ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)

ข่าวทั่วไป Tuesday July 15, 2014 17:31 —สำนักโฆษก

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ประชุมฯ เห็นชอบพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58

วันนี้ (15 ก.ค. 57) เวลา 16.50 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุม กนพ. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1) ศึกษาเพื่อวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระดับประเทศและระดับพื้นที่ 2) หารือร่วมกับหน่วยงานในเรื่องการให้สิทธิ ประโยขน์ การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว 3) เตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจและการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนการพัฒนาในพื้นที่ชายแดน 4) ศึกษาตัวอย่างรูปแบบการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในต่างประเทศ 5) สำรวจพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพและโอกาสการเชื่อมโยงไปยังประเทศในภูมิภาค และ 6) ประสานความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับประเทศกับพูชาและประเทศมาเลเซียในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน

รวมทั้ง ที่ประชุมฯ กนพ. ได้ให้ความเห็นชอบพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกของไทยใน 5 พื้นที่ชายแดน เพื่อให้สามารถก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ได้แก่ 1) แม่สอด 2) อรัญประเทศ 3) ตราด 4) มุกดาหาร 5) สะเดา (ด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์) โดยเน้นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการจ้างงานและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชน แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามายังพื้นที่ตอนใน ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหาความแออัดบริเวณด่านชายแดน

อีกทั้ง ที่ประชุม กนพ. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน 2) การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ 3) มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และ4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กนพ. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. อนุมัติให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายให้ กนพ. พิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2557 ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน เสนอขอบเขตและจัดหาพื้นที่ สิทธิประโยชน์ และแผนพัฒนาระบบบริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสศช. เป็นผู้ช่วยเลขนุการ (2) คณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง เสนอแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว การพัฒนาฝีมีแรงงาน และแผนการจัดตั้ง One Stop Service แรงงานต่างด้าว โดยมี ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และกระทรวงแรงงานเป็นฝ่ายเลขานุการ สศช.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และ (3) คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรเสนอแผนและลำดับความสำคัญการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แผนปรับปรุงด่านศุลกากร/ด่านชายแดน และแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยมี ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเลขานุการ กรมศุลกากรและสศช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

2. ให้ สศช. ทำการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ (ตุลาคม 2557- ธันวาคม 2557) ในลักษณะ ก่อน-หลัง ในประเด็นดังนี้ (1) ความก้าวหน้าการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2) ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (3) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง (4) ความพึงพอใจของภาคส่วนต่าง ๆ (5) ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อการปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ และก่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ทั้งนี้เพื่อใช้ประกอบในการพัฒนาและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไปให้มีประสิทธิภาพ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ