกิจที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เน้นไปทางโครงการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โครงการลงทุนด้านสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่อาศัยการลงทุนจากภายนอก เช่น การก่อสร้างท่าเรือนานาชาติ สะพานและทางหลวงต่างๆ มูลค่าการลงทุนก็เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการงดเว้นภาษีและนโยบายส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ เมื่อเทียบกับปี 2551 พบว่าอัตราส่วนอุตสาหกรรมด้านเกษตรลดลงเหลือ 30.0% ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 29.8% และภาคการบริการเพิ่มขึ้นเป็น 40.2%

  • ในปี 2552 มณฑลไหหลำมีมูลค่า GDP รวม 164,660 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบจากปี 2551 สำหรับมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวต่อปี คิดเป็น 2750.68 เหรียญสหรัฐ จัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของประเทศ
ปี                   มูลค่า GDP      อัตราขยายตัว(%)
2549         105,243 ล้านหยวน        เพิ่มขึ้น 12.5%
2550         122,960 ล้านหยวน        เพิ่มขึ้น 14.5%
2551         145,923 ล้านหยวน         เพิ่มขึ้น 9.8%
2552         164,660 ล้านหยวน        เพิ่มขึ้น 11.7%
5. ภาคอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลไหหลำมีขนาดมูลค่าค่อนข้างเล็ก ในปี 2552 ผลผลิตรวมในด้านอุตสาหกรรมมีมูลค่า 300,63 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2551 ในจำนวนนี้ ผลผลิตรวมในด้านอุตสาหกรรมจากรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้น 4,172 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.2% ขณะที่ผลผลิตรวมจากวิสาหกิจต่างชาติรวมทั้งสิ้น 13,337 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.2% ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรและลักษณะอุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของมณฑลจึงได้แก่

1. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ

2. อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่ติดตลาดและมีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างหนึ่งของมณฑลไหหลำได้แก่ น้ำมะพร้าวยี่ห้อ “Yeshu”

3. อุตสาหกรรมโลหะผสม

4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยมีนิคมอุตส่หกรรมหยางผู่ (Yang Pu) เป็นตัวนำ

5. อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ โดยมี Village of Drugs ในเมืองไห่โข่วเป็นตัวนำ

6. อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมี Haima Automobile Co., Ltd เป็นตัวนำ

ปัจจุบันรัฐบาลมณฑลกำลังมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการการผลิตขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และเวชภัณฑ์

6. ภาคบริการ

มณฑลไหหลำได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฮาวายของจีน” เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศ หาดทราย และผลไม้นานาชนิดที่ใกล้เคียงกับเกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา มีพืชพันธุ์ป่าไม้อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่าแปลกตา และยังมีสภาพภูมิอากาศอบอุ่น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสร้างสนามกอล์ฟขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก และยังมีกิจกรรมให้เลือกทำอีกมากมาย เช่น สกีน้ำ วินด์เซิร์ฟ การแล่นเรือ เทนนิส ดำน้ำลึก และการท่องเที่ยวโดยเรือ โดยหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่และคนจีนโพ้นทะเลเที่ยวชมธรรมชาติและแหล่งพุทธธรรมที่ใหญ่ที่สุด เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ถนน ทางด่วน สนามบินนานาชาติไว้รองรับ รวมถึงโครงการพัฒนาที่ดิน โรมแรมขนาด 5-6 ดาว และสนามกอล์ฟ เป็นต้น

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2552 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศ “แผนการพัฒนามณฑลไหหลำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนนานาชาติ” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาตามแผนดังกล่าว ดังนี้

  • ปี 2015 การบริหารงาน การขาย และการบริการในด้านธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่งมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากกว่า 8% ของ GDP ของมณฑลไหหลำ ส่วนมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจบริการต่างๆ มีสัดส่วน 47% ของ GDP ของมณฑลไหหลำ อัตราคนงานที่ประกอบอาชีพด้านธุรกิจบริการมากกว่า 45% นอกจากนี้ GDP เฉลี่ยต่อหัว และรายได้ประชาชนก้าวเข้าสู่ระดับกลางของจีน การศึกษา สุขอนามัย วัฒนธรรมและการประกันสังคมได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง และคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับต้นของจีน
  • ปี 2020 อุปกรณ์ต่างๆ การบริหารงาน และการบริการในด้านธุรกิจท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาถึงขั้นระดับโลก และได้สร้างเป็นแหลงท่องเที่ยวที่เป็นเกาะและชายหาดทะเลติดอันดับหนึ่งของโลก มูลค่าเพิ่มจากธุรกิจท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากกว่า 12% ของ GDP ของมณฑลไหหลำ มูลค่าเพิ่มจากธุรกิจบริการต่างๆ มีสัดส่วน 60% ของ GDP ของมณฑลไหหลำ อัตราคนงานที่ประกอบอาชีพด้านธุรกิจบริการมากกว่า 60% GDP รายได้ประชาชน คุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับต้นของจีน และมีศักยภาพในการพัฒนาต่อไป
7. โอกาสของธุรกิจไทยในมณฑลไหหลำ

มณฑลไหหลำเป็นมณฑลที่มีสภาพแวดล้อมเป็นเกาะตั้งอยู่ทางใต้ของจีน มีพื้นที่และประชากรไม่มากนัก มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เหมาะแก่การเพาะปลูก มีชายหาดและทะเลที่สวยงามที่สุดของจีน จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและต่างชาติมาท่องเที่ยวจำนวนมาก และปัจจุบันนี้ ตามแผนการพัฒนามณฑลไหหลำ ของรัฐบาลจีน ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนามณฑลไหหลำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน นานาชาติ สคร.กวางโจวเห็นว่า ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในตลาดมณฑลไหหลำมีดังนี้

1. ธุรกิจภาคบริการ โดยที่ไหหลำเป็นมณฑลที่มีชายหาดที่สวยงามที่สุดของจีน และได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฮาวายของจีน” จึงเป็นมณฑลที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ธุรกิจประเภทที่สอดรับกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น สปา ร้านอาหารไทยในโรงแรม ก็มีโอกาสที่จะเจาะเข้ามาในมณฑลไหหลำได้ เนื่องจากไหหลำมีโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไปจำนวนมาก รองรับนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงและพร้อมรับการบริการชั้นยอด

2. อุตสาหกรรมที่ใช้ไหหลำเป็นฐานการผลิตและแปรรูปเพื่อส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากการที่ไหหลำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีเขตท่าเรือรองรับการขนถ่ายสินค้านานาชาติ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปด้านการเกษตร เป็นต้น

สคต. กวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ