ยธ. สัมมนาร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์ผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์

ข่าวทั่วไป Thursday August 21, 2014 16:42 —สำนักโฆษก

กระทรวงยุติธรรม จัดสัมมนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การขอและรับขึ้นทะเบียน เป็นผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ เพื่อพิจารณา ทบทวน แก้ไขการกำหนดคุณสมบัตินักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ให้มีความเหมาะสมและความชัดเจนยิ่งขึ้น

..........เมื่อวันพุธที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ดร.พงษ์ภัฏ เรียงเครือ ที่ปรึกษาเฉพาะด้านกฎหมายมหาชน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การขอและรับขึ้นทะเบียน เป็นผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. .... ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗” พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ ณ โรงแรมทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

..........สืบเนื่องจากการสัมมนาในครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การขอและรับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. .... ในประเด็นเรื่องการระบุคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นว่า ควรจะระบุแยกคุณสมบัติของนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ออกจากกัน เนื่องจากการออกพระราชบัญญัติวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักสังคมสงเคราะห์ ในการขอรับและขึ้นทะเบียนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีสังคมสงเคราะห์ ดังนั้น เห็นควรให้มีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การขอและรับขึ้นทะเบียนฯ ในส่วนคุณวุฒิของผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ โดยให้ระบุแยกคุณวุฒิของนักสังคมสงเคราะห์ ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ หรือปริญญาตรีในสาขาอื่นที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ส่วนนักจิตวิทยา ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญา ด้านจิตวิทยาเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หากเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาในสาขาอื่น จะต้องผ่านการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ไม่น้อยกว่า ๒ ปี โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกำหนดมาแล้วไม่เกิน ๒ ปี

..........ดร.พงษ์ภัฏ เรียงเครือ กล่าวว่า ผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ควรเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งมีทักษะประสบการณ์การปฏิบัติงานเฉพาะด้านเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการให้คำแนะนำปรึกษา ดูแลเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิด หรือเป็นผู้ต้องหาทางคดีอาญา จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอย่างมากในการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจ รวมถึงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้ดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น และพิจารณา “ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การขอและรับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. .... นี้ ถือเป็นเครื่องมือกลั่นกรองผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ให้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่ดี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ