มทร.ค้นพบวิธีย่นระยะเวลาอบแห้งลำไย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

โดยปกติประเทศไทยนับว่าเป็นผู้ส่งออกลำไยรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งในรูปของลำไยสดแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง และลำไยกระป๋อง ตลาดส่งออกหลักคือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงฤดูกาลที่ลำไยออกสู่ตลาด จะเห็นว่าผลผลิตรวมมีมากทำให้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ยังไม่นับการถูกกีดกันทางการค้าบางประการในการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
แนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำคือ การพัฒนาคุณภาพการผลิตและการแปรรูป ซึ่งสอดคล้องกับ ผศ.ดร.กลอยใจ เชยกลิ่นเทศ นักวิจัยคณะเทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลไม้ไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลกับปัญหาการถูกกีดกันทางการค้าจากข้ออ้างการใช้สารเคมี ซึ่งในที่สุดก็ได้ค้นพบการอบลำไยแห้งที่มีคุณภาพ แถมยังใช้เวลาน้อยอีกด้วย
"การอบลำไยด้วยไมโครเวฟร่วมกับอินฟาเรดตามด้วยลมร้อน เป็นวิธีการที่ใช้เวลาอบเพียง 5 ชั่วโมง 25 นาที ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับการอบลำไยที่ใช้วิธีอบทั่วไปในปัจจุบันซึ่งใช้เวลา 12 ชั่วโมงโดยประมาณ"
ผศ.ดร.กลอยใจเล่าว่า จากการศึกษาพบว่าเนื้อลำไยในที่อบไมโครเวฟ 400 วัตต์ ระยะเวลา 5 นาที ร่วมกับอินฟาเรดที่อุณหภูมิจากแหล่งกำเนิด 350 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 5 นาที พัก 5 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวมเวลาทั้งหมด 75 นาที สามารถลดความชื้นในลำไยได้ประมาณ 1 ใน 3 ส่วน จากนั้นนำไปอบต่อในลมร้อนอีก 13 ชั่วโมง ลำไยอบแห้งที่ได้มีลักษณะดีคือ คงรูปใกล้เคียงกับเนื้อลำไยที่คว้านเมล็ดออกใหม่ ไม่เหนียวติดมือ สีไม่คล้ำ เคี้ยวในปากนุ่มกว่าเนื้อลำไยแห้งที่อบด้วยลมร้อนอย่างเดียว
นอกจากลดเวลาในการอบแล้ว ผู้วิจัยยังเล่าว่า ในการอบแห้งทั่วไปจะอาศัยแสงแดดและลมร้อน ทำให้น้ำระเหยและไล่ความชื้นออกจากเนื้อลำไย ระยะเวลาในการอบแห้งขึ้นอยู่กับสภาวะและอุณหภูมิ ร่วมกับความเร็วของลมในการไล่อากาศชื้นออกจากเครื่องอบ มีการใช้สารละลายโปแตสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ ในอัตรา 0.5% (5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) แช่เนื้อลำไยนาน 2 นาที ก่อนอบเพื่อป้องกันจุลินทรีย์และลดการเปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำตาล ซึ่งการอบแห้งลำไยด้วยไมโครเวฟร่วมกับอินฟาเรดตามด้วยลมร้อน ไม่มีการเติมสารเคมีใดๆ เนื้อลำไยที่ได้ก็ไม่คล้ำ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องการกีดกันทางการค้า (ด้วยเรื่องสารเคมี) จากต่างประเทศ หากทำการส่งออกลำไยอบแห้ง
ความสำเร็จจากการวิจัยนี้เอง ทำให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท พรีม่าเอเชีย เทคโนโลยี จำกัด นำหลักการดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องลำไยด้วยฝีมือของคนไทย เพื่อออกมารองรับความต้องการของเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาลำไยสดล้นตลาดในปัจจุบัน
ส่วนเกษตรกรท่านใดที่สนใจองค์ความรู้ หลักการอบลำไยแห้งเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ ผศ.ดร.กลอยใจ ยินดีที่จะเปิดเผยเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วยความเต็มใจ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1491-3894.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ