โอกาสและลู่ทางธุรกิจก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างในแอฟริกาตอนใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 11:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โอกาสและลู่ทางธุรกิจก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างในแอฟริกาตอนใต้

(South Africa, Angola, Mozambique, Mauritius, Botswana, Namibia, Swaziland, Lesotho, Zambia Malawi and Zimbabwe)

ภาพรวมทั่วไป ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย รับผิดชอบดูแลเขตอาณา ประกอบด้วย South Africa, Angola, Mozambique, Mauritius, Botswana, Namibia, Swaziland, Lesotho, Zambia Malawi and Zimbabwe โดยรวมแล้วมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างสูง เนื่องจากมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง บางประเทศที่เดิมมีปัญหาข้อขัดแย้งภายในประเทศ ได้พัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นและสามารถบรรลุข้อยุติความขัดแย้ง ทำให้หันมาพัฒนาประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการก่อสร้างและฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาคาร ที่พัก สำนักงาน เป็นจำนวนมาก และจากการที่มีการขยายตัวที่รวดเร็วทำให้วัสดุก่อสร้างบางประเภทไม่เพียงพอกับความต้องการจึงต้องมีการนำเข้า หรือมีโครงการที่จะขยายการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นรองรับความต้องการที่ขยายตัวมาก นอกจากนี้ส่งผลให้ความต้องการด้านสินค้าอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ตามมาอีกด้วย ทั้งนี้มีเพียงประเทศแอฟริกาใต้ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการรับงานโครงการก่อสร้างทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงสินค้าวัสุดก่อสร้างที่มีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาบริษัทรับเหมาก่อสร้างจากประเทศอื่น ตลอดจนการช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อฟื้นฟูประเทศ และรัฐบาลประเทศอื่น โดยเฉพาะปัจจุบันที่จีนที่ได้ขยายความช่วยเหลือเป็นเงินสำหรับก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นจำนวนมากในแอฟริกา ซึ่งบริษัทจากจีนจะเป็นผู้ได้รับให้ดำเนินการก่อสร้างฯ อย่างไรก็ตามธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยยังคงมีโอกาสรับงานโครงการที่ใช้เงินของรัฐบาลตนเองหรือเป็นการรับช่วงก่อสร้าง และสินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยมีโอกาสการขยายตัวไปยังตลาดแอฟริกาตอนใต้ได้อีกมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ตลาดที่มีลู่ทางและศักยภาพสำหรับธุรกิจก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างของไทยได้แก่ อังโกลา โมซัมบิกและ มอรีเชียส ส่วนประเทศแอฟริกาใต้ยังคงมีช่องทางในการนำเสนอสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีความแปลกใหม่หรือมีเทคโนโลยี่ที่ทันสมัย หรือสินค้าที่มีข้อได้เปรียบด้านราคา

แอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่และมั่นคงที่สุดในแอฟริกาและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 47.6 ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคม การลงทุน ของภูมิภาค เนื่องจากมีสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พร้อมมูล มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ -1.5 ถึง -2 ในปี ค.ศ. 2009 และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2010 จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 2 ถึง 2.7 ขณะนี้มีอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณร้อยละ 10 และอัตราการว่างงานสูงร้อยละ 25-30 (แต่ในความเป็นจริงอาจสูงถึงร้อยละ 40) ภาคการผลิต การเหมืองแร่ การเกษตร การท่องเที่ยว การเงิน และการคมนาคม เป็นภาคธุรกิจที่มีบทบาทที่สำคัญของประเทศ ธุรกิจการก่อสร้างของแอฟริกาใต้มีการพัฒนาและก้าวหน้าสูงสุดของภูมิภาคและมีความพร้อมในการรับงานด้านการก่อสร้างในประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอุตสาหกรรมการก่อสร้างขยายตัวสูงสุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีบริษัทก่อสร้างในแอฟริกาใต้ได้เข้าไปรับงานก่อสร้างหลายโครงการ ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่ดูไบ และในปีที่ผ่านมามีโครงการการก่อสร้างจากภาครัฐจำนวนมากมายหลายโครงการเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ. 2010 ซึ่งอุตสาหกรรมการก่อสร้างของแอฟริกาใต้มีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของประชากรที่มีระดับรายได้ปานกลางเพิ่มมากขึ้น มีกำลังการซื้อที่สูงขึ้น ทำให้มีความต้องการขยับขยายและย้ายที่พักให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ช็อปปิ้งมอลล์ เกิดขึ้นมากมาย และมีการแข่งขันในการให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อกับสินค้าของตนจึงมีการนำเสนอวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวก สวยงาม มีเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยและมีคุณภาพ ซึ่งถึงแม้จะมีการผลิตภายในประเทศที่หลากหลาย คุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่สินค้าวัสดุก่อสร้างบางประเภทไม่สามารถผลิตได้เพียงพอและสนองตอบติอความต้องการ ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากแหล่งอื่นด้วยเช่นกัน แต่ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศค่อนข้างสูงเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการสร้างชื่อเป็นที่รู้จัก และสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้และผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ช่องทางการจำหน่ายสำหรับสินค้าวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง โดยทั่วไปผ่านระบบการค้ารูปแบบทันสมัย (Modern Trade) ซึ่งเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างครบวงจร ทั้งอุปกรณ์ก่อสร้างและตกแต่ง เครื่องมือต่างๆ อุปกรณ์ D.I.Y. อุปกรณ์ตกแต่งสวน อุปกรณ์สระน้ำ เป็นต้น และมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งชุมชน ศูนย์การค้า ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวก ซึ่งผู้ซื้อนิยมไปเลือกซื้อสินค้าสำหรับนำไปจัดการซ่อมแซม ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมด้วยตนเอง

ธุรกิจก่อสร้าง และสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีลู่ทางและศักยภาพสูงในตลาดแอฟริกาใต้ ได้แก่ ซีเมนต์ กระเบื้องปูพื้น เครื่องสุขภัณฑ์ ซีเมนต์ไฟเบอร์ วัสดุปูพื้น วัสดุเหล็กสำหรับใช้ในโครงสร้าง

ขั้นตอน กฎระเบียบของแอฟริกาใต้

การนำเข้ามีขั้นตอนไม่ยุ่งยากนัก ซึ่งนอกจากการผ่านกระบวนการการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละประเภทของสินค้า เพื่อขอมี Import permit ที่เกี่ยวข้องโดยจะต้องได้รับก่อนวันที่ที่จะมีการส่งสินค้าออก ซึ่งใบอนุญาตนี้โดยทั่วไปมีระยะเวลา 1 ปีและไม่สามารถเปลี่ยนโอนให้ผู้อื่นได้ ทั้งนี้จะระบุประเภทสินค้าและประเทศเฉพาะที่เจาะจง สำหรับกรณีสินค้าที่แอฟริกาใต้ได้กำหนดให้มีการควบคุมและตรวจสอบให้เป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งสินค้าวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่ถูกบังคับให้จะต้องผ่านการตรวจสอบจาก The National Regulator for Compulsory Specifications (NRCS) และหากสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้สินค้านั้นจะต้องถูกส่งกลับออกไป หรือ ต้องแสดงบนฉลากสินค้าว่าเป็นสินค้าต่ำกว่าระดับมาตรฐาน (Sub-Standard) แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ปลอดภัยจะต้องทำลายทิ้งหรือส่งกลับไปเท่านั้น และเนื่องจากผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ให้ความเชื่อถือและยอมรับต่อหน่วยงานสำนักงานมาตรฐานของแอฟริกาใต้ (South African Bureau of standards (SABS)) ที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าในแอฟริกาใต้ รวมทั้งทำหน้าที่ในปาตรวจสอบและออกเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของมนุษย์ นอกจากนี้เครื่องหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่จะช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคอีกด้วย เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน

อังโกลา

อังโกลาเป็นประเทศใหญ่ ของประชากรจำนวน 17 ล้านคน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 12.46 % (ค.ศ. 2008) อัตราการว่างงานที่ระดับ 27 % (ค.ศ. 2008) มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่มั่งคั่ง ได้แก่ น้ำมัน เพชร ทองคำ ทองแดง เหล็ก แมงกานีส ยูเรเนียม และทรัพยากรประมง ในอดีตรายได้จากน้ำมันและเพชรนำไปใช้ในการซื้ออาวุธเพื่อทำสงครามต่อสู้กันเองที่ยืดเยื้อ ด้วยเหตุนี้อังโกลาจึงตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประสบปัญหาเงินเฟ้อปัญหาการขาดดุลการค้า ปัญหาหนี้สินต่างประเทศ ปัจจุบันความขัดแย้งภายในประเทศยุติลงแล้วและมีความสงบ ประกอบกับรายได้จำนวนมากจากการส่งออกน้ำมัน จึงมีการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างและสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ถูกทำลายหรือไม่ได้รับการบำรุงรักษาซ่อมแซม ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สินค้าฯส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตได้เอง ดังนั้นลู่ทางการเข้าไปรับงานก่อสร้างในอังโกลาจึงมีโอกาสสูง แต่ก็มีคู่แข่งขันเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทก่อสร้างจากปอร์ตุเกส และบราซิล ทั้งนี้ไม่รวมกับบริษัทจากจีนที่เข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆภายใต้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนที่ให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากในแต่ละปีโดยเฉพาะด้านการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน นอกจากนี้จากการขยายตัวอย่างมากของการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย ทำให้มีความต้องการสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้าง และวัสดุตกแต่ง เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการเดินทางเข้าไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศอังโกลาค่อนข้างยุ่งยาก และไม่สะดวก ปัญหาการคอรัปชั่นที่ยังคงมีอยู่สูง ปัญหาด้านภาษาในการติดต่อสื่อสารและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับปอร์ตุเกสและบราซิลทำให้ยากต่อการเข้าไปแย่งตลาด และการขาดความสนใจจากผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ทำให้การขยายตัวทางการค้าเป็นไปได้ช้า และจากนโยบายของรัฐที่ต้องการลดการพึ่งพารายได้หลักของประเทศจากน้ำมันและเพชร จึงส่งเสริมให้มีการขยายตัวของภาคการผลิตไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่ได้รีบการสนับสนุนและส่งเสริมเป็นลำดับต้นๆ ทั้งนี้เนื่องจากขาดแคลนโรงแรมที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องทางการจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างยังคงเป็นรูปแบบดั้งเดิมที่มีการจำหน่ายสินค้าทั่วไปตามย่านตลาดและแหล่งชุมชน และจากปัญหาการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพภายในประเทศและอยู่ระหว่างการพัฒนาฟื้นฟู ทำให้การกระจายสินค้ามีต้นทุนสูง ส่งผลให้ระดับราคาสินค้ามีระดับราคาที่สูงมาก

ธุรกิจก่อสร้าง และสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีลู่ทางและศักยภาพสูงในตลาดอังโกลาได้แก่ ซีเมนต์ เครื่องสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ โครงสร้างเหล็ก ท่อน้ำและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ วัสดุไม้ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องและวัสดุปูพื้น

ขั้นตอน กฎระเบียบของอังโกลา

ภาครัฐมีความพยายามที่จะต้องการให้การค้าของประเทศเป็นไปในรูปแบบของการค้าเสรี ได้มีการยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า เช่นการยกเลิกการขอใบอนุญาตนำเข้าหรือยกเลิกข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามได้นำระบบการตรวจสอบสินค้าที่ประเทศต้นทางก่อนการส่งออก (Pre Shipment Inspection (PSI)) และสำหรับโครงการก่อสร้างหากเป็นโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศอื่นก็มักดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทก่อสร้างจากประเทศนั้นๆ หรือเป็นไปตามขั้นตอนการประมูลงานขององค์การระหว่างประเทศเจ้าของแหล่งเงิน นอกจากนี้รัฐยังได้เปิดให้เข้ามาพัฒนาโครงการในพื้นที่หรือบริเวณที่รัฐต้องการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหรือชุมชนโดยเปิดโอกาสให้เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการพร้อมสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆตามที่รัฐกำหนดไว้

โมซัมบิก

เคยเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส และเมื่อได้รับเอกราชเมื่อ ปี ค.ศ. 1975 จึงได้นำระบบสังคมนิยมในการปกครองประเทศ ต่อมาในปี ค.ศ. 1987 ประเทศโมซัมบิก ต้องเข้าสู่โครงการของ World Bank และ IMF ทำให้เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามโมซัมบิกประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศตั้งแต่ได้รับเอกราช มีการสู้รบกันเองที่นานถึง 16 ปี จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1992 จึงได้ยุติลง และได้มีการเลือกตั้งเมื่อ ปี ค.ศ. 1994 จนในปี ค.ศ. 1996 จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือจักรภพ ปัจจุบันโมซัมบิกเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงประเทศหนึ่งในภูมิภาค มีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพ และปรับปรุงการบริการด้านสาธารณะให้ดีขึ้น ในส่วนของนโยบายด้านการคลัง รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากในโครงการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและอุตสาหกรรมได้แก่ อาหาร, เครื่องดื่ม, เคมีภัณฑ์, อะลูมินั่ม, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม, สิ่งทอ, ซีเมนต์, แก้ว ยาสูบ และการท่องเที่ยว นอกจากนี้นโยบายที่ควบคุมปัญหาภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เป็นที่น่าเชื่อถือและมีหลักประกัน ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านโรงแรม รีสอร์ต ขณะนี้มีประชากร 20.4 ล้านคน (ปี ค.ศ. 2008) และใช้ภาษาโปรตุเกส เป็นภาษาราชการ อัตราเงินเฟ้อ 9.4% (ค.ศ. 2008) อัตราการว่างงาน 25.4% (ค.ศ. 2007)และโดยเฉพาะในช่วง ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวด้านการก่อสร้างวีสอร์ต ตามเมืองริมทะเลหลายแห่ง แต่เป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่มากนัก ส่วนใหญ่โครงการก่อสร้างขนาดเล็กดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศ และจากแอฟริกาใต้ นอกจากนี้มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างด้านที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารหน่วยงานราชการ ที่เมืองหลวง ทั้งนี้หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น บริษัทก่อสร้างข้ามชาติขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่จากประเทศปอร์ตุเกส แอฟริกาใต้ จะเป็นผู้ได้รับการประมูลให้ก่อสร้างโครงการนั้นๆ รวมถึงจีนที่เข้าไปก่อสร้างและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในโมซัมบิก เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ส่วนช่องทางการจำหน่ายโดยทั่วไปยังเป็นรูปแบบดั้งเดิม

ธุรกิจก่อสร้าง และสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีลู่ทางและศักยภาพสูงในตลาดโมซัมบิก ได้แก่ ซีเมนต์ เครื่องสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ โครงสร้างเหล็ก ท่อน้ำและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ วัสดุไม้ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องและวัสดุปูพื้น

ขั้นตอน กฎระเบียบของโมซัมบิก

ความใกล้ชิดกับปอร์ตุเกส และกฎระเบียบต่างๆใช้แนวทางจากประเทศปอร์ตุเกสเป็นต้นแบบ รวมถึงกฎข้อบังคับที่กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก (Pre-Shipment Inspection (PSI)) สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้า ส่วนใหญ่โดยบริษัทที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าในประเทศต้นทาง ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หนังสือ ผลิตภัณฑ์อาหารสด ที่ไม่ต้องดำเนินขั้นตอนดังกล่าว และหากสินค้าที่กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบก่อนการส่งออก ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ผู้นำเข้าจะต้องให้มีการตรวจสอบที่ปลายทาง (Post Shipment Inspection) โดยค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นผู้นำเข้าจะต้องรับภาระรวมถึงค่าปรับด้วย ผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เพื่อได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเข้าด้วย

มอรีเชียส

หลังจากได้รับเอกราช มอริเชียสได้เข้าเป็นสมาชิกของเครือจักรภพอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1968 โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ เป็นองค์ประมุขและมีผู้สำเร็จราชการ (Governor-General) เป็นผู้แทนพระองค์ประจำที่มอริเชียส ต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบสาธารณรัฐ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1992 ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ทั้งนี้การเมืองภายในไม่มีลักษณะที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งผูกขาดอำนาจ มีการย้ายพรรค รวมตัวกัน แยกตัวกัน พรรคการเมืองต่างมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมือนกัน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางทุนนิยม ซึ่งความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความ เข้มแข็ง ทั้งนี้มอริเชียสมีเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศตามรูปแบบของสิงคโปร์ เช่น การพัฒนาท่าเรือเสรี การบริการ ด้านเงินกู้ต่างประเทศ (Offshore banking financial service) การพัฒนาฐานการผลิต และการปรับปรุงอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศให้ทันสมัย มอริเชียสได้พัฒนาประเทศจากที่มีรายได้ต่ำเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีความเจริญ เติบโตในภาคอุตสาหกรรมการเงิน และการท่องเที่ยว ความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจจะเห็นได้จากการเฉลี่ยรายได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น อัตราการตายของทารกต่ำลง ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศซึ่งมุ่งไปที่การลงทุนจากต่างประเทศ ในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายพยายามไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ล้ำหน้ากว่า ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา มีอัตราเงินเฟ้อที่ 10.1% (ค.ศ. 2008) และอัตราการว่างงาน 8.8% (ค.ศ. 2008) และภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ถึงแม้ว่าตลาดมอรีเชียสจะเป็นตลาดขนาดที่ไม่ใหญ่มากนักมีประชากรเพียง 1.28 ล้านคน (2009) ปริมาณการสั่งซื้อไม่สูงเช่นประเทศใหญ่อื่นๆ และมีภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นคู่แข่งสินค้าไทย แต่มีระดับรายได้ที่สูงและมีความหลากหลายของประชากรรวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทำให้มีการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ และบริษัทก่อสร้างภายในประเทศมีความสามารถและความพร้อม ยกเว้นโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่มีการเปิดให้มีการประมูลในระดับนานาชาติ และจากนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมในหลายๆด้าน นอกเหนือจากอุตสาหกกรมลักได้แก่ น้ำตาล สิ่งทอ การท่องเที่ยว และธุรกิจการเงิน โดยได้ขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะศูนย์กลางด้าน ICT และการขนส่งของภูมิภาค ทำให้มีการพัฒนาโครงการสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการขยายการพัฒนาประเทศในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจก่อสร้าง และสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีลู่ทางและศักยภาพสูงในตลาดมอรีเชียส ได้แก่ ซีเมนต์ โครงสร้างเหล็ก ท่อน้ำและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ วัสดุไม้ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องและวัสดุปูพื้น

ขั้นตอน กฎระเบียบของมอรีเชียส

มอรีเชียส เป็นประเทศที่มีระบบการค้าเสรี และเข้าระบบของความโปร่งใส และโครงการก่อสร้างใหญ่ๆและสำคัญมักต้องผ่านระบบการประมูลตามมาตรฐานนานาชาติ โดยจะประกาศเปิดการประมูลให้ทราบเป็นการทั่วไป

ตลาดอื่นๆ

สำหรับตลาดอื่น ได้แก่ บอตสวานา นามีเบีย สวาซีแลนด์ เลโซโท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU)ปที่มีแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกด้วย ส่วนใหญ่แล้วมีขนาดของตลาดที่เล็ก ดังนั้นบริษัทก่อสร้าง และธุรกิจจึงมักเป็นส่วนหนึ่งหรือสาขาของบริษัทจากแอฟริกาใต้ รวมทั้งจะมีร้านจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นสาขาของร้านฯในแอฟริกาใต้เปิดอยู่ทั่วไปตามเมืองใหญ่ๆ ในขณะที่ตลาดแซมเบีย มาลาวี มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างสิ่งสธารณูปโภคโดยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนซิมบับเว ยังคงประสบปัญหาการเมืองภายใน ส่งผลให้การขยายตัวด้านการก่อสร้างใหม่ๆชะลอตัวป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ