เรือ Dhow การค้าชายฝั่งของยูเออี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 3, 2010 15:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ชาวอาหรับรู้จักเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศมาหลายพันปีแล้ว การเดินเรือค้าขายทางทะเลเริ่มด้วยเส้นทางที่เดินเรือง่ายตามริมฝั่งทะเล และค่อยพัฒนาขึ้นมาจากการศึกษาพฤติกรรมของการใช้ลมมรสุม ทำให้เกิดการค้าข้ามเขตแดน และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าได้ใช้เรือขนสินค้าจากจีนไปตะวันออกกลาง หรือที่รู้จักกันว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล”

โดยเมื่อไม่นานนี้ ได้มีชาวประมงอินโดนีเซียได้พบซากเรือโบราณหรือ Dhow อายุ 1,200 ปีของชาวอาหรับ ซึ่งเต็มไปด้วยสมบัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องลายคราม ทอง เงิน ทองสัมฤทธ์ ที่มีมากกว่า 62,000 ชิ้น จากซากเรือดังกล่าวที่ถูกพบกลางมหาสมุทรแถบอินโดนีเซียนั้น เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเดินเรือ

สินค้าที่ค้าขายระหว่างกันในสมัยโบราณ ได้แก่ ไหม อำพัน ต่อมาเป็นเครื่องเทศที่เป็นสินค้าสำคัญจากอินเดียส่งไปยังตะวันตก และจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขนส่งผ่านน่านน้ำอาหรับ เมืองท่าสำหรับสำหรับการเดินทางในอดีตได้แก่ เมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์ เมืองท่าเอเดนในเยเมน ซิราฟในอิหร่าน หมู่เกาะโมลุกกะ (มะละกาในอินโดนีเซีย) ที่มีป่าฝน จึงอุดมไปด้วย สาคู ข้าว และเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น ลูกจันทน์เทศ ดอกจันทน์เทศ และกานพลู

เช่นเดียวกันสินค้าจากตะวันออกไกลขนส่งโดยผ่านทางเมืองท่าของอินเดียและศรีลังกา บางครั้งก็จะส่งต่อไปยังแอฟริกาตะวันออก เพื่อใช้ในจุดประสงค์หลายอย่างที่รวมทั้งประเพณีการทำศพ โดยมี Zanzibar ในแอฟริกาเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขายทางเรือ ซึ่งส่วนมากจะติดต่อค้าขายกันระหว่างชาวอาหรับ อินเดีย และแอฟริกาเหนือ (ซึ่งต่อไปยุโรปอีกที) และแอฟริกาที่เป็นแผ่นดินใหญ่ ชาวอาหรับเป็นนักเดินเรือที่สามารถและชำนาญ นักเดินเรืออาหรับที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ อิบบิน บัฏฏูเฏาะหฺ (Ibn Battutah ) นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ชาวมอร็อคโค ที่ได้เดินทางไปทั่วโลกตั้งแต่สเปน ถึงคอนสแตนติโนเปิล จนจรดชายแดนเมืองจีน เดินทางทั้งหมดเป็นระยะทาง 75,000 ไมล์โดยใช้เวลา 29 ปี และได้บันทึกการเดินทางไว้ในหนังสือชื่อ "อัลริฮ์ลา" (al-Rihlah) หรือ "การเดินทาง"

เรือ Dhow หรือออกเสียงว่าดาวว์ เป็นเรือใบรูปสามเหลี่ยมเสาเดียวต่อด้วยไม้ ที่คนในอ่าวอาหรับและแอฟริกาใช้มาแต่โบราณปัจจุบันยังพบเห็นอยู่ในแถบมหาสมุทรอินเดีย อ่าวอาหรับ และอัฟริกา ในสมัยโบราณแล่นโดยใช้ลมมรสุมฤดูร้อนเพื่อเดินทางไปทางทิศเหนือ ลมมรสุมฤดูหนาวไปทิศใต้ เดินทางขึ้นลงบริเวณชายฝั่งอัฟริกาตะวันออก จากทะเลแดงไปหมู่เกาะเครื่องเทศของอินโดนีเซีย คำว่า เรือดาวว์นั้นครอบคลุมเรือทุกชนิดขนาดเล็กระวางบรรทุกสินค้า 75 ตัน บรรทุกลูกเรือได้ 12 คน จนถึงขนาดใหญ่บรรทุกทุกสินค้า 200 ตัน รองรับลูกเรือได้ถึง 30 คน เป็นเรือสำหรับเล่นในน้ำทะเลลึก ด้านหน้าเรือเป็นพื้นที่กว้างสำหรับวางสินค้า ท้ายเรือมีเคบินสูง มี 2 ชั้น 5 หน้าต่าง ๖คล้ายเรือเอี๊ยมจุ๊นแต่ขนาดของเรือ Dhow ใหญ่กว่า)

ไม่ทราบแหล่งกำเนิดเรือดาวว์ที่แน่นอนมากจากประเทศไหน ประมาณว่าคล้ายกับเรือไม้ที่เล่นอยู่ในทะเลแดงและอ่าวอาหรับ (หรืออ่าวเปอร์เซีย) ในมหาสมุทรอินเดียระหว่างมาดากัสกาและอ่าวเบงกอลเมื่อ 200 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันพบเห็นเรือดาวว์ได้ตามท่าเรือรอบมหาสมุทรอินเดีย บริเวณคลองขุดดูไบมีเรือดาวว์จอดเรียงราย ทั้งเรือดาวว์สำหรับบริการนักท่องเทียว เรือดาวว์สำหรับขนสินค้าไปประเทศอิหร่าน โซมาเลีย อิรัค และทางตอนใต้ของอินเดีย เรือดาวว์ขนาดเล็กสำหรับทำการประมง และงมหอยมุกเมื่อ 40 ปี ที่ผ่านมา

รูปแบบเรือดาวว์ที่ยังเอกลักษณ์รูปแบบโบราณรวมทั้งวิธีการต่อเรือดาวว์โดยไม่ใช้ตะปูก็ยังคงรักษาไว้ การต่อทำโดยใช้ไม้แผ่นยึดไว้ให้ติดกันโดยใช้ไม้ลักษณะที่ยืดหยุ่นได้ อาทิ รากไม้ หรือกิ่งไม้ที่โอ่นอ่อนคล้ายกิ่งหลิว ซึ่งเทคนิคการต่อเรือแบบนี้นิยมใช้แพร่หลายทั่วไปในช่วงศตวรรษ ที่ 15 ที่เรียกว่า เทคนิคต่อเรือโดยใช้มือเย็บ หรือ "sewn boats" เรือภายนอกยึดไว้ด้วยการเย็บเช่นกัน และดามด้วยไม้อีกชั้นเพื่อความแข็งแรงคงทน

สำหรับประเทศในอ่าวอาหรับที่ไม่มีไม้เนื้อแข็ง แต่จะใช้ไม้จากต้นมะพร้าว ต้นและใบอินทผาลัม ต้นนุ่นในอินเดีย ปัจจุบันการต่อเรือดาวว์แบบอนุรักษณ์ของประเทศในอ่าวอาหรับ เช่น คูเวต โอมาน ยูเออี นิยมใช้ไม้ที่นำเข้าจากอัฟริกา ในยูเออีมีโรงต่อเรือดาวว์แบบโบราณใช้มือประกอบในรัฐราสอัลเคห์มาห์ เรือดาวว์ขนาดความยาว 30 เมตรสูง 19 เมตร ใช้คนงาน 17 คนในเวลา 2 ปี ราคาเรือลำละ 680,000 เหรียญสหรัฐฯ

รัฐดูไบกับการขนส่งโดยเรือดาวว์

รัฐดูไบตั้งอยู่บนชายฝั่งอ่าวอาหรับ(เปอร์เซีย) ทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีคลองดูไบ (Dubai creek) เชื่อมจากทะเลอ่าวอาหรับทอดตัวผ่านเมืองจากทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่ตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณชายฝั่งคลองด้านตะวันออกเรียกฝั่งเดียร่า มีเรือขนสินค้าแบบพื้นเมืองหรือเรือ Dhow จอดเรียงรายรับสินค้าเพื่อขนส่งไปประเทศ อิหร่าน อิรัค ปากีสถาน อินเดีย โอมาน เยเมน โซมาเลีย และโอมาน แยกเป็นท่าสำหรับส่งสินค้าไปแต่ละประเทศ อาทิ ท่าบริเวณหน้าตลาดขายส่ง Murshid Bazar สำหรับขนสินค้าไปอิหร่าน ถัดมาเป็นท่าของเยเมน บริเวณติดกับท่าเรือข้ามฟาก Abbra เป็นท่าเรือขนสินค้าไปโซมาเลีย สุดท้ายใกล้สะพานมัคตูมเป็นท่าเรือขนสินค้าไปอิรัค เป็นต้น ในอดีตบริเวณนี้เป็นเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการทำประมงหอยมุกและค้าขายมุก

Arabian pearl ซึ่งปัจจุบันเป็นของหายากไปแล้ว เป็นที่จอดเรือพักหลบคลื่นลม เนื่องจากการเดินเรือค้าขายในสมัยก่อนเป็นไปตามฤดูกาลของลมมรสุม ทำให้ต้องอาศัยอยู่ที่ชุมชนนั้น ๆ เป็นเวลาแรมเดือนแล้วจึงเดินเรือต่อไปเมื่อหมดฤดูมรสุม การค้าขายของดูไบจึงเริ่มบริเวณนี้ H.H. Shaikh Rashid bin Saeed Al Maktoum ผู้ครองรัฐดูไบคนแรก จึงดำริให้ขุดคลองให้ลึกและกว้างขึ้น เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ระวางบรรทุก 500 ตันสามารถเข้าไปจอดขนถ่ายสินค้า และสร้างสะพานมัคตูมเชื่อมระหว่างฝั่ง Diera และ BurDubai สำหรับรถขนน้ำมันคลอง Dubai creek มีความยาว 14 กม. มีท่าจอดเรือ 8 แห่ง แต่ละแห่งสามารถจอดเรือได้ 31 ลำ ระวางบรรทุกได้ถึง 800 ตัน มีสินค้าขนส่งในบริเวณนี้รวมกันประมาณ 720,000 ตัน ต่อปี เรือดาวว์เท่านั้นที่อนุญาตเข้าไปรับสินค้าในบริเวณนี้ได้เพื่อคงเอกลักษณ์การค้าขายแบบโบราณไว้

ปัจจุบันเรือ Dhow ใช้เครื่องยนต์แทนเรือใบ แต่อย่างไรก็ตามในฤดูมรสุมไม่อนุญาตให้เรือฯเหล่านี้เดินทาง ส่วนเรือที่ขนสินค้าไปโซมาเลียเคยถูกโจรสลัดโซมาเลียจับ เจ้าของเรือ Dhow ได้บอยคอตงดส่งสินค้าและเลิกค้าขายด้วย ในที่สุดโจรสลัดโซมาเลียได้ปล่อยเรือดังกล่าว

สินค้า&วิธีการรับ/ส่งปัจจุบัน

วิธีรับสินค้า

เมืองหลวงคือกรุงอาบูดาบีมีน้ำมันส่งออกสร้างรายได้ ส่วนรัฐดูไบ ชาร์จาห์ และรัฐเล็กๆตอนเหนือประเทศ ไม่มีทรัพยากรน้ำมัน ทุกรัฐจะมีท่าเรือขนาดเล็กสำหรับเรือ Dhow เพื่อขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ไปอิหร่านที่มีประชากรกว่า 66 ล้านคน

การรับสินค้าที่เรือจะมีป้ายแจ้งเบอร์โทรศัพท์ของกัปตันเรือติดไว้ บางครั้งมีโต๊ะตั้งอยู่บนท่าตรงที่จอดเรือ เมื่อลูกค้าที่เป็นพ่อค้าจากต่างประเทศที่มีซื้อสินค้าแบบ Cash & carry รวมทั้งบริษัทนายหน้ารับซื้อหาสินค้าให้ลูกค้าในต่างประเทศ บริษัท shipping นำของมาส่ง(พร้อม Packing list) จะกองวางไว้บนท่ารอให้ลูกเรือขนของขึ้นเรือ หากเป็นสินค้าส่วนบุคคลนิยมบรรจุในถังพลาสติก (Casket) เมื่อกัปตันรับของเต็มเรือก็จะนำเอกสารไปแสดงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ที่ Mobile Office ศุลกากรอยู่บริเวณเดียวกัน พอเรือออกเดินทางจะมีการตรวจเอกสาร และตรวจลูกเรืออีกครั้งที่ท่าเรือ Hamariya ของดูไบกัปตันและลูกเรือมาจากหลายชาติ อาทิ อินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน ค่าแรงที่ได้รับน้อยมาก กัปตันได้เงินเดือน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือนเท่านั้น

ชนิดของสินค้า

สินค้าจากยูเออีไปอิหร่านโดยใช้เรือ Dhow นั้นคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของการนำเข้าทั้งสิ้นของอิหร่าน ในบรรดาสินค้าที่ขนข้ามพรมแดนได้แก่ สินค้าจำเป็นประจำวัน เช่น น้ำตาล, น้ำมันพืช, แป้ง, ขนมขบเคี้ยว, ผ้าอ้อมเด็ก จนไปถึงเสื้อผ้า ข้าว เครื่องดื่ม อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษ กระดาษลูกฟูก และเยื่อกระดาษ สิ่งพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง ที่นอน เบาะรองนั่ง โคมไฟและสิ่งให้แสงสว่างอื่นๆ วัสดุอุปกรณ์สร้างบ้าน สีทาบ้าน ยางรถยนต์ อะไหล่รถยนต์ ผ้าผืน และของเล่น

สินค้าอีกกลุ่มที่นิยมส่งทางเรือนี้เป็นสินค้ามือสอง ( second hand goods) อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ เครื่องจักร์ รถบรรทุก รถยนต์ รถยก(Folklift) เฟอร์นิเจอร์ ระยะเวลาที่ใช้เดินทางจากดูไบไปเมืองบันดาอับบาส ประเทศอิหร่านประมาณ 24 ชั่วโมง ไปโซมาเลียใช้เวลา 7 วัน

การค้ากับอิรัค

ในช่วงที่อิรัคถูกคว่ำบาตร เรือ Dhow มีนัยสำคัญทางการค้าระหว่างดูไบกับอิรัค เพราะมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดลักลอบส่งผ่านทางเรือดาวว์ โดยใช้เส้นทางน่านน้ำ Shatt Al-Arab ของอิรัค-อิหร่าน เพื่อหลบเลี่ยงเรือลาดตระเวนสหรัฐฯ ส่งสินค้าที่ท่า Umm Qasar เมือง Bassara ทางตอนใต้ของอิรัค เที่ยวกลับเรือ Dhow ลักลอบขนน้ำมันจากอิรัคกลับไปดูไบ หรือถ่ายขึ้นเรือขนน้ำมันกลางทะเล ดูไบจึงเป็นฐานฟอกเงินและแหล่งลงทุนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงอิรัค ตึกสูงหลายแห่งมีเจ้าของเป็นคนอิรัคมากมายในดูไบ

หลังจากที่สหรัฐฯและพันธมิตรเข้าไปปกครองอิรัคในช่วงแรก เรือ Dhow จากยูเออี สามารถ ขนสินค้าเข้าไปป้อนตลาดอิรัคอย่างเสรี การนำเข้าสินค้าไม่มีกฎระเบียบควบคุม มีพ่อค้าอิรัคจำนวนมากเข้าไปเปิดบริษัทในดูไบสั่งซื้อสินค้าแล้วรวบรวมส่งทางเรือ Dhow ไปอิรัค สินค้ายอดนิยมคือรถยนต์ใหม่และชนิดมือสอง เพราะในสมัยพรรคการเมือง Baath ของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้รวบกิจการนำเข้ารถยนต์ทุกชนิดเป็นของรัฐ

Car Dealers ในดูไบส่งรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้ว (used vehicles) หลั่งไหลเข้าไปตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในอิรัค โดยลำเลียงส่งที่ท่าเรือ Umm Qasr ที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับขนถ่ายสินค้าจากเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งสามารถส่งสินค้าตามท่าเรือขนาดเล็กกลางทาง

สถาการณ์ปัจจุบัน

เรือ Dhow ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งสินค้าอุปโภค บริโภคไปตลาดเพื่อนบ้านของยูเออี วิธีการค้าส่วนใหญ่เป็นระบบครอบครัว หรือสั่งซื้อโดยไม่มีเปิดเอลซี ( unreported, re-export trade) ลูกค้าในอิรัค อิหร่าน หรือโซมาเลียก็ดี แจ้งความต้องการสินค้ากับพ่อค้าในยูเออีเพื่อรวบรวมสินค้าส่งทางเรือ Dhow และชำระค่าสินค้าโดยระบบ“โพยก๊วน”หรือในยูเออีเรียกว่า Hawala (การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยการโอนผ่านระบบใต้ดิน)

หลังจากยูเอ็นประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน นั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกต่อของยูเออีโดยเฉพาะดูไบแล้ว ทำให้ธุรกิจเรือขนสินค้าพื้นเมืองขนาดเล็กหรือเรือ Dhow ที่รับขนส่งสินค้าจากดูไบส่งไปอิหร่านที่เกาะ Kish และเมืองท่า Bandar Abbas ลดลงกว่า 70%

การขนส่งด้วยเรือชายฝั่งนับเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ประกอบการในยูเออี ปัจจุบันการขนส่งสินค้าชายฝั่งได้รับการพัฒนาหลายประการ อาทิ รัฐบาลตั้ง Mobile office ของกรมศุลกากรหลายจุดขึ้นจัดโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ติดตั้งเครนและเครื่องมือขนถ่ายสินค้าที่เหมาะสมกับสินค้า ขุดลอกร่องน้ำไม่ให้ตื้นเขิน ทำให้ผู้ประกอบการเรือสามารถบรรทุกสินค้าได้เต็มความสามารถ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ต้นทุนที่ถูกที่สุดและไม่ติดปัญหากฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อสามารถขยายการส่งออกต่อได้มากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ยูเออี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ