การส่งออกเดือนกรกฎาคม มีมูลค่า 15,564.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 20.6 การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2552 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 500,095.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2
- ในระยะ 7 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกมีมูลค่า 108,631.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 3,520,688.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4
- ปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกขยายตัว ได้แก่
1) ความต้องการในตลาดโลกที่ฟื้นตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบเอเซีย คือ จีน อินเดีย เอเซียตะวันออกและอาเซียน
2) สต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มกลับมาซื้อมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
3) ผลสำเร็จจากข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยเฉพาะ จีน อินเดีย และ อาเซียน รวมทั้งความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและ เอกชนที่ดำเนินการมาโดยตลอดและต่อเนื่อง
เดือนกรกฎาคม ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกหมวดสินค้า
- สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทางด้านมูลค่า แต่ปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อยเนื่องจากราคาส่งออกสูงขึ้น โดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล และ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ขณะที่ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป ยังส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ยกเว้น ข้าว ที่ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 19.9 และ 25.1 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดียและการแข็งค่าของเงินบาท และผัก ผลไม้ ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 25.3 และ 9.3 ตามลำดับ เนื่องจาก ผลผลิตในประเทศลดลง
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ สินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เลนส์ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง และ ของเล่น
สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ อัญมณี ที่ลดลงร้อยละ 16.4 เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ลดลงถึงร้อยละ 84.7 ขณะที่อัญมณีที่หักทองคำออกแล้วก็ส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.1 รวมทั้งวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ2.5 เป็นการลดลงของการส่งออกโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กไปออสเตรเลียที่ลดลงถึงร้อยละ 89.0 และ สิ่งพิมพ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ลดลงร้อยละ 2.0 เป็นการลดลงในฮ่องกงและญี่ปุ่นเนื่องจากต้องแข่งขันกับจีนที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ โดยสร้างโรงงานกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย
ในระยะ 7 เดือนแรกของปี 2553 ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ทุกหมวดสินค้า
- สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญส่งออกเกือบทุกรายการ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล และสินค้าอาหาร ประเภท อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งผักและผลไม้ ที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อย ยกเว้น ข้าวที่ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 8.9 และ 4.0 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดียและการแข็งค่าของเงินบาท
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ และเลนส์ รวมทั้งอัญมณีที่หักทองคำออกแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.0 (การส่งออกอัญมณีเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 และการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0)
- สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ นาฬิกา เครื่องกีฬา และของเล่น
เดือนกรกฎาคม ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหลัก และตลาดที่มีศักยภาพ
- ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่เก้า ร้อยละ 22.3 เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 30.6 ขณะที่ สหรัฐฯและ สหภาพยุโรป(15) ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
- ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบเอ็ด ร้อยละ 21.9 เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นสิงคโปร์ที่ส่งออกลดลงร้อยละ 7.0 โดยเป็นการลดลงของการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์
- ตลาดศักยภาพระดับรอง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบเอ็ด ร้อยละ 19.3 เป็นการขยายตัวในทุกตลาด ยกเว้นแอฟริกาที่ส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 เป็นการลดลงของการส่งออกข้าวที่ลดลงร้อยละ 45.5 ตลาดที่ลดลงได้แก่ ไนจีเรีย และ แอฟริกาใต้
ในระยะ 7 เดือนแรกของปี 2553
- ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราสูงถึงร้อยละ 27.3 และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 , 24.5 และ 21.8 ตามลำดับ
- ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 45.4 และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในทุกตลาดทั้ง อาเซียน(5) จีน อินโดจีนและพม่า ฮ่องกง และ อินเดีย
- ตลาดศักยภาพระดับรอง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 27.0 และเป็นการขยายตัวในเกือบทุกตลาดโดยเฉพาะ ออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา และ ยุโรปตะวันออกที่ขยายตัวในอัตราสูง ยกเว้นแอฟริกาที่ส่งออกลดลงร้อยละ 2.6 เป็นการลดลงของการส่งออกเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์(โครงก่อสร้าง) และข้าว ที่ลดลงร้อยละ 81.6 และ 25.3 ตามลำดับ
ที่มา: http://www.depthai.go.th