คณะโฆษก คสช.ยืนยันเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง ขับไล่แรงงานต่างด้าว พร้อมเดินหน้าตรวจสอบโครงการภาครัฐ ควบคู่กับการปรับปรุงประสิทธิภาพบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น

ข่าวทั่วไป Monday June 16, 2014 17:47 —สำนักโฆษก

คณะโฆษก คสช.ยืนยันเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง ขับไล่แรงงานต่างด้าว พร้อมเดินหน้าตรวจสอบโครงการภาครัฐ ควบคู่กับการปรับปรุงประสิทธิภาพบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น

วันนี้ (16 มิ.ย. 57) เวลา 14.20 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ นางสาวปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน ได้ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จำนวนแรงงานต่างด้าว (เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา) ที่นำเข้าตาม MOU และผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว มีจำนวน 2,233,015 คน แบ่งออกเป็น แรงงานเมียนมาร์ จำนวน 1,741,771 คน แรงงานลาว จำนวน 95,888 คน และแรงงานกัมพูชา จำนวน 395,356 คน โดย แรงงานทั้ง 3 ประเทศ มีจำนวนแรงงานที่ครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี ในปี 2557 จำนวน 55,143 คน ในปี 2558 จำนวน 87,893 คน และในปี 2559 จำนวน 132,970 คน ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยทันทีที่ครบกำหนด แต่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า สำหรับกรณีที่มีข่าวแรงงานต่างด้าวเดินทางออกจากประเทศไทย เป็นเพราะครบกำหนดสัญญาการทำงาน ประกอบกลับบ้านส่วนอาจกลับเอง เพราะเป็นช่วงฤดูฝนต้องกลับไปประกอบอาชีพเกษตร ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวเจ้าหน้าที่จะทำร้ายตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทางด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวยืนยันเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง และไม่ได้ใช้กำลังขับไล่แรงงานต่างด้าวตามที่เป็นข่าว โดยให้ความสำคัญในการดูแลรักษาความสงบให้กับประชาชนเป็นหลัก สำหรับกรณีดังกล่าวที่เป็นข่าวนั้น อาจจะเป็นการสร้างสถานการณ์โยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ทหาร ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญานในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร

ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ กล่าวถึงผลการดำเนินการของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ว่า คณะกรรมการดังกล่าว ได้กำหนดตารางการตรวจสอบโครงการของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจสำหรับโครงการที่มีปัญหา โดยจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบระหว่างวันที่ 16 - 18 มิถุนายน นี้ ได้แก่ 1. โครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน (การรถไฟแห่งประเทศไทย) 2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน (การรถไฟแห่งประเทศไทย) 3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (2554 - 2560) (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 4. โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) 6. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) (กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) 7. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ 8. โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (กสทช.)

นางสาวปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ (สคร.) ไปประเมินสถานะและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยรวบรวมข้อมูลค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน เบี้ยประชุม โบนัส ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กรรมการบอร์ดเคยได้รับ โดยให้คำนึงถึงขนาดของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนแต่ละแห่งด้วย ขณะเดียวกันมอบหมายให้ฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.ทำงานควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ คสช.สามารถนำมาประกอบการพิจารณาการทบทวน และดูความเหมาะสมของสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้นอยู่ต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ