หนุนพลังชุมชนฟื้นฟูแหล่งน้ำรักลำห้วยตะคาง-ห้วยยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

"ลำห้วยตะคาง-ห้วยยาง" ต.เกิ้ง อ.เมืองฯ จ.มหาสารคาม เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการทำนาปี นาปรัง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ การทำประมงพื้นบ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ริมน้ำอย่างยาวนาน แต่จากการขยายตัวของชุมชน การเพิ่มของหมู่บ้านจัดสรร สถาบันการศึกษา หอพัก และตลาดสด ส่งผลให้มีการปล่อยน้ำเสียจำนวนมากลงสู่ลำห้วยตะคาง ทำให้น้ำเริ่มเน่าเสียมาตั้งแต่ปี 2539 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2550 เริ่มถึงขั้นวิกฤติ น้ำในห้วยทั้ง 2 สายส่งกลิ่นเหม็น พืชผักและปลาตามธรรมชาติเสียหาย จนชาวบ้านไม่กล้าใช้ประโยชน์จากลำน้ำสายนี้
ชาวบ้านในหมู่บ้านวังน้ำเย็นจึงได้รวมตัวกันตั้งเป็น "กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำห้วยตะคางและห้วยยางเพื่อคุณภาพชีวิต รณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงตระหนักถึงพิษภัยและผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ ร่วมกันฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
นายสุทัศน์ ลาจ้อย หัวหน้าโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำห้วยตะคาง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2537-2538 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำเสียจากชุมชนและหมู่บ้านถูกปล่อยลงลำห้วยตะคางเพิ่มมากขึ้นด้วย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้รับความสนใจ จนปัญหาหมักหมมอยู่นานปีและเริ่มรุนแรงขึ้น จนน้ำเริ่มเน่า ปลาตายลอยเป็นแพ จึงรวมตัวกันอนุรักษ์และหาทางแก้ไขปัญหาตามศักยภาพที่มี
"ทุกคนเห็นตรงกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะนิ่งดูดายไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มแก้ตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตลูกหลานที่ต้องใช้น้ำจากลำห้วยสายนี้จะเป็นอย่างไร จึงรณรงค์ให้อนุรักษ์โดยใช้วิทยุชุมชน ป้ายโฆษณา และสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ กระตุ้นให้ตระหนักและสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตและใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำบัดน้ำเน่าเสีย เป็นการนำของที่เหลือในบ้านมาใช้ประโยชน์ได้ โดยมีการนัดหมายราดน้ำจุลินทรีย์ลงในลำห้วยเดือนละ 1-2 ครั้ง และยังได้ประสานกับสถาบันการศึกษาให้เข้ามาช่วยระวัง และทำหนังสือขอความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดน้ำเสีย ทำให้ปัจจุบันเทศบาลหยุดปล่อยน้ำเสีย และมีการสร้างบ่อบำบัดก่อนปล่อยลงลำห้วยแล้ว" นายสุทัศน์กล่าว
นายทองแดง ทนกล้าหาญ อายุ 76 ปี เกษตรกรที่อาศัยอยู่ริมห้วยตะคาง กล่าวว่า สามารถปลูกข้าวได้ตลอดปีโดยใช้น้ำจากลำห้วยสายนี้ แต่พอเริ่มมีปัญหาเน่าเสีย นำน้ำไปใช้ก็จะมีโรคและสารพิษที่มากับน้ำเยอะ ผลผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร
"แต่ก่อนปลูกกระจับ พอนำไปต้มน้ำจะไม่ดำ แต่พอน้ำเริ่มเน่าเสีย ต้มแล้วน้ำออกมาดำ เพราะน้ำมันสกปรก ปลาในลำห้วยก็น้อยลง จับขึ้นมาได้ก็มีกลิ่น ตอนนี้ดีขึ้น เวลามีน้ำเน่าสะสม แกนนำได้ประสานกับชลประทานปล่อยน้ำดีมาไล่น้ำเสียออกไป ปัจจุบันแม้มีปัญหาอยู่บ้างก็ไม่หนักเหมือนเดิม ยกเว้นตอนฝนตกหนักซึ่งจะชะล้างน้ำเสียจากชุมชนลงมา" นายทองแดงระบุ
นายบุญเพ็ง รินทรึก เกษตรกรจากบ้านวังน้ำเย็น วัย 70 ปี เล่าว่า น้ำในลำห้วยตะคางเริ่มเน่าเสียรุนแรงในปี 2548-2551 ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ พอมีการรวมกลุ่มก็ประสานให้เทศบาลเข้ามาแก้ไข ทำให้ตอนนี้ดีขึ้นมาก แต่ยังไม่เท่าในอดีต
หลังจากขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์มาได้ 2 ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านวังน้ำเย็นและหมู่บ้านใกล้เคียงคือ ชาวบ้านตื่นตัวเรื่องอนุรักษ์แหล่งน้ำและธรรมชาติมากขึ้น เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แทนที่จะต้องทนอยู่กับสภาพน้ำเน่าเสียไปวันๆ
การรวมตัวของประชาชนอย่างเข้มแข็งทำให้ อบต.เกิ้ง นำเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติบรรจุเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานพัฒนาตำบล ก่อให้เกิดการประสานงานกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
"เรามีเป้าหมายที่จะขยายผลการดำเนินงานออกไปไม่เฉพาะแค่ใน ต.เกิ้ง แต่จะขยายไปสู่ ต.โคกก่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และ ต.ท่าตูม ที่อยู่ปลายน้ำก่อนจะไหลลงแม่น้ำชี โดยจะดึงทั้ง 2 พื้นที่ให้เข้ามาร่วมดูแลลำห้วยทั้ง 2 สายให้เป็นกระบวนการเดียวกันตลอดลำน้ำ และขับเคลื่อนให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมดูแล เพราะเราเป็นเพียงกลุ่มชาวบ้านที่ไม่มีศักยภาพอะไร แต่ทุกคนก็หาทางแก้ไขด้วยกำลังที่มี เพื่ออนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้าที่จะต้องพึ่งพาลำน้ำทั้ง 2 สายนี้" นายสุทัศน์กล่าวในที่สุด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ