สภาวะเศรษฐกิจอาร์เจนตินาและการคาดการณ์สำหรับปี 2010

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2010 15:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

คำนำ/ภาพรวมเศรษฐกิจ

ในปี 2552/2009 ที่ผ่านมานั้น ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากสภาวเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551/2008 ต้องทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจตนเองจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไป ธุรกิจ สถาบันต่างๆ เช่น ระบบธนาคาร สังคม การเมือง ทำให้รัฐบาลเกิดความไม่มั่นคงดัง เช่นประเทศไอซแลนด์ กรีซ โปรตุเกส ฯลฯ

ประเทศอาร์เจนตินาซึ่งอยู่ในกลุ่ม G-20 นอกจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังคงเดือดร้อนกับความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศตนเองซึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจล่มสลายครั้งใหญ่มาตั้งแต่ช่วงปี 2001-2002 ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ยังตกค้างมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย อย่างไรก็ตามวิกฤตครั้งนี้ได้ต่างจากวิกฤตอื่นๆที่ผ่านมา เนื่องจากอาร์เจนตินาไม่มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมือง

อาร์เจนตินามีปัญหาด้านการบิดเบือนข้อมูลของรัฐบาล สถิติและตัวเลขที่รัฐบาลประกาศโดยทั่วไปในอดีตผิดไปจากความเป็นจริงถึง 3 เท่าตัว เนื่องจากรัฐบาลได้ส่งคนของตนเข้าไปควบคุมสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้มีการประท้วงของกลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันได้ดีขึ้นพอสมควรซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ประมาณว่ายังผิดไปจากความเป็นจริงประมาณ 2 เท่าตัว

ในช่วงปี 2009 ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศว่า GDP เพิ่มขึ้น 0.6% หรือ 0.7% แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากเห็นด้วยว่า GDP ที่แท้จริงน่าจะอยู่ในเกณฑ์ติดลบ ซึ่งอยู่ในช่วง -0.9% กับ -4.5% ซึ่ง IMF ได้ประมาณว่า -2.5%

เกี่ยวกับ GDP ตัวเลขที่แท้จริงยังคงไม่ชัดเจน แต่นักเศรษฐศาสตร์ Miguel Bein จาก "Estudio Bein" เชื่อว่าแม้ว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่า GDP อยู่ที่ 0.6% หรือ 0.7% แต่ GDP สำหรับปี 2009 จะเป็น -2.2% นักเศรษฐศาสตร์ในประเทศคนอื่น ๆ มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องนี้ นาย Ricardo Castiglioni จาก "CyT Asesores Economicos" เชื่อว่าปีที่ผ่านมาแสดงการลดลงของ GDP ที่ -4% ในขณะที่นาย Osvaldo Cado จาก "Prefinex inclines" บอกว่าลดลง -4.4% ในรายงานเดือนกันยายน Goldman Sachs คาดการณ์ว่า GDP สำหรับปี 2009 เป็น -0.9% ในรายงานธันวาคมของเครดิตสวิสประมาณว่าอยู่ที่ -2% และ -3% Merrill Lynch ให้ GDP เป็นบวก 1.6% และ IMF ใน World Economic Forum ได้คาดการณ์ว่า -2.5%

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 14% อัตราการว่างงานเกือบถึง 9,1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% จากสถิติทางการที่แสดงให้เห็นดุลการค้าอยู่ในเกณฑ์บวก เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2008 ถึงแม้ว่าการส่งออกจะลดลง 23% (การส่งออกโดยรวมมูลค่ามากกว่า US$50,900 ล้าน) ในขณะที่การนำเข้าลดลง 35% (มูลค่าการนำเข้ามากกว่า $35.1 พันล้าน) ในขณะเดียวกันธนาคารกลางอาร์เจนตินาได้ปล่อยให้ค่าเงินเปโซลอยอยู่เกือบ 3.80 เปโซต่อ US dollar ในขณะที่กองทุนสำรองมีอยู่มากกว่า US$48 พันล้าน ด้วยภาพรวมที่ให้มาในข้างต้นนั้นทำให้เราสามารถเริ่มการวิเคราะห์รายงานนี้ในเชิงลึก

เศรษฐกิจอาร์เจนตินามีความผูกพันกับการเมืองท้องถิ่นโดยตรง โดยอาร์เจนตินาจะมีความคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆในแถบลาตินอเมริกา การเมืองส่งผลต่อหลายๆสิ่งในชีวิตประจำวัน นโยบายไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีการปรับเปลี่ยนไปมาขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลหรือความต้องการปัจจุบัน ซึ่งปัญหาหลักคือการที่ไม่สามารถกำหนดแผนระยะปานกลางถึงระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าช่วงเวลาของอายุแต่ละรัฐบาล ปัญหานี้รวมกับการเก็งกำไรและความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่เป็นต้นเหตุของของสองวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาในปี 1989 และ 2001

เศรษฐกิจอาร์เจนตินาได้ชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 ซึ่งเกิดจากปัญหาภายในประเทศและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปี 2009 ด้วยการที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และธุรกิจ การค้าภายในประเทศ และกระทบนโยบายซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจตลอดปี

การแก้ไขปัญหาโดยทำการคาดการณ์ในระยะปานกลาง และระยะยาวสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเป็นสิ่งที่ควรทำ (เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา)

การวิเคราะห์ในบางแง่มุมของปี 2009 เพื่อทำให้เห็นภาพรวมจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เอกสารต่างๆ และการคาดการณ์ของสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับสากล โดยมีข้อมูล/สถิติ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งนำโดยประธานาธิบดี Cristina Kirchner เผชิญในช่วงปี 2009 ที่ผ่านสามารถสรุปได้ดังนี้

  • การบริหารค่าใช้จ่ายของประเทศซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าปกติ เพราะประเทศขาดเครดิตไม่สามารถเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนระหว่างประเทศได้เนื่องจากปัญหาการไม่ชดใช้หนี้ US$100,000 ล้าน ในปี 2001/2 โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของวาระการเข้ารับตำแหน่งมีการใช้นโยบายการการคลังแบบขาดดุล
  • ปัญหากับความไม่น่าเชื่อถือของตัวเลขทางการของสำนักงานสถิติแห่งชาติอาร์เจนตินา
  • ไม่สามารถนำความน่าเชื่อถือของอาร์เจนตินาที่มีต่อประชาคมโลกกลับคืนมา
  • ปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหลายครั้งทำให้ผลผลิตของประเทศด้านการปสุสัตว์และการเกษตรเสียหายในปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐฯ ต้องเข้ามาจัดการระหว่างการใช้บริโภคในประเทศและการส่งออกซึ่งช่วยให้มีรายได้และเงินตราต่างประเทศ
  • การบริหารดุลการค้า (commercial balance) ให้เกินดุลภายใต้สถานการณ์วิกฤตทั่วโลกและภัยแล้งที่คุกคามการผลิตทางการเกษตร
  • การเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น
การคาดการณ์ปัญหาหลักด้านเศรษฐกิจในปี 2010 อาร์เจนตินา

เนื่องจากการเมืองกับเศรษฐกิจของอาร์เจนตินามีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง จากแนวโน้มผลการเลือกตั้งกลางปีที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นของฝ่ายค้าน ประกอบกับจะมีการเตรียมการรับสมัครประธานาธิบดีที่มีศักยภาพสำหรับการเลือกตั้งในปี 2011 คาดว่าจะกระทบต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาลใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันยังมีภาพพจน์ที่ไม่ดีในสายตาของต่างประเทศและนักลงทุนในแง่ของ “การคาดการณ์ไม่ได้” และ “ความไม่รับผิดชอบ” ซึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้รัฐบาลของประธานาธบดี Kirchner ใช้นโยบายปฏิบัติการสามขา(government’s tripod)ซึ่งประกอบด้วย

A) การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรที่พักชำระหนี้ ที่รัฐบาลไม่สามารถประนอมหนี้ได้กับกลุ่มเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่ปี 2002 มาจนถึงปัจจุบัน

B) การพยายามกลับเข้าร่วมกับ Paris Club และ

C) สร้างความสัมพันธ์ใหม่กับ International Monetary Fund

การเติบโตในปี 2010 ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญคือผลผลิตทางการเกษตร เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และนโยบายควบคุมฯ ของรัฐบาล ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับปีนี้คือ เงินเฟ้อ และความสามารถของรัฐบาลที่จะควบคุมเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะที่การเมืองต้องแก้ไข/ลดปัญหาด้านการที่เข้าควบคุมหน่วยงาน “INDEC” (สำนักงานสถิติแห่งชาติอาร์เจนตินา) เพื่อแสดงตัวเลขที่แท้จริงของเงินเฟ้อ (โดย CPI - ของดัชนีราคาผู้บริโภค) และเป็นตัวเลขทางการให้กลับมาเป็นที่เชื่อถืออีกครั้ง เพื่อแก้ภาพพจน์ของรัฐบาลทั้งในระดับประเทศและระดับสากลสิ่งที่ท้าทายอันดับสองที่รัฐบาลจะต้องเผชิญในปีนี้คือการขาดดุลการคลัง (Fiscal balance)จากยอดบัญชีที่ขาดดุลสูงและมีรายจ่ายสาธารณะ(Public Spending)ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าในปีก่อนจะมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายสาธารณะที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลในปีนี้

รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา2009

เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเริ่มชะลอตัวลงและได้มีตัวเลขติดลบในไตรมาสที่สี่ของปี 2008 และ 2009 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในโลก อาร์เจนตินามีปัญหาการขาดแคลนเงินลงทุนและสภาวะแห้งแล้งรุนแรงมีผลกระทบมากสำหรับภาคการผลิตทางการเกษตรในปี 2009

หน่วยงาน CEPAL (Economic Commission for Latin America and the Caribbean) ได้รายงานว่าอัตราการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยในภูมิภาคนี้อยู่ที่ 4.2% สำหรับปี 2008 แต่ปี 2009 ได้ชลอตัวลงอย่างมากมาอยู่ที่ -1.8%(ติดลบ)

อาร์เจนตินาพยายามสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมาตลอดปี 2009 โดยในเดือนแรกรัฐบาลได้วางแผนเพื่อสร้างความนิยมก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งกลางเทอร์มเป็นการทดสอบที่สำคัญต่ออนาคตของการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีในปี 2011 โดยนโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ คือ นโยบายด้านการสร้างสภาพคล่องในด้านแหล่งเงินทุนจากภายในประเทศเพื่อให้มีเงินงบประมาณบริหารประเทศ โดยมีการจัดการ ANSES (กองทุนบำเน็จบำนาญ), Banco Nacion และธนาคารกลาง การทำให้ ANSES กลายเป็นของรัฐ (Nationalize) ทำให้สินทรัพย์ของกองทุนเกษียณอายุที่อยู่ภายใต้ ANSES กลายเป็นของรัฐ รัฐบาลจะได้มั่นใจว่ามีเงินสำรองฉุกเฉินสำคัญสำหรับปีนี้และในอนาคต อย่างไรก็ตามมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสในการใช้ของเงินเหล่านี้ และได้เป็นที่หวั่นเกรงกันว่าเงินทุนในการเกษียณเหล่านี้จะถูกใช้อย่างไม่ถูกวิธีและจะตกไปอยู่ในมือของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลในที่สุด

ในขณะที่ธนาคารกลางซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญในการควบคุมและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน นโยบายการเงิน เงินสำรองและเงินตราต่างประเทศ ได้พยายามรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินเปโซของอาร์เจนตินาอยู่ในช่วงแคบโดยที่อยู่ในช่วง 3.80 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซี่งมีสถิติและข้อมูลที่เกี่ยวข้องประกอบดังนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตลอดปี 2009 มีการลงทุนลดลง และรายได้ของภาครัฐลดลงอย่างมาก ซึ่งภาครัฐรายได้หลักส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ฯลฯ ซึ่งรายได้จากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะมีความเสี่ยงขึ้นๆลงๆ และ INDEC ซึ่งเป็นองค์กรทางการสำหรับสำมะโนประชากรและสถิติ ได้ประกาศตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบจากผลการสำรวจของภาคเอกชนเนื่องจาก The National Statistics and Census Institute (INDEC) ได้ถูกแทรกแซงโดยการบริหารของรัฐบาลของประธานาธิบดี Kirchner ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและสมาชิกอิสระที่สำคัญของสถาบันได้ถูกแทนที่โดยคนของรัฐบาลปัจจุบันในช่วงปีที่ผ่านมา จากนั้นมาข้อมูลสถิติหลายๆสถิติและตัวเลขได้เริ่มแตกต่างกัน ในขณะที่ CPI (Consumer 's Price Index) และอัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นมากจากการเก็บข้อมูลของทางเอกชน แต่ตัวเลขของทาง INDEC ซึ่งถูกรัฐแทรกแซงไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แสดงระดับของอัตราเงินเฟ้อและ CPI ที่ต่ำกว่าหน่วยงานอิสระหลักๆ มาก 2-3 เท่าตัว อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ Ricardo Delgado จาก "Analytics" ได้แถลงว่า "ปัจจุบันการวัดข้อมูลมีความใกล้เคียงกันระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งทำให้ตัวเลขสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นแตกต่างกันเหลือ 2 เท่าตัว ผิดกับในอดีตที่ต่างกัน 3 เท่าตัว”

ข้อมูลสถิติอัตราการว่างงานปี 2009 เพิ่มขึ้น 1% จากปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2010 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอัตราการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 1% หรือ 2% หรือคิดเป็นจำนวนแรงงาน 150,000 ถึง 300,000 คนที่ถูกจ้างใหม่

ในปี 2009 มีรายงานว่ารัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 13,2% เทียบกับปี 2008 อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นนี้ยังมีอัตราขยายตัวต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ 15% (ข้อมูลจากหน่วยงานเอกชน) และต่ำกว่าที่รัฐบาลได้คาดการณ์ไว้ที่ 22% เนื่องผลจากวิกฤตโลกและปัญหาต่างๆภายในประเทศทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่มากตามเป้าหมาย ผิดกับในปี 2008 ที่เพิ่ม 34.8% ในปี 2007 33.2% ฯลฯ

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลายประเทศในลาตินอเมริกาได้ใช้ดัชนี Emerging Markets Bond Index Plus ซึ่งเป็นดัชนีของทางบริษัท JP Morgan ใช้วัด “ความเสี่ยง” ของประเทศต่อการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในลาตินอเมริกาว่า “Riesgo Pais” (Country Risk) ในช่วงปลายปี 2009 ดัชนีความเสี่ยงของอาร์เจนตินาตามดัชนีนี้ลดลง 649 จุด เนื่องจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรที่ไม่ประสบความสำเร็จกลุ่มเจ้าหนี้ยังไม่ยอมรับ การกลับมารื้อฟื้นการเจรจากับ Paris Club และรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการเริ่มใหม่ในปีที่ผ่านมาในช่วงวิกฤต

ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2008 เมื่อวัดตามดัชนีข้างต้นอาร์เจนตินาได้คะแนน 1923 ลดลงจากในช่วง 2001/2002 วิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา (รวมกับการล้มละลาย) ประเทศได้ถึงจุดที่เลวร้ายที่สุดทำให้ดัชนีสูงถึง 7,174 จุดในเดือนกรกฎาคม 2002

ตัวเลขล่าสุดสำหรับปี 2009 จากรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Amado Boudou เปิดเผยว่าระหว่างเดือนมกราคมและเดือนพฤศจิกายน ยอดดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้น 32.2% จากช่วงเดียวกันในปี 2008 (เพิ่มขึ้น $ 15.72 พันล้าน) ผลจากวิกฤตโลกและภัยแล้งในอาร์เจนตินาช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกลดลง 23% มีมูลค่าส่งออกเท่ากับ US$ 50.8 พันล้าน เนื่องจากการลดลงของระดับราคา 15% และปริมาณที่ส่งออกลดลง 9% ในช่วงเดียวกันการนำเข้าลดลง 35% เหลือเพียง US$ 35.1 พันล้าน โดยเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตในช่วงปลายปี รัฐมนตรี Boudou กล่าวว่าในเดือนพฤศจิกายน 2009 ดุลการค้าไม่เพียงเป็นบวก (US$ 1.28 พันล้าน) แต่ยังเพิ่มมากกว่า 72.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2008 สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ชัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ดังข้อมูลประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้

จากสถิติโครงสร้างการนำเข้าอาร์เจนตินาช่วง 11 เดือนแรกของปี 2009 ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป/ชิ้นส่วน/ส่วนประกอบ (Intermediate) เทียบเท่า 33% ของการนำเข้าของอาร์เจนตินาตามมาด้วยสินค้าทุน (Capital Goods) 23%

การค้ากับ MERCOSUR (อาร์เจนตินา/บราซิล/อุรุกวัย/ปารากวัย) ตลอด 11 เดือนแรกของปี 2009 อาร์เจนตินามีการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มฯลดลง 18% สาเหตุหลักมาจากการลดลงของภาคอุตสาหกรรมผลิต เชื้อเพลิงและพลังงาน และผลิตภัณฑ์หลักๆ โดยในช่วงเดียวการนำเข้าได้ลดลง 38% จากปีก่อนซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของรายการ การแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างกลุ่ม ทำให้ดุลการค้าอาร์เจนตินาเกินดุลเป็นมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ ในกลุ่มนี้บราซิลเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอาร์เจนตินา ซึ่งสินค้าที่สำคัญของทั้ง 2 ประเทศคือรถยนต์

การค้ากับสหภาพยุโรป: ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงพฤศจิกายนปี 2009 อาร์เจนตินาได้เปรียบดุลจากการค้ากับสหภาพยุโรปประมาณ US$3,679 ล้าน โดยการส่งออกลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2008 ส่วนหนึ่งเนื่องจากยอดขายลดลงโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์หลัก การนำเข้าลดลง 31% เนื่องจากมีความต้องการลดลงของกลุ่มสินค้าขั้นกลาง(Intermediate goods) สินค้าทุนและชิ้นส่วน และอุปกรณ์

การค้ากับ ASEAN เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย: อาร์เจนตินาได้เปรียบดุลการค้า US$595 ล้าน การส่งออกลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากการลดลงอย่างมากของการส่งออกไปประเทศจีน และลดลงเล็กน้อยสำหรับประเทศอาเซียนและอินเดีย ในช่วงเดียวกันการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ลดลงในปี 2009 (32%) ส่วนใหญ่เนื่องจากมีการลดลงของการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงจากเดิมโดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศจีน

การค้ากับ NAFTA: การค้า 11 เดือนกับต่างประเทศภายใต้ North American Free Trade Agreement อาร์เจนตินาขาดดุลกับประเทศในกลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่า US$1,395 ล้าน การส่งออกลดลง 32% เนื่องจากยอดขายที่ลดลงในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและเชื้อเพลิง และพลังงาน โดยในช่วงเดียวกันการนำเข้าลดลง 28% เนื่องจากการลดลงของสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) สินค้าทุน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับสินค้าทุน

การค้ากับประเทศชิลี(ไม่ได้อยู่ในMERCOSUR):ประเทศเพื่อนบ้าน อาร์เจนตินาได้เปรียบดุลการค้า US$3,398 ล้าน โดยการส่งออกลดลง 8% ในขณะที่การนำเข้าลดลง 33% เมื่อเทียบกับ 11 เดือนเดียวกันของปี 2008

การค้ากับประเทศไทย

อาร์เจนตินาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 44 ของไทย และเป็นตลาดสำคัญด้านเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 33 จากทั่วโลก เคยขยายตัวสูงถึง +40% ในปี 2007 สำหรับปี 2009 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยได้เพิ่มขึ้น 1% มีมูลค่า US$384 ล้าน ผิดกับตลาดอื่นๆ ที่การส่งออกไปทั่วโลกที่ลดลง สินค้าส่งออกไทยที่สำคัญมาอาร์เจนตินาในปีนี้คือ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน, วิทยุโทรทัศน์, รถยนต์/ส่วนประกอบ, ระบบจุดระเบิดเครื่องยนต์, เคมี, ปลาทูน่ากระป๋อง, ยาง, เหล็ก, พลาสติก, เฟอร์นิเจอร์, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งไทยส่งออกทูน่ากระป๋องมายังตลาดนี้มากที่สุดในลาตินอเมริกา สำหรับแนวโน้มการค้าในช่วงปี 2010 ต้นปี(มค.-กพ.)ที่ผ่านมาการส่งออกไทยมาอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นกว่า +33% ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง +5 %

สินค้าที่ไทยนำเข้าในปี 2009 จากอาร์เจนตินามีมูลค่ารวม US$442 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลือง คิดเป็น 80% ของมูลค่านำเข้า ซึ่งนำมาใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีเนื้อและหนังสัตว์ 10-15%

อาร์เจนตินาเป็นแหล่งเกษตรกรรม GMO อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา มีเทคโนโลยีก้าวหน้าด้านการเกษตรและปสุสัตว์ขนาดใหญ่มาก อาร์เจนตินามีวัวกว่า 40 ล้านตัว(ลดลงเพราะตายไป 5 ล้านจากปัญหาความแห้งแล้งในปี 2009) เป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อสเต๊ก(เนื้อวัวคุณภาพสูง)มากที่สุดในโลก และยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เทคโนโยยีด้านนิวเคลียร์ และระบบแก๊สติดรถยนต์ CNG ฯลฯ

ไทยควรใช้ประโยชน์โดยการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับอาร์เจนตินา จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อทั้ง 2 ฝ่ายเนื่องจากอาร์เจนตินามีความอุดมสมบูรณ์ มีแผ่นดินใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีพื้นที่ราบลุ่มและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ภูมิประเทศสวยงาม มีแหล่งทรัพยากรทั้งน้ำมันและแร่ธาตุ ฯลฯ แต่อาร์เจนตินามีปัญหาด้านคุณภาพของคนไม่ขยัน ปัญหาการเดินขบวนของสหภาพแรงงาน และระบบการศึกษาที่ยังไม่ได้มาตรฐานโลก(กพ.ยังไม่รับรอง) โดยเฉพาะปัญหาด้านระบบการเงินธนาคาร ทำให้ไม่สามารถระดมทุนขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนต่ำได้ซึ่งเมื่อพิจารณาจากฝั่งอาร์เจนตินาแล้ว ไทยนับเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากนอกกลุ่ม MERCOSUR โดยไทยอยู่ในแหล่งนำเข้า Top-15 ของอาร์เจนตินาอาร์เจนตินายังมีความโดดเด่นด้านการออกแบบเสื้อผ้า/เครื่องหนัง ธุรกิจบริการ ด้านโฆษณาและบันเทิงฯลฯ ซึ่งไทยควรเร่งสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ปัจจุบันยังมีคนไทยในอาร์เจนตินาน้อยมากไม่ถึง 50 คน เป็นนักเรียน AFS ประมาณ 20 คนซึ่งมาอยู่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ

อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในอาร์เจนตินา ได้กลายเป็นเรื่องที่ต้องการการดูแลอย่างระมัดระวัง Hyper inflation ที่รุนแรงที่ประเทศเคยเกิดในอดีต ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อลดความเสี่ยงนี้ รัฐบาลได้ปรับการดูแลในยุคใหม่ด้วยการใช้ระบบ Convertibility model โดยการผูกเปโซอาร์เจนตินากับ US Dollar ทำให้สังคมลืมปัญหาเรื่องนี้มานานกว่าทศวรรษ เมื่อประเทศยังคงใช้มาตรการนี้ถึงปลายทศวรรษ เงินเฟ้อก็ค่อยๆกลับมาปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับอาร์เจนตินาและยังเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชากรส่วนใหญ่กังวล นักวิเคราะห์เชื่อว่าเงินเฟ้อสำหรับปี 2009 ตามข้อมูลที่ทางเอกชนได้รวบรวมอยู่ที่ประมาณ 14% หนึ่งในรายงานล่าสุดของ IMF รายงานว่า อาร์เจนตินาเป็นประเทศอันดับสามที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในโลกที่ 15% กับเวเนซุเอลาในอันดับที่สองด้วย 28% และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งเป็นที่หนึ่งอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 31.2% สำหรับปี 2010 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 30-34%

การคาดการณ์สำหรับปี 2010

การเมือง

เศรษฐกิจอาร์เจนตินามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเมืองท้องถิ่น ดังนั้นบางเรื่องทางการเมืองอาจมีผลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต การเลือกตั้งกลางเทอร์มของอาร์เจนตินาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2009 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของรัฐบาลของประธานาธิบดี Cristina Fern?ndez de Kirchner ซึ่งหลังจากได้บริหารประเทศมาสองปี พรรครัฐบาลได้สูญเสียเสียงส่วนใหญ่ของทั้งสองรัฐสภา เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงการเลือกตั้งรัฐสภาช่วงระยะกลางเทอร์มนี้และด้วยปัจจัยอื่นๆ สนับสนุน เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ฝ่ายค้านได้พยายามใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางการเมืองที่ยังมีอยู่ในช่วงปี 2010 ถึงแม้ว่าประธานาธบดี Cristina Kirchner และคณะยังคงมีอำนาจทั้งใน High และ Low Chambers ในรัฐสภา แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้เสียเสียงส่วนใหญ่ไปแล้วหลังจากผลการเลือกตั้งล่าสุด สิ่งนี้จะทำให้ผู้นำของฝ่ายค้านมีโอกาสกดดัน รวมทั้งวางกลไกเพื่อการเจรจาแก้ไขกฎหมาย ที่ก่อนหน้านี้จะถูกบังคับใช้โดย Presidential decree อย่างไรก็ตามสมาชิกรัฐสภาใหม่ซึ่งเข้าสาบานตนในวันที่ 10 ธันวาคม 2009 จะสามารถร่วมการประชุมครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2010

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2011 ปีนี้จะมีความสำคัญต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง การเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้คาดว่าประธานาธิบดี Cristina Kirchner จะไม่ลงสมัครใหม่ แต่สามีของนางซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีนาย Nestor Kirchner ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของตัดสินใจของภรรยาของเขาอาจเริ่มปรากฏตัวในสายตาประชาชนมากขึ้นเพื่อที่จะเสนอตัวเองในตำแหน่งใหม่ในแง่เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ บางคนกลัวล่วงหน้าว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2011 ความร้อนแรงในเวทีการเมืองที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อนาย Nestor Kirchner พยายามวางตัวเองเป็นผู้สมัคร ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งในอนาคตนี้ได้เริ่มมีการใช้แล้วในปีนี้ ตาม Barclays Capital แสดงความกังวลด้านการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อหาเสียงสร้างความนิยมแก่นาย Nestor Kirchner ที่จะสมัครลงเลือกตั้งปี 2011 จะนำไปสู่การขยายตัวของการขาดดุลทางการคลังอย่างมาก ” ทาง Barclays ได้กล่าวไว้ในรายงานซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น El Cronista

ในปี 2010 เวทีการเมืองจะเห็นผู้สมัครที่มีศักยภาพจำนวนมากที่จะเริ่มต้นแคมเปญที่นำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2011 ผู้สมัครที่เป็นไปได้อื่น ๆ ที่จะพยายามวางตัวเองในระยะยาวสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปจากพรรคเดียวกับประธานาธิบดีพรรค Partido Justicialista ได้แก่ผู้สมัครเช่น Duhalde อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนตินา Sola อดีตผู้ว่าบัวโนสไอเรส Reutemann ผู้ว่ารัฐ Santa Fe และ Scioli ผู้ว่าคนปัจจุบันของบัวโนสไอเรส ผู้ลงสมัครรายอื่นที่สามารถแข่งขันได้มี Cobos ซึ่งเป็น Vice President คนปัจจุบัน ผู้นำฝ่ายค้าน เช่น Macri นายกเทศมนตรี เมืองบัวโนสไอเรส Carrio และ de Narvaez ซึ่งหากไม่มีวิกฤติทางการเมืองที่สำคัญ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ควรจะมีความพัฒนาได้อย่างดีพอสมควรตลอดปี 2010 ด้วยเหตุนี้จึงต้องติดตามปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจบางเรื่อง เช่น การปลดผู้ว่าธนาคารชาติ นำคนของรัฐบาลเข้าไปบริหารแทนเพื่อนำเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมาใช้จ่าย US$ 6.6 พันล้าน เพื่อนำมาชำระหนี้และค้ำประกันพันธบัตรระดมเงินกู้และหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่ครบกำหนดต้องชำระเงินในปีนี้กว่า US$15,000 ล้านฯลฯ ซึ่งปัจจุบันธนาคาร สถาบันการเงินนานาชาติและบางองค์กรมองสถานการณ์ในแง่ดี แต่บางองค์กรก็ได้แสดงความสงสัยในความมั่นใจ เช่น รายงานล่าสุดที่ออกโดยเครดิตสวิสเห็นว่าไม่มีภัยคุกคามที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ “การเร่งดำเนินการทางการเมืองของพันธมิตร Kirchner ฝ่ายรัฐบาล และของฝ่ายค้าน ต่างต้องการที่จะเพิ่มคะแนนเสียงเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้ง 2011 คงจะไม่ทำให้บ้านเมืองฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในมุมมองของเรา” ได้กล่าวไว้ในรายงานเดือนธันวาคมของEmerging Markets

สำหรับธนาคาร Citibank ได้มองในแง่ลบว่า "รัฐบาลอาร์เจนตินาดูเหมือนจะไม่มีความต้องการที่จะทำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ รัฐบาลได้ทำการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีที่ขัดแย้งกันหลังจากการเลือกตั้งกลางเทอร์มและ Nestor Kirchner ยังคงดูแลอยู่เบื้องหลังของการตัดสินใจทางการเมือง" Goldman Sachs ในอีกแง่มุมหนึ่งเป็นห่วงว่า "รัฐบาลสูญเสียส่วนหนึ่งของต้นทุนทางการเมืองที่สำคัญในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2009 [กลางเทอร์ม] หัวใจสำคัญด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลสำหรับ 2009 และ 2010 คือการรักษาสมดุลในด้านการคลังถึงแม้ว่าจะมีหนี้ครบกำหนดที่ต้องชำระและได้รับการดูแล การเปลี่ยนกองทุนการเกษียณอายุให้เป็นของรัฐจะทำให้รัฐบาลมีเงินสำรองไว้ใช้จ่าย แต่จะทำให้ความไว้วางใจของตลาดโลกลดลง"

ตามรายงานของ Merrill Lynch "การพัฒนาทางการเมืองในปัจจุบัน ได้ทำให้เกิดความกังวลกับรูปแบบของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเสื่อมสภาพจากภายนอกสามารถส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง เงินเฟ้อ และปัญหาการเมืองจะชลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ"

โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่ Merrill Lynch, Goldman Sachs, Citi Bank, Barclays Capital, Deutsche Bank และ Credit Suisse มั่นใจว่าอาร์เจนตินาจะสามารถทำงานผ่านปัญหาที่รอการแก้ไข โดยไม่ต้องล้มลงอีกเหมือนปี 2001/2002

สภาวะหนี้สินของประเทศอาร์เจนตินา

ตลอดประวัติศาสตร์ของอาร์เจนตินา การบริหารหนี้สินต่างประเทศได้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเสมอ ในอดีตยุค 70 ถึงปลาย 90 อาร์เจนตินาอาศัยเครดิตในการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งที่ได้รับการอนุมัติโดยไม่มีการวิเคราะห์ที่เหมาะสมของความสามารถในการชำระคืนในเวลาที่กำหนด เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในภาครัฐ ก่อให้เกิดการเริ่มต้นของวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ประกอบกับวิกฤติเม็กซิโกในปี 1982 ทำให้ในปี 2001/2002 อาร์เจนตินาไม่สามารถใช้เงินกู้ US$100,000ล้าน ซึ่งครบกำหนด ต่อมาอาร์เจนตินาได้ขอประนอมหนี้จำนวนข้างต้นโดยต่อรองกับเจ้าหนี้ต่างๆขอลดเงินกู้เหลือเพียง 30% บางส่วนตกลงกันได้ทำให้มูลหนี้ที่ติดค้างลดลง โดยยังมีเจ้าหนี้อีกกลุ่มไม่ยินยอมซึ่งกลุ่มนี้ได้นำเรื่องฟ้องร้องต่อองค์การระหว่างประเทศทำให้ยังมีปัญหาถึงปัจจุบันกลุ่มนี้มีมูลหนี้ประมาณ US$ 30,000 ล้าน การผิดสัญญาต่อผู้ถือหุ้นกู้เอกชน(Paris Club)และ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น International Monetary Fun ฯลฯ ทำให้อาร์เจนตินาขาดความเชื่อถือ มีต้นทุนสูงในการระดมเงินจากต่างประเทศ ทำให้ตั้งแต่นั้นมาประเทศได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการถูกมองว่าเป็นประเทศที่ขาดความรับผิดชอบ

ปัจจุบันรัฐบาลได้หันมาขอเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ที่เหลือ โดยกำหนดแผนการชำระหนี้ และพยายามที่จะกลับเข้าสู่ระบบสากล เพื่อระดมเงินจากแหล่งต่างๆ ให้มีต้นทุนต่ำลง

ในกราฟต่อไปนี้จะเห็นวิวัฒนาการของทั้งของ GDP และหนี้ต่างประเทศของประเทศอาร์เจนตินาโดยรวมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ตารางด้านล่างแสดงความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลอาร์เจนตินาในการลดอัตราส่วนของหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับอัตราร้อยละของ GDP อาร์เจนตินา

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าในปี 2010 อาร์เจนตินาจะไม่ผิดสัญญาชำระหนี้สิน ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของรัฐบาล ผู้ลงทุนจะไม่มีความเสี่ยงที่ประเทศอาร์เจนตินาจะพักชำระหนี้ในปีนี้ ประธานาธิบดี Cristina Kirchner ให้ความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศให้ทั่วโลกได้เห็น

การผิดสัญญาการใช้คืนหนี้ในอดีตส่งผลให้โลกประณามประเทศอาร์เจนตินาภาคเอกชนขนงินทั้งหมดออกต่างประเทศและปิดกิจการ ธนาคารในอาร์เจนตินาหนึ่งในสามถือสินทรัพย์อยู่ในรูปแบบของหนี้สาธารณะของรัฐ การประกาศการผิดสัญญาการชำระหนี้จะสร้างปัญหาร้ายแรงให้ระบบธนาคาร ทำให้ลูกค้าของตนแห่กันไปถอนเงินฝาก ส่งผลให้เศรษฐกิจล่มสลาย ในสถานการณ์นี้ ในที่สุดอาจล้มรัฐบาลได้ จากปัญหาในอดีตทำให้ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ยังอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ด้านการฝาก ถอน โอนเงินเข้าออก

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในโลกนี้ที่มีต่อประเทศอาร์เจนตินา ประธานาธิบดี Cristina Kirchner ได้สั่งให้ดำเนินมาตรการหลายเรื่องเพื่อแสดงเจตน์จำนงของประเทศที่ดี แต่นักลงทุนยังคงมองประเทศด้วยความไม่เชื่อมั่นและยังไม่ลืมวิกฤตการปี 2001/2002 คะแนนนิยมปัจจุบันของอาร์เจนตินายังไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ยกเว้น ประเทศโบลิเวียและเวเนซุเอลา อาร์เจนตินาจะมีต่ำกว่าในหลายกรณี แต่เมื่อวิเคราะห์ในด้านของพันธบัตรรัฐบาล ผลจากความมุ่งมั่นที่จะชำระหนี้ที่รัฐบาลส่งผลให้มีความเชื่อถือจากตลาดโลกดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในอดีตไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลอาร์เจนตินาต้องเสนอผลตอบแทนถึง 60% เนื่องจากเป็นสิ่งที่ขายยากเพราะไม่ได้รับความเชื่อถือ แต่ปัจจุบันตลาดมีความเชื่อถือว่าอาร์เจนตินาไม่ต้องการที่ผิดสัญญาการชำระหนี้และพยายามหาเงินเพื่อจ่ายคืน ทำให้ในขณะนี้พันธบัตรถูกซื้อด้วยผลตอบแทนลดลงเหลือ 13% (ในขณะที่บราซิลให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 4%)

สำหรับในปีนี้รัฐบาลมีนโยบายต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและปรับตัวเพื่อเข้าสู่ตลาดการเงินของโลกเพื่อที่จะลดต้นทุนการกู้ยืมในปัจจุบัน

หนึ่งในข้อบังคับหลักเพื่อให้อาร์เจนตินาได้กลับเข้าตลาดทุน คือ ต้องทำให้บรรลุเป้าหมายตามความคาดหวังของตลาดเงินและตลาดทุนโลกสำหรับการจ่ายชำระหนี้ผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มที่ยังติดค้างอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรครั้งแรกของประเทศคืนในปี 2005 ซึ่งเป็นช่วงวาระของอดีตประธานาธิบดี Nestor Kirchner ช่วงนั้นรัฐบาลได้ประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ทั้งหมดคืนได้ แต่ยังมีกลุ่มที่ไม่ยินยอมตกลงและได้นำเรื่องฟ้ององค์การระหว่างประเทศ หนี้สินตกค้างกลุ่มนี้มีมูลค่าประมาณ US$ 20 พันล้าน

หมายเหตุ รัฐบาลประกาศการพักชำระหนี้ในปี 2002 จำนวน US$100,000 ล้าน และมีการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อขอประนอมหนี้โดยขอลดเงินต้นจ่ายคืนเหลือมูลค่าเพียง 30% ในปี 2005 ซึ่งตกลงได้กับเจ้าหนี้บางส่วน แต่ยังมีเจ้าหนี้บางกลุ่มที่ไม่ยินยอมและนำเรื่องฟ้องร้ององค์การระหว่างประเทศ ยังติดพันอยู่จนถึงปัจจุบัน

กลุ่มที่ยังตกค้างอยู่นี้มีรายงานว่า “ปัจจุบันรัฐบาลสามารถทำความตกลงกับกลุ่มผู้ถือพันธบัตรที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ของรัฐบาลได้แล้วประมาณครึ่งหนึ่งคือ US$ 10 พันล้าน” ซึ่ง Credit Suisse ได้กล่าวไว้วารสาร Emerging Markets ฉบับเดือนธันวาคม ว่า 60% ถึง 70% ของหนี้ที่รัฐบาลยังไม่ได้ชำระจะถูกชำระ การเจรจากับ Paris Club จะเกิดขึ้นปีนี้เนื่องจากมีแผนปรับโครงสร้างหนี้ค้างชำระมูลค่า US$ 7 พันล้าน การเจรจานี้จะจัดขึ้นในปี 2010 อาจจะใช้เวลาหลายเดือนเนื่องจากเป็นจำนวนสุดท้ายที่จะจ่ายพร้อมข้อตกลงด้านเงื่อนไขการยกเลิก อาร์เจนตินามีแผนจะจ่ายชำระหนี้เป็นงวดๆละ $ 1 พันล้านต่อปีมากกว่าการจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในครั้งเดียว

เพื่อดำเนินการข้างต้นในการประสานงานสำหรับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลค้างชำระ และ Paris Club รัฐบาลอาร์เจนตินาได้จัดตั้งกองทุน "Fondo del Bicentenario" หรือภาษาอังกฤษว่า Bicentennial Fund ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ เพื่อรับประกันการชำระหนี้ของประเทศในปี 2010 ซึ่งชื่อกองทุนตรงกับการครบรอบ 200 ปีของการประกาศอิสรภาพ/ก่อตั้งประเทศ

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังนาย Amado Boudou แจ้งว่า กองทุนนี้จะมีมูลค่า US$ 6,569 ล้าน โดยเงินก้อนนี้รัฐบาลโอนมาจากมาจากเงินกองทุนสำรองของธนาคารชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้อดีตผู้ว่าการฯ ถูกปลดออกเนื่องจากคัดค้านไม่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลได้ตั้งคนของตนขึ้นมาแทนเพื่อให้โอนเงินสำเร็จ ทำให้เกิดการฟ้องร้องในศาล และในสภาฯ มีการสั่งระงับการใช้เงิน และเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

นาย Boudou ได้อธิบายว่า การตั้งกองทุนนี้ต้องการที่จะ "หลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนใดๆ และเพิ่มระดับความมั่นใจของเจ้าหนี้ว่า จะได้รับการชำระเงินคืนในปี 2010" หากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขในเร็วๆนี้จะส่งผลในทางตรงกันข้าม คือแทนที่ทั่วโลกจะมีความเชื่อมั่นในอาร์เจนตินา แต่กลับทำให้โลกมองว่ามีแต่ความไม่น่าเชื่อถือ รัฐมนตรี Boudou ต้องการแสดงให้เห็นว่าอาร์เจนตินามีเศรษฐกิจที่ยังมั่นคงอยู่ และคาดว่าการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมกับข้อตกลงกับ Paris Club "จะช่วยให้การลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ"

หลังจากมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาร์เจนตินากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงประธานาธิบดี Nestor Kirchner จากประเทศที่ยกเลิกการกู้ยืมหนี้กับทาง IMF ขณะนี้ประธานาธิบดี Cristina Kirchner มีแผนจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสถาบันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาร์เจนตินาและ IMF มีทั้งขึ้นและลง ในช่วงยุค 90 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Carlos Menem อาร์เจนตินาได้กู้เงินจากหลายสถาบันนี้หลายครั้ง ซึ่งมีการเพิ่มปริมาณของหนี้ต่างประเทศอย่างมาก ในเวลานั้น IMF ได้ชี้นำว่าอาร์เจนตินาเป็นตัวอย่างที่ดีที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาควรใช้เป็นแม่แบบ

ในปี 1999 เมื่อนาย Fernando De la Rua เข้ามาบริหารปริมาณหนี้ที่ครบกำหนดจะต้องชำระพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยได้เริ่มต้นและสิ้นสุดด้วยการที่รัฐบาลประกาศพักชำระหนี้โดยประธานาธิบดี Adolfo Rodriguez Saa ทำให้ IMF ได้กดดันนาย De La Rua ให้เร่งชำระหนี้คืน ซึ่งทำให้สภาพคล่องของประเทศในภาคธุรกิจต่างๆหดหายไปอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์ข้างต้น และการประกาศพักชำระหนี้ US$100,000 ล้านของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย ประเทศได้รับการประนาม และขาดความเชื่อถือจากทั่วโลก ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลต่อมาได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ IMF โดยอดีตประธานาธิบดี Nestor Kirchner ได้ตัดสินใจที่จะจ่ายหนี้ที่ครบกำหนดให้กับสถาบันนี้เพื่อความอิสระพ้นจากความควบคุมด้านนโยบายของประเทศซึ่งทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปัญหากับเจ้าหนี้อื่นๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจจากต่างประเทศจากการเป็นประเทศที่ประกาศพักชำระหนี้

ปัจจุบันประธานาธิบดี Cristina Kirchner มีนโยบายจะเร่งฟื้นความสัมพันธ์กับ IMF ในปี 2010 ด้วยเหตุผลหลายประการ เหตุผลหนึ่งเนื่องจากจะทำให้อาร์เจนตินามีภาพพจน์ในต่างประเทศดีขึ้น และตลาดทุนก็จะมีการไหลมาของลงทุนจากต่างประเทศโดยปกติแล้วการเป็นสมาชิกของ IMF ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพด้านการเงิน และสร้างความเชื่อถือแก่เจ้าหนี้ และช่วยแก้ภาพของ "ความไม่แน่นอน"หรือ"ความไม่รับผิดชอบ" ที่หลายคนคิดว่าอาร์เจนตินายังคงเป็นอยู่ได้ และการกลับมาสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับ Paris Club ในการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศกับทาง Paris Club ประเทศนั้นจะต้องมีการบริหารสินเชื่อโดยประสานกับ IMF

เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของอาร์เจนตินาในการกลับเข้าสู่ตลาดเงินและตลาดทุนในต่างประเทศ ดร. Mario Blejer ซึ่งได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโกและยังเป็นอดีตประธานธนาคารกลาง เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างและเจรจากับ Paris Club ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือของข้อมูลจาก INDEC [สำนักงานสถิติ] นอกเหนือจากปัญหาเหล่านี้ เชื่อว่าประเทศจะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพในปี 2010”

การเติบโตของเศรษฐกิจปี 2010

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังคงเห็นว่า ปี 2010 น่าจะเป็นปีที่ดีกว่า 2009 เหตุผลแรกคือไม่น่าจะมีวิกฤติโลกดั่งเช่นที่ประสบกันปี 2009 ที่หลายประเทศมี GDP ติดลบหรือบวกเพียงเล็กน้อย ปี 2010 หากไม่มีวิกฤตการณ์ใหญ่หรือการล่มสลายทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจโลกและอาร์เจนตินาจะดีกว่าในปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน โดยจากรายงานการคาดการณ์ต่างๆสำหรับประเทศอาร์เจนตินาในปี 2010 ทั้งหมดได้คาดการณ์การขยายตัวของ GDP อยู่ในเกณฑ์บวก 2.5% โดย IMF ได้คาดการณ์การขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ทางบริษัท Merrill Lynch เชื่อว่าจะขยายตัวที่ 2.2% Barclays Capital กล่าวว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 3.5% Credit Suisse ได้กล่าวว่าเศรษฐกิจจะโตที่ 4% ในขณะที่ CEPAL (Economic Commission for Latin America and the Caribbean) ก็เชื่อว่า GDP อาร์เจนตินาจะเพิ่มขึ้น 4% ในปี 2010 โดยประเทศอื่นในละตินอเมริกาและ real GDP ของโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในปี 2009 ผลผลิตทางการเกษตรของอาร์เจนตินาได้ตกต่ำลงมากเนื่องจากประสบกับภัยแล้งหลายครั้งแต่ในปีนี้คาดว่าจะดีขึ้น จากรายงานของ Credit Suisse ว่า: “ปี 2010 ผลผลิตของเมล็ดธัญพืชและพืชได้ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 40% จากปี 2009 ซึ่งถูกทำลายล้างด้วยภัยแล้งที่รุนแรง เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอาร์เจนตินาและตัวขับเคลื่อนหลักของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า โดยภาคการผลิตและอุตสาหกรรมการก่อสร้างยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์บวกเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและทั่วโลกที่มีเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการใช้จ่ายในการบริโภคและการลงทุนจากภาคเอกชนจะขยายตัวปานกลาง

ความเชื่อมั่นทางด้านธุรกิจจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีทีผ่านมา โดยรายได้จากการส่งออกจะเพิ่มขึ้นในปี 2010 ถึงแม้ว่าราคาตลาดโลกสำหรับสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัวมากจากระดับปัจจุบัน ผลผลิตที่จะได้รับมากขึ้นในปี 2010 จะทำให้มีปริมาณสินค้าด้านการเกษตรส่งออกเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าใหญ่คือ บราซิล และประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาจะเริ่มฟื้นตัวในเกณฑ์ที่ดี จะส่งผลให้มีการขยายตัวด้านการส่งออกอุตสาหกรรมต่างๆ ของอาร์เจนตินา

อดีตประธานธนาคารกลางนาย Mario Blejer ก็ได้ให้ความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปี 2010 ว่า การเติบโตของบราซิล จีน และอินเดีย เป็นข่าวดีสำหรับอาร์เจนตินา แสดงให้เห็นว่ามีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นใหม่ในโลก และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสำหรับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ๆ วันนี้ตลาดกลุ่มเอเชียเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลกและอาร์เจนตินาส่งออกสินค้าเกษตรหลายอย่างป้อนตลาดเอเชียซึ่งคาดว่ามีการขยายตัวที่ดีมากยิ่งขี้นสำหรับปีหน้า”

อัตราเงินเฟ้อ

ตั้งแต่ประเทศอาร์เจนตินาได้เลิกใช้ระบบ Convertibility Model (ผูกเงินเปโซกับเงินดอลลาร์สหรัฐ) ปัญหาเงินเฟ้อได้กลับมาปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันอย่างช้าๆ ทุกวันนี้ก็เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินาที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับปัญหาทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลได้พยายามปกปิดบิดเบือนข้อมูลด้านนี้ผ่านหน่วยงานของทางการที่สำคัญ คือ INDEC หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำให้ข้อมูลตัวเลขสถิติของทางการไม่มีความน่าเชื่อถือ

รัฐบาลได้เร่งแก้ไขภาพพจน์นี้ให้ดีขึ้น ในช่วงต้นปี 2010 Credit Suisse แจ้งว่าในเดือนล่าสุดตัวเลขของ INDEC ใกล้ความจริงมากขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีทำให้ในปีหน้าตัวเลขสถิติจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ได้มีทุกองค์กรที่เห็นด้วย และ Royal Bank of Scotland ได้ขึ้นหัว “Don’t cry for me, INDEC” ซึ่งเชื่อว่าสถิติยังคงมี “ความบิดเบือน” “เราจะได้เห็นการปฏิรูปจากกลุ่มผู้บริหารของรัฐบาล ” ในอีกแง่มุมหนึ่ง ตัวเลขพวกนี้เป็นสิ่งที่เตือนและเป็นภัยคุกคามสำหรับรัฐบาลอาร์เจนตินา การคาดการณ์ส่วนมากสำหรับปี 2010 ชี้ให้เห็นว่าระดับเงินเฟ้อจะอยู่ระหว่าง 15% และ 20% มีองค์กรอาร์เจนตินา EcoLatina คาดว่า 17.5% Barclays Capital คาด 16.5% Royal Bank of Scotland ประมาณว่า 20% และเครดิตสวิสคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 12-14% และกลุ่มนักวิชาการได้แถลงผ่านหนังสือพิมพ์ Buenos Aires Herald ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของอาร์เจนตินาในปี 2010 จะอยู่ที่ 30-34% และได้เตือนว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มเงินเฟ้อในไตรมาสที่จะมาถึง

ดุลการชำระเงิน (Fiscal Balance)

นักเศรษฐศาสตร์อาร์เจนตินา ธนาคารและสถาบันการเงินต่างประเทศส่วนใหญ่ได้วิเคราะห์ว่า มีปัจจัยที่สำคัญ 2 อย่างที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอาร์เจนตินา

ประเด็นแรกปัญหาเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และความไม่น่าเชื่อถือของตัวเลขสถิติอ้างอิงของทางการเนื่องจากปัญหาการเข้าแทรกแซงหน่วยงาน INDEC ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดี Cristina Kirchner จะต้องให้ความสนใจและแก้ไขในปี 2010

ประเด็นที่สองที่ทำให้คนทั้งโลกและในอาร์เจนตินาเป็นกังวลคือ เรื่องดุลการชำระเงิน และการใช้นโยบายแบบขาดดุลของรัฐบาล ถึงแม้ว่าในสองสามปีที่ผ่านมารัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายภาครัฐได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเช่นกัน คือ ในขณะที่รัฐบาลได้รับภาษีได้ $400 พันล้านเปโซอาร์เจนตินา(1 เปโซ=10 บาท) แต่การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ยังต่ำกว่ารายจ่าย จึงทำให้ขาดดุลการคลังอยู่

รายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 10% ต่อปีแต่การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 25% ตามที่นักเศรษฐศาสตร์นาย Jose Luis Espert ได้กล่าวไว้ เมื่อเร็วๆนี้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Ricardo Lopez Murphy ได้มีความเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า การใช้จ่ายภาครัฐในอดีตของประเทศคิดเป็นร้อยละ 30 ในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบันของ Kirchner มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 42 และ 45 หากทำการคำนวณอย่างถูกต้อง เป็นที่ชัดเจนว่าสถานการณ์แบบนี้ประเทศจะไม่สามารถ

เมื่อเร็วๆนี้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Ricardo Lopez Murphy ได้มีความเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า การใช้จ่ายภาครัฐในอดีตของประเทศคิดเป็นร้อยละ 30 ในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบันของ Kirchner มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 42 และ 45 หากทำการคำนวณอย่างถูกต้อง เป็นที่ชัดเจนว่าสถานการณ์แบบนี้ประเทศจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะปานกลาง-ยาว ดังประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในยุค 60 ในยุค 70 ในยุค 80 และในยุค 90 กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

จากข้อมูลปีที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า “มีรายการใช้จ่ายหลัก(Primary Spending) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรัฐบาลเพื่อหาเสียงทางอ้อม โดยเฉพาะในช่วงเดือนก่อนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากลางเทอร์ม ในขณะที่การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ถึงแม้ว่าคาดว่าจะสามารถเพิ่ม 1% ของ GDP ประเทศได้ภายหลังจากการนำนโยบายปฏิรูบระบบการเก็บเงินสมทบประกันสังคมและการนำระบบบำนาญเข้ามาใช้ก็ตาม

ในหัวข้อนี้ Barclays Capital มีมุมมองในเรื่อง การใช้จ่าย การคลังและความสัมพันธ์กับการเมืองและสังคม ว่ารัฐบาลพยายามสร้างแรงจูงใจในการเรียกคะแนนความนิยมให้นาย Nestor Kirchner (อดีตประธานาธิบดีและเป็นสามีประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) อีกครั้งเพื่อให้เขาได้เป็นหนึ่งในตัวเก็งของผู้สมัครปี 2011 นำไปสู่การใช้จ่ายเงินภาครัฐจำนวนมากและปัญหาการขาดดุลการคลัง

ในขณะที่ Goldman Sachs แถลงว่า ความสำคัญสำหรับปีก่อนและปีนี้ส่วนหนึ่งคือการรักษาสมดุลและวินัยทางการเงิน ปัญหาการชำระหนี้ก้อนใหญ่ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ และการนำเงินกองทุนเกษียณอายุเข้ามาเป็นของรัฐจะช่วยให้รัฐบาลมีแหล่งเงินที่นำมาใช้ได้ แต่ทำให้ความไว้วางใจของตลาดลดลง

อดีตประธานธนาคารกลางนาย Mario Blejer ได้คาดการเศรษฐกิจในปีนี้ว่า "หนึ่งในปัญหาสำคัญคือ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งหากไม่มีการควบคุมจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด นโยบายการคลังมีปัญหาเนื่องจากค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Public spending) เพิ่มขึ้นมากและควรจะได้รับการแก้ไขทันที ถ้าหากไม่มีการป้องกันแล้วจะมีการสูญเสียความเชื่อถือจากนักลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ถึงแม้ว่าวิกฤตการณ์ปี 2001/2002 และการประกาศพักชำระหนี้เป็นปัญหาสำคัญในอดีตของอาร์เจนตินาซึ่งจะต้องมีการดำเนินการสร้างความมั่นใจกลับคืนมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รัฐบาลได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการเร่งสร้างความเชื่อถือเพื่อกลับเข้าสู่ตลาดการเงินและตลาดทุนระหว่างประเทศ เพื่อระดมเงินต้นทุนต่ำจากตลาดโลก จะได้เห็นว่ามีเส้นทางที่แตกต่างกันในการทำงานเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้และขณะนี้การชลอตัววิกฤติเศรษฐกิจโลกก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินลงทุนใหลเข้าประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลอาร์เจนตินาว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อถือให้กับทั่วโลกว่ารัฐบาลได้ดำเนินการมาในทิศทางทางการทำงานที่ถูกต้อง มีการดูแลปัญหาภายในประเทศและการปูพื้นทางการเมืองที่มั่นคง ซึ่งหากการเมืองค่อนข้างสงบและไม่วุ่นวายเกินไปแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2010 ของอาร์เจนตินาจะเริ่มฟื้นตัวและขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป

ในปีนี้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาด้านการเงินและหนี้สินในอดีตอย่างเป็นระบบด้วยการโอนเงินจากกองทุนสำรองไปยังกองทุน "Bicentennial Fund" ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการชำระหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ลดความเสี่ยงในการชำระหนี้ในปีนี้ คาดว่าปีหน้าจะเริ่มส่งผลปรากฏให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามมาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรค้างชำระ การสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับ Paris Club และ รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะช่วยสร้างภาพพจน์ของอาร์เจนตินาในระดับนานาชาติให้ดีขึ้นได้อย่างมาก

แนวโน้มค่าเงินเปโซอาร์เจนตินายังคงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีการซื้อขายในช่วงแคบๆ ในอนาคต อย่างที่เราสามารถสังเกตได้ สองสามปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้ปล่อยเงินเปโซลอยตัวระหว่าง 3.00 และ 4.00 เปโซต่อดอลล่าร์ การที่มีการปรับปรุงทั้งในการเมืองและภาพพจน์ของประเทศตลอดปี 2010 จะช่วยให้สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และทำให้ประเทศกลับเข้าสู่ตลาดการกู้ยืมเงินของโลกได้อีกครั้ง ซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมากในปี 2011 โดยสำหรับปีนี้จะเริ่มเห็นผลอย่างช้าๆ ได้เช่นกัน

ปัญหาอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลการคลังอาจจะบีบบังคับให้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขทั้งสองเรื่อง รัฐบาลต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการลดการใช้จ่ายของภาครัฐ (Public spending) โดยที่ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาทางสังคม แน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะกำหนดการเป็นไปของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปีนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าถ้าหากไม่มีวิกฤตการณ์การเมืองในปี 2010 เศรษฐกิจอาร์เจนตินาน่าจะฟื้นตัวและเติบโตได้ดีพอสมควรในปีนี้ประมาณ 2.5% ซึ่งในอดีตช่วงปี 2003-2008 อาร์เจนตินามีอัตราการขยายตัวของ GDP เฉลี่ยเกินกว่า +8% มาโดยตลอด

สำหรับประเทศไทยควรผลักดันยุทธศาสตร์ในการเร่งสร้างความสัมพันธ์กับอาร์เจนตินาทั้งในเชิงลึกเช่น การตกลงเป็น Strategic Alliances การจัดแลกเปลี่ยนกระชับความสัมพันธ์ของผู้บริหารภาครัฐและเอกชนระดับสูง การเร่งทำความตกลงทวิภาคีด้านการค้าและการลงทุน(Trades and Investments) การตกลงแลกเปลี่ยนเส้นทางบินระหว่างการบินไทยกับสายการบินอาร์เจนตินาโดยอาจเชื่อมต่อเส้นทางบัวโนสไอเรสจากจุดอื่นๆในยุโรป(มิลาน/โรม/ปารีส/ลอนดอน/แมดดริด) สหรัฐฯ(แอลเอ) ออสเตรเลีย(ซิดนีย์) ฯลฯ เนื่องจากเที่ยวบินส่วนใหญ่เต็ม และทำรายได้ดี ซึ่งจะเชื่อมโยงไทยกับลาตินอเมริกาให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น

หมายเหตุ - อินโดนิเซียมีข้อตกลงด้านการลงทุน แต่ไทยยังไม่มี

  • มาเลเซียมีมาเลเซียแอร์ไลน์ บินเชื่อมบัวโนสไอเรส-กัวลาลัมเปอร์

เชิงกว้าง เช่น การผลักดันเพิ่มจำนวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในภูมิภาคนี้ การจัดคณะผู้แทนการค้ากลุ่มสินค้าและบริการต่างๆ ของไทยเพื่อหาลู่ทางร่วมลงทุน การสร้างโครงการ PPP Thai-Argentine ซึ่งอาจเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชนทั้ง 2 ประเทศ เป็นโครงการนำร่อง ฯลฯ เนื่องจากนักธุรกิจทั้งไทยและอาร์เจนตินาต่างไม่มีความคุ้นเคยกัน เพราะข้อจำกัดด้านระยะทางที่ห่างไกล ปัญหาด้านภาษา มีต้นทุนการขนส่ง/การดำเนินการและค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางสูงกว่าประเทศอื่นๆมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการฉ้อโกง ระบบการโอนเงิน และมาตรการกีดกันการค้านอกรูปแบบต่างๆ (NTB) อีกด้วย

กรมส่งเสริมการส่งออกได้เล็งเห็นความสำคัญของตลาดอาร์เจนตินาที่เศรษฐกิจได้กลับมาฟื้นตัวและมีการขยายตัวมากกว่า +8%มาโดยตลอด จึงได้จัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบัวโนสไอเรส” (TTO/BA) ในประเทศนี้ โดยจัดส่งนายวรมัน เฟื่องอารมย์-ผู้อำนวยการ เป็นผู้แทนมาประจำ

สำนักงานใหม่ที่จัดตั้งอยู่ในย่านการค้าที่สำคัญที่สุดกลางกรุงบัวโนสไอเรส ณ “Buenos Aires Plaza” ติดกับ Hotel Hilton เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทย สามารถที่จะใช้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานติดต่อและเป็นจุดนัดหมายกับผู้นำเข้าในเขตอาณา คือ อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย และโบลิเวีย โดยสามารถติดต่อมายังกรมส่งเสริมการส่งออก หรือติดต่อตรงได้ตามที่อยู่ ดังต่อไปนี้

“THAILAND TRADE OFFICE / BUENOS AIRES” (TTO/BA)

OFFICE OF COMMERCIAL AFFAIRS, ROYAL THAI EMBASSY

ADDRESS : 323 Manuela Sanz Av.,

Edificio Buenos Aires Plaza #507-8

Deaue III Pueto Madero Este

(C1107BPA) Buenos Aires Fed. Cap.

ARGENTINA

TEL. : (54 11) 5272 0572, 5272 0573, 5272 0574

E-MAIL : vorramun@depthai.go.th

: fungarrom@hotmail.com

บรรณานุกรมแหล่งข้อมูลอ้างอิง

Central Bank of the Argentine Republic

Ministry of Finance of Argentina

Administracion Federal de Ingresos Publicos -AFIP-

Instituto Nacional de Estadistica y Censos -INDEC-

Ambito Financiero newspaper

La Nacion newspaper

Clarin newspaper

Ciudadano newspaper

Infobae newspaper

Pagina 12 newspaper

Cronista newspaper

Los Andes newspaper

Impulso Negocios Online

BBC Online

Argentinedebtinfo.gov.ar

Fortuna magazine

Reuters Argentina

Telam News Agency

Credit Suisse

UBS

Merrill Lynch

Goldman Sachs

International Monetary Fund

Inter-American Development Bank

Economic Commission for Latin America and the Caribbean -CEPAL-

Universidad Torcuato Di Tella — CIF Centro de Investigacion en Finanzas

Universidad de Buenos Aires

Fundacion de Investigaciones Economicas Latinoamericanas

LatinFocus

EcoLatina

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ