เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส : ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วงวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ของเอเชียเมื่อปี 2540 ซึ่งแพร่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้น เกาหลีใต้ก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าประเทศไทย และจำเป็นต้องเข้าโปรแกรมติวเข้มเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้คำแนะนำของ IMF ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ที่ทำให้เกาหลีใต้ลึกขึ้นยืนอีกครั้งในฐานะประเทศที่ครองตลาดอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์

ชาวเกาหลี มีความเป็นชาตินิยมสูงเมื่อถึงเวลาที่ต้องผนึกกำลังและปฎิรูป ภาครัฐและเอกชนต่างก็ร่วมมือร่วมใจเพื่อนำพาชาติไปสู่เป้าหมาย อุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ได้ค่อยๆ ปรับไปสู่อุตสาหกรรมที่รัฐบาล-เอกชนร่วมกันกำหนดบนพื้นฐานศักยภาพการผลิตของตนเอง และมุ่งสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโต การปฎิรูปที่ดำเนินไปนับแต่ทศวรรษ 1990 ตลอดมาถึงปัจจุบัน ภายใต้การทำงานใกล้ชิดกับ IMF เกาหลีได้เลือกอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ และยานยนต์ ให้เป็นอุตสาหกรรมแห่งชาติ และวางเป้าหมายมุ่งขยายตลาดไปยังกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่อำนาจซื้อขยาย

ระยะเวลา 10 ปีนับแต่วิกฤตการเงินในเอเชีย สินค้าของเกาหลีใต้มีอำนาจแข่งขันสูงขึ้น เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ของเกาหลีประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถเข้าไปแทนที่คู่แข่งชั้นนำที่ครองตลาดมานานอย่างญี่ปุ่น กล่าวคือ ในปี 2552 Samsung Electronics สามารถแย่งตำแหน่งก้าวขึ้นเป็นผู้นำครองส่วนแบ่งสูงสุดอันดับ 1 ของโลกในสินค้า Flat-panel TVs (ญี่ปุ่นตกลงไปอยู่อันดับ 3 รองจาก Samsung Electronics และ LG Electronics); DRAMs, Liquid-crystal display panels (อันดับ 2 - LG และอันดับ 3 — Sharp) บริษัท Samsung Electronics และ LG Electronics ของเกาหลี ได้ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 และ 3 ในสินค้า Mobile phone (รองจาก Nokie ของฟิลแลนด์ที่ยังครองอันดับ 1) ยานยนต์ของเกาหลีใต้สามารถยกระดับคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ทำให้รถยี่ห้อ Hyundai Motor มียอดขายสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจาก Toyota Motor และ General Fords ตามลำดับ)

ความสำเร็จที่ปรากฎนี้ คงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการช่วยเหลือของภาครัฐเท่านั้น หากเป็นผลจากการรู้จักจุดแข็งของตนเอง รู้จักเสียสละ และร่วมมือกันเพื่อให้สินค้าของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จและเป็นเลิศในตลาดสากลกลยุทธ์ที่น่าสนใจและควรเรียนรู้ ได้แก่

  • ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในตลาดโลก วิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อยู่ในสภาพล้มละลาย เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยค่าเงินวอนที่ตกต่ำลงอย่างรดวเร็ว หลายบริษัทกลายเป็น NPL (หนี้ที่ไม่มีหลักค้ำประกัน) บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 แห่ง มากกว่า 10 รายจำใจต้องเลิกกิจการและออกจากธุรกิจ รายที่เหลือต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อความอยูร่ อด ทางเลือกคือ การคงไว้เฉพาะธุรกิจที่เป็นหัวใจของบริษัท (Core business) ทำให้ธุรกิจหลายสาขาของเกาหลีเข้าสู่สภาวะผู้ค้าจำนวนน้อยรายในธุรกิจ หรือ Oligopoly วิธีนี้สร้างประโยชน์ให้บริษัทที่ยังคงอยู่รอด เพราะจะสามารถออกไปทำธุรกิจสู้กับต่างชาติในตลาดต่างประเทศได้โดยไม่ต้องกังวลกับคู่แข่งขันในประเทศค่าเงินวอนที่ตกต่ำลงได้ช่วยเพิ่มอำนาจแข่งขันของสินค้าจากเกาหลีในตลาดโลก ผลคือทีวีจอแบน ของ Samsung Electronics Co., Ltd. สามารถแย่งตลาดจาก Sharp Corp. และ Royal Philips Electronics NV ขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2549 จากนั้นก็ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมๆ ด้วยการลงทุนเพิ่มในสาขาที่เป็น Core business นี้
  • มุ่งออกไปเติบโตในต่างประเทศ เกาหลีใต้เป็นตลาดขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องอาศัยตลาดโลกเพื่อการเติบโต นโยบายของรัฐบาลยังช่วยเสริม โดยมีบทบาทต่อการคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพสูงเพียง 1 หรือ 2 บริษัทในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (each product category) ที่จะให้เป็นตัวแทนออกไปแข่งในต่างประเทศ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับเลือก ได้แก่ Samsung Electronics, LG Electronics Inc. และ Hyundai Motor Co., และเพื่อให้แข่งขันได้ รัฐบาลได้ลดภาษีธุรกิจ (Corporate tax) ลงเหลือ 24.2 % (ต่ำกว่าญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 40.69 % ) ทำให้บริษัทของเกาหลีใต้มีเงินพอสำหรับการลงทุนเพิ่มเพื่อการวิจัยและ
พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับ lifestyle ของแต่ละตลาดเป้าหมาย
  • เจาะเข้าตลาดที่กำลังเติบโต เกาหลีเลือกเข้าไปแข่งขันในตลาดใหญ่ของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง และตลาดใหม่ที่กำลังซื้อเติบโต ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสินค้าคุณภาพปานกลาง ความคุ้มค่าเงินของสินค้าเกาหลีทำให้ สัดส่วนในการส่งออกของเกาหลี ไปยังตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มขึ้นจาก 3.9 % เมื่อปี 2543 เป็น 5.0% ในปี 2552 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของญี่ปุ่นในกลุ่มเดียวกันได้ลดลงจาก 8.9 % เหลือ 6 % เกาหลียังกระจายตลาดจากแหล่งส่งออกเดิมๆ ไปยังกลุ่ม BRICs เพิ่มขึ้นด้วย
  • สร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ บริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่าง Samsung Electronics ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ขององค์กรได้ศึกษา หน่วย R&D ของบริษัทมีพนักงานมากกว่า 25,000 คน ใช้เงินลงทุนถึง 2.1 ล้านล้านเยน (Trillion yen) บริษัทยังให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีความสามารถ เพื่อส่งไปเรียนในประเทศเป้าหมายเพื่อเรียนรู้วิธีคิด เข้าใจความต้องการของตลาด และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มบุคคลที่เป็นประโยชน์ เกาหลีใต้ยังใช้นโยบายรวบรวม และจูงใจผู้มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ซื้อตัววิศวกร และนักบริหารมือดี มีประสพการณ์ที่ทำงานในบริษัทของญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพื่อนำความรู้นั้นมาพัฒนาสินค้าของบริษัท

กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตของเกาหลีและการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ของโลก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มตระหนักชัดว่า เทคโนโลยีที่ก้าวทันกันอย่างรวดเร็ว ความโดดเด่นของจีนและเกาหลีในฐานะคู่ก็ปรากฎภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และ ญี่ปุ่นคงไม่สามารถหลีเลี่ยงการแข่งขันราคากับสินค้าจากจีน และเกาหลี แต่ควรปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากที่เคยทุ่มเทและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคการผลิต ทีวี คอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์มาสู่การจับตลาดระดับกลาง และผลิตสินค้าที่แต่ละตลาดต้องการ

การวิจัยของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น (METI) พบว่าในปี 2551 ครัวเรือนที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-35,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีมีจำนวนมากถึง 880 ล้านคน ใน 11 ประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า จากปี 2533 โอกาสขายสินค้าจึงมหาศาล ผู้ผลิตเกาหลีได้พยายามเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้และใช้ยุทธ์วิธีขายในราคาถูกกว่าสินค้าจากคู่แข่ง เช่น ญี่ปุ่น ขณะนี้บริษัทญี่ปุ่นเริ่มเลียนแบบ และใช้จุดแข็งที่มีเพื่อเจาะตลาดกลุ่มรายได้ปานกลางและเพิ่มความพยายามที่จะพัฒนาสินค้าเฉพาะอย่างที่สอดคล้องกับวิถีชิวิตของผูซื้อในแต่ละตลาดมากขึ้น

การเข้ามาแข่งขันในตลาดสินค้าสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางของญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งมีอัตราเติบโตสูงนี้ เชื่อว่าเป็นที่จับตามอง และได้รับความสนใจจากชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ จีน จึงเป็นการเพิ่มดีกรีความเข้มข้นและรุนแรงของการแข่งขันในตลาดสากล หนทางของการอยู่รอด จึงต้องอาศัยการเรียนรู้จากคู่แข่ง พร้อมๆ กับต้องปรับกลยุทธ์ทั้งการผลิตและการตลาด มุ่งจับลูกค้าเฉพาะกลุ่มและพิจารณาขยายฐานออกไปลงทุน ทำธุรกิจในพื้นที่ที่เป็นตลาดเป้าหมาย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ