หัวหน้าคณะรักษาความสงบมอบนโยบายแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Saturday August 9, 2014 16:55 —สำนักโฆษก

หน.คสช. เปิดกิจกรรม “เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย” พร้อมมอบนโยบายแนวทางในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยและการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตลอดจนผลการดำเนินการของคณะทำงานเตรียมการ เพื่อการปฏิรูปในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

วันนี้ (9 ส.ค. 57) เวลา 10.00 น. ณ สโมสรกองทัพบก (วิภาวดีรังสิต) ห้องมัฆวานรังสรรค์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเส้นทางการปฎิรูปประเทศไทย หรือคิกออฟ ปฏิรูปประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 1,500 คน จากประชาชนทุกสาขาอาชีพที่มาลงทะเบียนการเข้าร่วมสัมมนา พร้อมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาทิ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขา คสช. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่าง ๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัวแทนพรรคการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้

โอกาสนี้ หน.คสช. ได้มอบนโยบายแนวทางปฏิรูป พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของการเมือง ข้าราชการ ส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค ตลอดจนผู้แทนทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ไม่มีการปฏิรูปในลักษณะนี้มาก่อนตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา โดยเส้นทางการปฏิรูปประเทศไทยวันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีการปฏิรูปในลักษณะแบบนี้ ตั้งแต่เรามีระบอบประชาธิปไตยปี 2475 ก่อนอื่นต้องขอโทษทุกคนที่จะต้องมายืนอยู่ตรงนี้ เราเห็นแล้วว่ามีความจำเป็นอย่างไรในการเดินประเทศไปข้างหน้า จริง ๆ แล้วทหารเป็นเพียงการปฏิบัติงานสายงานความมั่นคง แต่ได้เห็นถึงปัญหาสิ่งที่จะต้องแก้ไขและบูรณาการร่วมกัน วันนี้ประเทศชาติจะก้าวไปข้างหน้าได้จะต้องประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิด และทัศนคติ ค่านิยม รูปแบบการบริหารราชการ และปัญหาที่มีอยู่ในอดีต เป็นการยากที่จะอธิบายให้คนเข้าใจว่าการทำครั้งนี้ถูกหรือผิดอย่างไร แต่เราจำเป็นจะต้องทำให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวเดินไปข้างหน้า โดยใช้สติปัญญาของคนไทย การใช้ระบอบประชาธิปไตยของตะวันตกเต็มรูปแบบบ้างครั้งอาจจะไม่เหมาะสมกับประเทศหรือประเทศในอาเซียน ดังนั้น จะต้องปรับเปลี่ยนโดยใช้สติปัญญาของคนไทยในการแก้ไขปัญหาให้สู่ความเข้มแข็ง หากทำวันนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ก็ไม่สามารถไปอยู่ร่วมกับอาเซียนได้ อาเซียนก็ไม่มีอำนาจไปต่อรองกับประเทศมหาอำนาจในโลก วันนี้แบ่งเป็นหลายประชาคมโลกด้วย ถ้าเอาเป็นประเทศไทยเป็นประเทศเดียว 70 ล้านคน เราไม่มีน้ำหนักเพียงพอไปสู้กับใครเขา และยิ่งมีปัญหาขัดแย้งกันมาก ๆ เรายิ่งสู้กันไม่ได้ เมื่อไม่ได้เขาก็รังเกียจและไม่เอาเราไปอยู่ในสมาคมในอาเซียนและอาเซียนก็ไม่เข้มแข็ง คน 700 กว่าล้านคนสู้เขาไม่ได้

สำหรับการเดินหน้าไม่ใช่ คสช. แต่จะต้องเป็นทุกคนที่เป็นคนไทยรักชาติ ตามที่ทุกคนบอกว่ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ผมเลือกจัดกิจกรรมเพราะเป็นวันมหามงคล และตรงกับเรื่องการปฏิรูป ทั้งที่ผ่านมาการปฏิรูปมีการเสนอกันมาหลายรัฐบาล และมีหลายคณะแต่ก็ทำไม่ได้ ถ้าเราทำโดยที่เอาตัวเราไปอยู่จะทำอะไรไม่ได้เลย เราจะต้องมองไปข้างหน้าให้พ้นตัวเอง จะทำอะไรให้กับประเทศได้บ้าง และจะนึกออก ใครมีหน้าที่ก็ทำไปตรงนั้น ถ้าเรามองตัวเราก่อนเราจะคิดอะไรไม่ออก ประเทศชาติจะไม่ได้อะไร ผมไม่ได้คนเก่งอะไร เพียงแต่มีจิตสำนึก และทุกคนก็มี แต่ติดขัดด้วยการเมือง กฎหมาย หรือความเป็นอยู่ ดังนั้นเราจะต้องมุ่งตรงในเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ทั้งนี้อยากให้นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาทำ คิดว่าบ้านเมืองจะไม่วุ่นวาย ที่ผ่านมาผมไม่เคยละเมิดหรือผิดวินัย เพราะทหารจะต้องมีวินัย ให้การสนับสนุนทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศชาติให้ปลอดภัย ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ ตามระบอบประชาธิปไตย ที่ต่างฝ่ายต่างคิดต่างเข้าใจ จึงทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน วันนี้จะต้องต่อสู้กันตามกระบวนการยุติธรรม

หน.คสช. กล่าวว่า วันนี้เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในประเทศให้ได้ตามระบอบการบริหารราชการ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้ให้ทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ใช้พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจเป็นของพระองค์ท่าน ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญทุกรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ทรงมอบพระราชอำนาจให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ใครจะเป็นรัฐบาลพระองค์ท่านก็จะต้องมอบ ไม่อย่างนั้นทำงานไม่ได้เมื่อไม่มีอำนาจ และวันนี้พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานมาให้ ซึ่งถือเป็นเรื่องของจารีตประเพณีเมื่อมีการควบคุมอำนาจบริหารประเทศ ท่านก็พระราชทานอำนาจมาให้ ไม่ใช่ว่าพระองค์ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ท่านให้ทำหรือไม่ให้ทำ คิดแบบนี้คิดไม่ได้ คิดแบบตื้น ๆ ไม่ได้ ดังนั้นไปเปรียบเทียบดูที่ผ่านมา หลังจากพระราชทานอำนาจมาแล้วมีการควบคุมอำนาจกี่ครั้ง พระองค์ท่านก็พระราชทานอำนาจมาทุกครั้งเพราะเป็นจารีต ใครที่ได้อำนาจจะผิดจะถูก ตนรับผิดชอบ

“ผมกราบพระราชทานอภัยมาโดยตลอด วันที่ผมควบคุมอำนาจ ผมไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ผมรู้ว่าผมไปประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผมกราบพระฉายาลักษณ์ทุกวัน ขอพระราชทานอภัย จนกระทั่งได้รับพระราชทาน คนก็หาว่าท่านรู้ท่านรับสั่ง ท่านพระราชทานมาทุกครั้ง ผมถามว่าเสนออะไรขึ้นไปที่พระองค์ท่าน ท่านเคยที่จะไม่โปรดเกล้าฯ ลงมาบ้างหรือไม่ ในเมื่อพระองค์ท่านมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารทำมาแล้ว จะมาบอกว่า ท่านอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้ ท่านจะมาสั่งใคร ท่านไม่สั่งใคร ท่านรู้พระองค์ดี ท่านอยู่มากี่พรรษาแล้ว ครองราชย์มากี่พรรษาแล้ว ก็ยังเอาท่านมาเกี่ยวข้องอยู่ ว่าท่านสั่งโน่นสั่งนี่ ท่านจะสั่งได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นท่านเป็นพระมหากษัตริย์ไม่ได้หรอก ท่านรู้พระองค์ดีอยู่ อย่าเอาท่านลงมาอีก” หน.คสช.กล่าว

ในส่วนของการปฏิรูปประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนทั้งประเทศไม่ได้อยู่ที่ตน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ไปชี้นำ หรือให้อำนาจคนนั้นคนนี้ ลดอำนาจนักการเมือง ซึ่งคิดแบบนี้ไม่ได้ เราคิดว่าจะทำอย่างไรประเทศชาติจะต้องปลอดภัย เราฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่อะไรก็จะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ฟังว่าประชาชนต้องการอะไร มีความเห็นต่างมากมาย และได้รวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์เอกสารงานวิจัย จำนวน 418 เรื่อง ที่จะต้องไปดำเนินการ รวมถึงข้อมูลจากอีเมล์ และไปรษณีย์ จำนวน 3,827 เรื่อง สัมภาษณ์เชิงลึก เปิดเวทีสานเสวนากับกลุ่มองค์กรภาครัฐ และเอกชน 75 คณะ ส่วนในภูมิภาคได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองฯ ให้ กอ.รมน.ภาค 1-4 รับผิดชอบร่วมกับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งศูนย์ปรองดองฯ ครบทุกจังหวัด อีกทั้ง จัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งหมด 92,432 ครั้งทั่วประเทศ เพื่อเอาคนมาพูดคุยกัน แม้ว่าจะเป็นคนละสีคนละฝ่ายก็ตาม ต้องเอาคนมาคุยกัน เพื่อให้หายโกรธเคืองกันและเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน นักการเมือง กลุ่มแกนนำ คู่ขัดแย้งต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 177 ฉบับ ที่ได้ตกลงร่วมกัน ส่วนเรื่องกฎหมายก็ไปว่ากันว่าใครถูกใครผิด แต่อย่าไปล้างสมองว่าจะต้องฆ่ากันให้ได้ตายกันไปข้างประเทศชาติก็ไม่ได้ หรือจะกลับไปเป็นแบบลิเบีย ที่รบฆ่ากันอยู่

“เรื่องปรองดองสามารถดำเนินการได้ 177 เวที 38,042 หมู่บ้าน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้กลุ่มผู้ขัดแย้งกลับมาสามัคคีกัน หากเราร่วมมือร่วมใจกันก็จะมาสามารถเดินหน้าประเทศไทยได้อีกครั้ง ไม่ใช่หยุดชะงักจนบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ทั้งงบประมาณปี 57 ประมาณเกือบแสนล้านไม่สามารถใช้ได้ และตั้งงบประมาณปี 58 ไม่ได้ และข้าราชการจะนำเงินเดือนที่ไหนมาใช้ การพัฒนาบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นเดินหน้าไม่ได้หากยังดันทุรังกันอยู่แบบนั้น ตนไม่ได้โทษใคร เพราะเป็นเรื่องของความคิดและการทำงาน แต่วันนี้ประเทศชาติต้องไปข้างหน้า ดังนั้นเราจะนำข้อมูลต่างๆมารวบรวมให้ส่วนกลาง เมื่อมีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นมา คัดเลือก จำนวน 250 คน ทราบจากข้อมูลว่าอาจจะมีผู้สมัครถึง 2,000 คน และจะคัดเลือกให้เหลือ จำนวน 150 คน และจะมาบอกว่าไม่เป็นธรรมทำให้ยุ่งไปหมด ตนขอบอกว่าวันนี้ต้องหยุดเลือดให้ได้ก่อน เพื่อเดินหน้าประเทศ และนำคนเข้ามามีส่วนร่วม วันนี้ทหารต้องมาแบกภาระ ในแต่ละส่วนอาจจะมีสัดส่วนของทหารมาก เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติ หากเป็นช่วงปกติพรรคการเมืองยังเลือกคนที่สนับสนุนตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันและจะทำให้ดีที่สุด” หน.คสช.กล่าว

อีกทั้ง เมื่อมีการปฏิรูปแล้วก็ให้ผู้แทนดำเนินการรวบรวมเข้ามาพูดคุยเจรจาหาทางออกหาข้อสรุป ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดก็ส่งผ่านศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทยดำเนินการรวบรวมมา เราต้องนำภาพรวมประเทศมากำหนดยุทธศาสตร์ประเทศขึ้นมาให้ได้ เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆเหล่านี้ต้องแก้ไขในช่วงนี้เท่านั้น ไม่มีใครมาทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นมาได้อีก การปฏิรูปครั้งนี้มีจำนวน 11 ด้าน ได้แก่ 1.การเมือง 2 .การบริหารราชการแผ่นดิน 3. กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4. การปกครองท้องถิ่น 5. การศึกษา 6. เศรษฐกิจ 7. พลังงาน 8.สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9. สื่อสารมวลชน 10. สังคม 11. ด้านอื่นๆ ในแต่ละเรื่องก็มีรายละเอียดย่อยลงไปอีก ทั้งนี้ ในระยะที่ 2 เมื่อมีการจัดตั้ง สปช. ขึ้นก็ต้องใช้ระยะเวลา ในวันที่ 13 สิงหาคม ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการคัดสรรฯ 11 กลุ่ม ส่วนทางจังหวัดก็คัดเลือกมา 77 จังหวัด ในส่วนคัดสรรมี 550 คน จากนั้น คสช.จะคัดสรรให้เหลือ 173 คน ทั้งนี้ ไม่ต้องกลัวเรื่องการเอื้อประโยชน์ เพราะตนทำไม่ได้ ส่วนนักการเมืองในอนาคตก็มีโอกาสเข้ามาเล่นการเมืองทั้งสิ้น แต่ต้องสู้ด้วยความดีและความจริงใจในการดูแลประเทศชาติให้ดีกว่าเดิม

สำหรับขั้นตอนการคัดสรร สปช.นั้น ในวันที่ 9 สิงหาคม เป็นการเริ่มคิกออฟ จากนั้นวันที่ 13 สิงหาคม จะมีการคัดสรรและเตรียมการ วันที่ 14 สิงหาคม เปิดรับสมัคร จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 50 วัน และในวันที่ 2 ตุลาคม จะนำรายชื่อพร้อมดำเนินการขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างนี้ก็ต้องหารือกันให้ดีว่าใครจะเข้ามาร่วมเป็นสปช.หรือไม่ ส่วนคนที่ไม่เข้าร่วมก็ถือว่าเปิดโอกาสให้ดำเนินการ ตนอยากถามว่าหากเป็นแบบนั้นยอมรับได้หรือไม่ จะช่วยกันเสนอชื่อเข้ามาก็ได้ แต่เรากำลังช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ ใครไม่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ก็แล้วแต่ท่าน ตนไม่สามารถบังคับใครได้ ส่วนเรื่อง สนช.ก็ไม่ต้องกังวล เพราะยังไม่ได้ทำงาน จะผิดหรือถูกตั้งใหม่ก็ได้ และยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีการวิ่งเต้น ส่วนที่มีการแต่งตั้งแล้วผิดพลาดก็ต้องขออภัยด้วย

อย่างไรก็ตาม Roadmap ในระยะที่ 1 คาดว่าจะจบในเดือนสิงหาคม ส่วนระยะที่ 2 เริ่มปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ที่จะมีรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์กันมากนัก หนังสือพิมพ์เขียนกันมาทุกวัน กระทรวงนั้นเป็นคนนั้น บางคนผมยังไม่เคยรู้จัก ก็ไม่ใช่ทั้งนั้น เพราะยังไม่ได้ตั้ง ในส่วนของระยะที่ 2 หลังจากมีการเปิด สปช.ก็ดำเนินการตามกระบวนการ ผมก็จะไม่ไปยุ่ง เพราะถือว่าเป็นการทำงานของสปช.และสนช. ส่วนใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ขอให้รอดู หรือใครอยากเป็นก็มาสมัครได้เลย ที่ผ่านมาผมไม่ได้อยากมาทำแบบนั้น แต่มีความจำเป็นและผมจะใช้เวลาให้น้อยที่สุด แต่จะทำได้หรือไม่ได้อยู่ที่คนไทยทั้งประเทศ ส่วนระยะที่ 3 คือช่วงปลายปี 2558 ที่จะมีการเลือกตั้งตามกติกา และมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยทุกคนต้องช่วยกันทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและสุจริต ทุกคนมาทำงานให้ประเทศและบริหารประเทศต้องเสียสละและมีธรรมาภิบาล พูดกันวันนี้ต้องจบ ไม่วันหน้ามีรัฐบาลใหม่ก็กลับไปเหมือนเดิม ต้องแก้ปัญหาใหม่ เรื่องเหล่านี้ทุกคนต้องแก้ไขให้เกิดความชอบธรรม เป็นธรรม และสุจริต กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึงประชาชนต้องได้ประโยชน์ คนทำงานข้าราชการคือผู้เสียสละ

หน.คสช. กล่าวถึง การปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น ต้องไปออกแนวทางป้องกัน เช่น ออกกฎหมาย และหามาตรการเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่อย่างเดียว ต้องปลูกฝังค่านิยมด้วยโดยภาพรวม ส่วนการเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติ ตนไม่ได้ล็อคนักการเมืองให้ทำอะไรไม่ได้ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็เคารพทุกท่าน การปฏิรูปพรรคการเมืองอย่างไรไม่ให้ ถูกคอรบงำ ผูกขาดแค่คนกลุ่มเดียว ออกแบบสถาบันการเมืองใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ให้ได้ การปฏิรูประบบ กติกา การเลือกตั้ง สำหรับการใช้อำนาจบริหาร การถ่วงดุล ปฏิรูปกลไกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ขั้นตอนการเสนอกฎหมาย ระบบตรวจสอบถ่วงดุล การกระจายอำนาจ รูปแบบแนวทางการเสนอกฎหมายถอดถอนการ การออกเสียงประชามติ ทางด้าน การควบคุมอำนาจ การตรวจสอบรัฐบาล องค์กรรัฐ ระบบศาล องค์กรอิสระและภาคประชาชน การปฏิรูประบบราชกการ ปฏิรูประบบแผน และงบประมาณ สร้างภูมิคุ้มกัน การปฏิรูปกลไกระบบยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาล การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบยุติธรรม รวมถึงปฏิรูประบบพลังงาน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งบก น้ำ อากาศ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนของรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงการบริการประชาน การปฏิรูปกระบวนการกำหนดพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างขัดแย้งระหว่างรัฐ กับประชาชน การปฏิรูปการศึกษา รวมถึง การปฏิรูปสื่อ ที่ต้องดำเนินการในวงการสื่อเอง ซึ่งที่ผ่านมาสื่อมองตนเป็นคู่ปรับมาตลอด แต่ตนไม่เป็นคู่ปรับกับใคร ท่านดุตนทุกวันทางหน้าหนังสือพิมพ์ ตนก็ดุท่านได้ ก็ไปดูว่าท่านจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ในการปฏิรูประบบคุณธรรมนั้น ต้องสร้างในระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาแบบไทย มีความต่อเนื่องตั้งแต่เด็กถึงเป็นผู้ใหญ่ บริหารเวลาให้เด็กมีเวลากับครอบครัวอย่างเหมาะสม ช่วยเหลืองานบ้าน เพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว ไม่ต้องเสียเวลาในการทำการบ้านดึกเกินไปหรือต้องเรียนพิเศษทุกวันหยุด ไม่เช่นนั้นเด็กก็ทำงานบ้านไม่เป็น เลี้ยงลูกเป็นเทวดาหมด เพราะพ่อแม่สงสารลูกต้องมาทำการบ้านจนดึก นอกจากนั้น ยังต้องปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงระบบภาษี การแก้ไขปัญหาช่องว่างด้านรายได้ โดยเริ่มจากข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน รวมถึงรายได้ของประชาชนระดับล่าง ในกลุ่มอาชีพต่างๆ

ในส่วนของการจัดสรรทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ โดยไปดูการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม โดยคนที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมาย คิดว่าตัวเองต้องจ่ายภาษีมาก กฎหมายก็ออกไม่ได้ พร้อมกันนั้นต้องหาแนวทางในการแก้ไขการบุกรุกที่ดิน โดยให้คนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นมีที่ดินทำกิน เอามาการจัดสรรเป็นกลุ่มทรัพยากร รัฐลงทุนให้ในที่ราชพัสดุ ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ส่วนการปลูกป่าทำในพื้นที่ที่เหมาะสม ทำอย่างไรให้เป็นที่ทำกินของประชาชนโดยรัฐเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ต้องไปไล่ล่าให้คนออกไปอย่างเดียว

“ผมเป็นทหาร ต้องทำเร็วและไว ไม่อย่างนั้นทำไม่จบ เวลาก็จำกัด ผมไม่ได้อยากเป็นใหญ่เป็นโต คนที่ขัดแย้งกันก็ต้องมาช่วยผม ในเรื่องคดีใครผิดหรือถูกก็ว่าไป ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมผมคิดว่าจะทำอย่างไรประเทศชาติจะไปได้ ภายใต้กระทรวง และหน่วยงานที่มีอยู่ เดินตาม Roadmap ของเราไป รวมถึงกฎหมายที่ค้างอยู่รวมแล้ว 400 กว่าฉบับ ส่วนไหนออกได้ก็ออกไปก่อน ขณะนี้ออกไปได้แล้ว 50-60 ฉบับ เป็นเรื่องของรัฎฐาธิปัตย์ เพื่อให้งานเดินต่อไปได้ ที่เหลือซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ก็เข้าสปช. ส่วนเรื่องเล็กก็เข้า สนช.ไป ทุกระทรวงที่ทำงานก็ต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่ามองว่าทำไมไม่ย้ายคนนั้นคนนี้ ก็ขอให้ใจเย็นๆ ถ้าทำได้ก็อยู่ ถ้าทำไม่ได้ก็ย้ายอีก ทุกกระทรวงต้องออกมาพูดว่าทำอะไรไปบ้าง ปลัดพูดแล้ว กรมก็ต้องออกมาพูด ประเทศชาติจะไปอย่างไรก็อยู่ในระยะที่สอง ”หน.คสช. กล่าว

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ