ผลไม้ไทยในตลาดญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 16:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิต

ญี่ปุ่นผลิตผลไม้ได้หลายชนิด จากรายงานกระทรวงเกระเกษตร ประมง และป่าไม้ (MAFF) ปี 2550 ญี่ปุ่นผลิตผลไม้มูลค่า 7.5 แสนล้านเยน(ประมาณ 8,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เช่น ส้ม แอปเปิล สาลี่ องุ่น สตรอเบอรรี่ peach และพลับ เป็นต้น

ผลไม้ที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอกับการบริโภค สัดส่วนเพียงร้อยละ 41 โดยน้ำหนัก

ญี่ปุ่นจึงจำเป็นนำเข้าผลไม้สด ปีละเกือบ 2 แสนล้านเยน ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากต่อความปลอดภัยด้านอาหาร ผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าต้องปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ผลไม้ที่นำเข้ามาก ได้แก่ กล้วย กีวีฟรุต และสับปะรด

2. ช่องทางการจำหน่าย

การค้าผลไม้ในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แต่ละพื้นที่จะมีสหกรณ์การเกษตรรวบรวมผลผลิตส่ง ผู้ค้าส่ง/ผู้ค้าปลีก การจัดเก็บ บรรจุ และการขนส่ง ดำเนินการอย่างพิถีพิถันเพื่อรักษาความสด และคุณภาพของสินค้า และมีข้อมูลผู้ผลิต แหล่งผลิต กำกับไว้ที่สินค้าทุกชิ้น ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ส่วนผลไม้จากต่างประเทศ บริษัทผู้นำเข้า จะทำหน้าที่ตั้งแต่คัดเลือก ประสานกับผู้ส่งออก/ผู้ผลิตที่เป็นคู่ค้า เจรจาสั่งซื้อ การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ก่อนการขนส่ง จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อความมั่นใจในมาตรฐานคุณภาพสินค้า และความปลอดภัยด้านอาหาร บริษัทนำเข้าบางรายจึงมีบริษัทในเครือทำหน้าที่เป็นผู้ส่งออกจากประเทศต้นทางด้วย

ปัจจุบันผลไม้นำเข้า ส่วนใหญ่จะส่งให้ผู้กระจายสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยตรง ต่างจากอดีตที่มักส่งเข้าตลาดกลางประมูลผักสด และผลไม้

3. การนำเข้า

ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้ปีละประมาณ 1.7-1.9 ล้านตัน ปี 2552 นำเข้าปริมาณ 1,889,493 ตันเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 8.5 สาเหตุสำคัญจากกล้วยซึ่งเป็นผลไม้นำเข้าสำคัญอันดับ 1ประมาณ 1.2 ล้านตัน ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ตามกระแสความนิยมซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ที่มีการข่าวว่าการรับประทานกล้วยส่งผลต่อสุขภาพ และลดน้ำหนัก ขณะที่คนญี่ปุ่นบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาแพงลดลง เลือกซื้อผลไม้ชนิดที่มีราคาปานกลางลงมา มากขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง

3.1 แหล่งนำเข้าผลไม้ของญี่ปุ่น ที่สำคัญ ได้แก่

  • ฟิลิปปินส์ : กล้วย สัปปะรด และผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ เช่น มะม่วง มะพร้าวอ่อน
  • สหรัฐอเมริกา : ส้ม องุ่น grape fruit เบอรี่ต่างๆ
  • นิวซีแลนด์ : กีวีฟรุต
  • เม็กซิโก : มะม่วง อโวกาโด melon ผลไม้จากประเทศไทยที่ญี่ปุ่นนำเข้า คือ มะม่วง มังคุด ทุเรียน มะพร้าวอ่อน กล้วย และสับปะรด

3.2 สถานการณ์การนำเข้าของญี่ปุ่น เป็นดังนี้

มะม่วง ญี่ปุ่นนำเข้ามะม่วงปีละประมาณ 11,000 -12,000 ตัน ก่อนปี 2550 ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณนำเข้า รองลงมา คือ เม็กซิโกร้อยละ 30 สำหรับไทยมีสัดส่วนร้อยละ 8 หลังจากปี 2550 มะม่วงจากฟิลิปินส์มีปริมาณโน้มลดลง ญี่ปุ่นนำเข้าจากเม็กซิโก ไทย และไต้หวันเพิ่มขึ้น ปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้ามะม่วงจากเม็กซิโกมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 5,050 ตัน สัดส่วนร้อยละ 45.5 นำเข้าจาก ฟิลิปินส์ ไทย และไต้หวัน 2,720, 1,407, และ 990 ตัน สัดส่วนร้อยละ 24.5, 12.7 และ 8.9 ตามลำดับ

มะม่วงจากเม็กซิโกมีจำหน่ายในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปริมาณมากในช่วงเดือนมีนาคม- กรกฎาคม มะม่วงจากฟิลิปปินส์ และไทยมีจำหน่ายทั้งปี โดยมะม่วงไทยมีปริมาณมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน

ราคานำเข้า (CIF)เฉลี่ยปี 2552 ของมะม่วงจากฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก ใกล้เคียงกัน ราคา 312-326 เยนต่อกก. ขณะที่มะม่วงจากไทย และไต้หวัน ซึ่งรสหวานกว่า ราคาเฉลี่ย 502 และ 628 เยนต่อกก.

มังคุด ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของมังคุด ปี 2548 มีปริมาณ 237 ตัน ลดลงมาปริมาณน้อยที่สุดเหลือ 69 ตันในปี 2551 สำหรับปี 2552 ปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 97 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 41.6 ผลผลิตมีจำหน่ายในช่วงเดือนมกราคม-กรกฏาคม

ราคานำเข้า (CIF) ปี 2552 เฉลี่ย 624 เยนต่อกก.

ทุเรียน ญี่ปุ่นนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยเพียงแหล่งเดียว ทุเรียนมีจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง และส่วนใหญ่จำหน่ายทั้งผล ไม่นิยมแกะจำหน่าย เนื่องจากผู้ค้าปลีกเกรงว่าอาจส่งกลิ่นรบกวนผู้บริโภคบางรายที่ไม่ชอบ ปริมาณการนำเข้าโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2552 ซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าทุเรียนไทยปริมาณ 130 ตัน ราคาเฉลี่ย 292 เยนต่อกก.

มะพร้าวอ่อน ปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้ามะพร้าวปริมาณ 355 ตัน โน้มลดลงจาก 948 ตันเมื่อปี 2548 แหล่งนำเข้าสำคัญคือ ฟิลิปปินส์ และไทย โดยฟิลิปปินส์ครองสัดส่วนประมาณ 2ใน 3 ไทยมีสัดส่วน 1 ใน 3

ราคานำเข้าเฉลี่ยปี 2552 มะพร้าวจากฟิลิปปินส์ราคา 52 เยนต่อกก. ของไทยราคา 91 เยนต่อกก. กล้วย ปกติญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยปีละประมาณ 1 ล้านตัน ปี2552 ปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 ล้านตัน ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับหนึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 รองลงมา คือ เอกวาดอร์สัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ปี2552 ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยจากไทย 2,317 ตันเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 1.7

ราคานำเข้าเฉลี่ยปี 2552 กล้วยจากฟิลิปปินส์ และเอกวาดอร์ ราคาใกล้เคียงกัน คือ 75 และ 72 เยน ต่อกก.

กล้วยจากไทยราคาเฉลี่ย 103 เยนต่อกก.

สับปะรด ญี่ปุ่นนำเข้าสับปะรดปีละ 1.4 - 1.6 แสนตัน นำเข้าจากฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 98

4. การค้าในประเทศ และ ระดับราคา

สถานที่จำหน่ายปลีกผลไม้ในญี่ปุ่น มีทั้ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีผลไม้หลากหลายชนิดจำหน่ายทั้งผลไม้สดทั้งผล และผลไม้แบ่ง/หั่นชิ้น นอกจากนี้มีร้านจำหน่ายผัก-ผลไม้โดยเฉพาะ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อบางแห่งนอกจากจำหน่ายผลไม้หั่นชิ้นพร้อมรับประทาน มีผลไม้บางชนิดเช่น กล้วย ส้ม แอปเปิล เป็นต้น วางจำหน่ายด้วย

ราคาขายปลีกผลไม้โดยทั่วไปเป็น ดังนี้

  • มะม่วง ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก ราคา 200-400 เยน ต่อผล มะม่วงไทย ราคา 290-500 เยนต่อผล
  • มังคุด ราคา 80-150 เยนต่อผล
  • ทุเรียน ราคา 2,500 - 4,000 เยน ต่อผล
  • มะพร้าว มะพร้าวอ่อนที่มีเปลือกชั้นใน ราคา 300-500 เยนต่อผล ขณะที่มะพร้าวเผาซึ่งปลอกเปลือกจนถึงกะลา ราคา 100-200 เยนต่อผล
  • กล้วย ราคาผลละ 30-100 เยน
  • องุ่น บรรจุเพค ราคาประมาณ 1,000-1,500 เยนต่อกก.
  • ส้ม ราคา 200- 1,000 เยนต่อกก.
  • สตรอเบอรรี่ ราคา 300-700 เยนต่อแพค(ประมาณ 300 กรัม)
5. มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

5.1 มาตรการด้านภาษี

ญี่ปุ่นเก็บภาษีผลไม้แตกต่างกันไปตามชนิด อัตราที่เรียกเก็บอยู่ระหว่างร้อยละ 0- 32 และผลจากความตกลง JTEPA ญี่ปุ่นได้เปิดตลาดผลไม้ให้แก่ไทย คือ

  • ยกเลิกภาษีทันทีตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2552 แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง ทุเรียน มะม่วง มังคุด มะพร้าว
  • ให้โควตาปลอดภาษีสำหรับ กล้วย ปีแรก 4,000 ตัน ทยอยเพิ่มเป็น 8,000 ตันในปีที่ 5 ภาษีนอกโควตาอัตราร้อยละ 10 กรณีนำเข้าช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน อัตราร้อยละ 20 กรณีนำเข้าช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม
  • ให้โควตาปลอดภาษีสำหรับ สับปะรด(จำกัดน้ำหนักผลละไม่เกิน 900 กรัม) 100 ตันในปีที่ 1 และเพิ่มเป็น 500 ตันในปีที่ 5 อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 17

5.2 มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี

ผลไม้สดจากประเทศไทยที่อนุญาตให้นำเข้า มีเพียง 6 ชนิด คือ มะม่วง (อนุญาตเฉพาะพันธุ์ หนังกลางวัน พิมเสน น้ำดอกไม้ มหาชนก และแรด) มังคุด ทุเรียน สับปะรด มะพร้าว และกล้วย

ญี่ปุ่นมีกฎหมายควบคุมการนำเข้าผลไม้สด คือ กฎหมายป้องกันโรคพืช (Plant Protection Law) กฎหมายสุขอนามัยของอาหาร (Food Sanitation Law) และกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานและการปิดฉลากของสินค้าเกษตร และป่าไม้ (The Law Concerning Standardization and Proper Labeling of Agriculture and Forestry Product) สรุปข้อกำหนดสำคัญในการนำเข้า ดังนี้

1) มาตรการการป้องกันโรคระบาดในพืช

  • ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค แมลงที่มีพิษหรือมีอันตราย การนำเข้าผลไม้ชนิดที่มีการระบาดของแมลงที่มีพิษหรือมีอันตรายจะต้องผ่านการพิจารณาและตรวจสอบที่ด่านกักกันพืช ภายใต้ Plant Protection Law
  • ผู้นำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ต้องยื่นคำร้องขอรับการตรวจสอบสินค้านำเข้า (Plant Import Inspection Application) ต่อด่านกักกันพืช โดยต้องแสดงใบรับรอง อาทิ Plant Epidemic Prevention Certificate จากหน่วยงานรับผิดชอบของไทยคือ กรมวิชาการเกษตร หากสินค้าไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบที่ด่านกักกัน เช่น มีการพบสิ่งเจือปนที่ติดมากับสินค้า หรือความเสียหายจากแมลงที่มีพิษหรือมีอันตราย ก็จะต้องนำไปผ่านการกำจัดการติดเชื้อโรค (Disinfection) หรือ กำจัดแมลงด้วยกระบวนการรมควัน (Fumigation)
  • การกำจัดแมลงด้วยกระบวนการรมควัน (Fumigation) จะต้องได้รับการดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษในการป้องกันโรคระบาด ณ จุดรับตรวจสินค้านำเข้า โดยผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย

2) การตรวจสอบภายใต้กฎหมายสุขอนามัยของอาหาร (Food Sanitation Law)

  • ภายหลังการตรวจสอบมาตรการการป้องกันพืช ผู้นำเข้าจะต้องยื่นเอกสารแสดงความประสงค์นำเข้าอาหาร (Food Import Notification) จำนวน 2 ฉบับ ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบอาหาร ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ ณ ด่านกักกัน หากผ่านการตรวจสอบตามที่กำหนดใน Food Sanitation Law แล้ว จะมีการประทับตรารับรอง "notified" ที่เอกสาร Food Import Notification และคืนเอกสารนั้นให้แก่ผู้นำเข้า
  • ประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานการควบคุมระดับสารเคมีตกค้างในสินค้าผักและผลไม้ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสามารถอ้างอิงได้จาก Food Sanitation Law และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

3) ระบบการควบคุมของกฎหมายเกี่ยวเนื่องกับมาตรฐานและฉลากของสินค้าเกษตรและป่าไม้ (The Law Concerning Standardization and Proper Labeling of Agriculture and Forestry Products หรือ JAS Law)

-ตามข้อกำหนดใน JAS Law ผักและผลไม้สดจะต้องมีการติดฉลากแสดงชื่ออาหารและประเทศที่ผลิต ส่วนอาหารที่ผ่านการแปรรูปต้องมีฉลากแสดงชื่อของอาหาร ส่วนประกอบ ปริมาตรสุทธิ ผู้ผลิต วันที่หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา และ อื่นๆ

  • ในการประทับตราสัญลักษณ์ JAS ผู้นำเข้าสามารถยื่นใบสมัครต่อหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนให้การตรวจรับรองมาตรฐาน JAS Law (JAS Grading Organization) เพื่อนำตราสัญลักษณ์ JAS มาแสดงในสินค้า แต่การนำตราสัญลักษณ์ JAS มาแสดงในสินค้านั้นไม่ใช่ข้อบังคับ
  • สำหรับผักและผลไม้อินทรีย์ (Organic) ในการนำเข้าและจำหน่ายจะต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Organic JAS Standard และต้องแสดงตรา Organic JAS ที่ผลิตภัณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
6 . อุปสรรคและโอกาสสำหรับผลไม้ไทยในตลาดญี่ปุ่น
  • ผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าตลาดญี่ปุ่นได้ จำกัดเพียงไม่กี่ชนิด และสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้า ก็เคร่งครัดเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร เข้มงวดในการการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง เพื่อขยายการส่งผลไม้ไทยเข้าตลาดญี่ปุ่น จึงต้องรักษาคุณภาพ ควบคุมสารเคมีตั้งแต่การผลิตในสวน นอกจากนี้ ผู้บริโภคญี่ปุ่นเองก็ต้องการความมั่นใจ ความปลอดภัย คุณภาพ ความสดและสวยงามของสินค้า การบรรจุ และการขนส่งจึงต้องพิถีพิถัน และควรระบุแหล่งผลิตกำกับไว้เป็นข้อมูลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ ที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น
  • ผลไม้ไทยที่จำหน่ายปลีกในตลาดญี่ปุ่น กำหนดราคาต่อผล ดังนั้น ผลไม้ในแต่ละ lot ตัองคัดเลือกขนาดให้ได้มาตรฐานเดียวกัน
  • ไทยมีจุดแข็งที่มีผลไม้หลากหลายชนิด การวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ใช้จุดเด่นจากคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ รวมทั้ง ดัดแปลงผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและรสชาติที่ตลาดนิยม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป หรือเมนูใหม่ๆ นอกจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังลดขั้นตอนการตรวจสอบการนำเข้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้วต้องเป็นไปตาม Food Sanitation Law เท่านั้น ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบตาม Plant Protection Law

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ