จากโรงงานส่งออกปลาแช่แข็งในเมืองไทยมาเป็นผู้นำเข้าอาหารในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 15:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้เข้าพบหารือกับ Mr.Kit Sirichartchai, Vice President, Gusto Food Inc. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 รายละเอียดบริษัท ดังนี้

ชื่อบริษัท: Gusto Food Inc.

ที่อยู่: 810 East 27 St., Paterson, New Jersey

                    โทร. 646 331 4344        โทรสาร 862 264 6775

Website: www.gustofood.com

E-mail: kit@gustofood.com

บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 1990 โดยธุรกิจหลักดั้งเดิมของครอบครัวคือ การส่งออกปลาน้ำจืดแช่แข็ง ตลาดหลัก ได้แก่ ตะวันออกกลาง อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับบตะวันออกกลาง และยุโรป ดังนั้น บริษัทจึงมีความคิดที่จะมาตั้งบริษัทในสหรัฐอเมริกาเพื่อขยายตลาดมาในประเทศนี้อย่างจริงจัง (Internationalization) เริ่มแรก บริษัทตั้งอยู่ในย่าน Brooklyn และย้ายมา New Jersey เมื่อปีที่ผ่านมา

ในช่วงแรก บริษัทเน้นการหาตลาดสำหรับสินค้าของครอบครัว คือ ปลาแช่เย็น แช่แข็ง ต่อมาเห็นช่องทาง จึงขยายประเภทสินค้าให้มีความหลากหลาย ตรงกับความต้องการของตลาด คือ ข้าวหอมมะลิ และสินค้าในหมวด Grocery อื่นๆ ลูกค้าหลัก ได้แก่ supermarket และร้านอาหาร ในแถบตะวันออก จาก East ถึง Midwest ในปัจจุบัน สินค้าหลักของบริษัท คือ ข้าวหอมมะลิ นำเข้า 360 ตู้/ปี ส่วนสินค้า Asian Foodstuff อื่นๆที่บริษัททำธุรกิจค้าส่งอยู่ บางชนิดบริษัทนำเข้าโดยตรง แต่บางชนิดที่เป็นสินค้าที่มีบริษัทอื่นเป็น Agent นำเข้ามาอยู่แล้ว บริษัทก็จะซื้อจาก Agent ไปจำหน่ายต่อ เนื่องจากสะดวกกว่า และราคาอยู่ในระดับที่สามารถทำกำไรต่อได้ นอกจากนั้นสินค้าที่ที่บริษัททำธุรกิจอยู่เป็นสินค้าผลิตในสหรัฐฯซึ่งซื้อจาก local supplier ร้อยละ 30 บริษัทพบว่ามีช่องทาง Niche Market ในหมู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่คือ กลุ่มผู้อพยพชาวพม่าซึ่งปัจจุบันเข้ามาตั้งรกรากจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมือง Buffalo, รัฐNew York บริษัทจึงนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภค สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มเติมด้วย และในอนาคต คาดว่าจะมีกลุ่มผู้อพยพเข้ามามากขึ้นอีก

Warehouse ของบริษัทมีขนาด 26,000 ตารางฟุต แบรนด์ของบริษัท ได้แก่ Golden Dragon สำหรับข้าวหอมมะลิ และ Gusto สำหรับปลาแช่แข็ง และอื่นๆ

ลูกค้าหลักของบริษัท เป็นกลุ่ม Oriental และ Indian ผลจากเศรษฐกิจถดถอยและปัญหา Sub Prime ในสหรัฐฯปี 2009ไม่กระทบกระเทือนยอดขาย แต่ในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว ใน 4 เดือนแรก ยอดขายกลับลดลง

ปัญหาที่บริษัทประสบในการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย ได้แก่ ข้าวปลอมปน ถึงแม้จะเป็นข้าวที่ได้รับตรารับประกันจากกรมการค้าต่างประเทศก็ตาม บริษัทจึงต้องใช้วิธีสุ่มตรวจสอบข้าว โดยส่งให้ Lab test ของกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ตรวจสอบ DNA ซึ่งหลายครั้งพบว่าที่ถุงประทับตราข้าวหอมมะลิ แต่ภายในเป็นข้าวหอมมะลิที่ปนกับข้าวชนิดอื่นได้แก่ ข้าวปทุม หรือข้าวเมล็ดยาวธรรมดา

จากการเข้าพบบริษัทในครั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์กได้ชักชวนให้บริษัทเดินทางไปชมงาน Thaifex ที่ประเทศไทยในเดือนมิถุนายนนี้ และบริษัทได้ตอบรับที่จะส่งผู้แทนไปเข้าร่วม ความเห็นและข้อเสนอแนะ

จากการพบผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยหลายราย ได้ทราบข้อมูลว่า ขณะนี้กำลังประสบปัญหาเดียวกัน คือเรื่องการปลอมปน โดยถุงข้าวประทับตราข้าวหอมมะลิจากเมืองไทย ซึ่งถึงแม้จะมีตรารับรองของกรมการค้าต่างประเทศประทับมาด้วย แต่ข้าวข้างในกลับมีการผสมข้าวชนิดอื่นและขายให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯในราคาที่ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิล้วนๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนว่าเป็นข้าวหอมมะลิราคาถูก และผู้บริโภคที่ไม่เคยบริโภคมาก่อนจะเข้าใจว่า ข้าวหอมมะลิไม่ได้มีความพิเศษอะไรที่ต่างกับ Long Grain ทั่วๆไป ในอนาคตจะทำให้ผู้นำเข้าหลายรายเริ่มหันไปนำเข้าข้าวผสม (ที่ระบุว่าเป็นข้าวหอมมะลิ) มากขึ้น เนื่องจากราคาต่ำกว่ามาก ซึ่งจะทำให้การส่งออกข้าวหอมมะลิ และภาพลักษณ์ของสินค้าเสียหายได้ จึงควรมีการดูแลโดยหน่วยงานรัฐอย่างจริงจังและเร่งด่วน ก่อนที่ตลาดข้าวหอมมะลิแท้จะถูกแทนที่โดยข้าวหอมมะลิผสม

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ