'ยกร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ’เสนอ สนช.บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น เพิ่มดีกรีแก้ค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Monday September 1, 2014 17:31 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินเครื่องทบทวนระเบียบ'ยกร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ' เสนอ สนช. เห็นชอบ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานทางทะเล,คุ้มครองแรงงานเกษตรกรรม,จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน,การทำงานของคนต่างด้าว พร้อมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น

เพิ่มดีกรีแก้ปัญหาค้ามนุษย์

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมทบทวนระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง พร้อมด้วยนายวินัย ลู่วิโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้รับฟังข้อคิดเห็นและแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่องของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน 4 ฉบับ โดยที่เกี่ยวข้องกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเกษตรกรรม พ.ศ. .... ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้น คสช.ได้เห็นชอบในหลักการ ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบแล้ว แต่เพิ่มประเด็นการระบุสัญญาจ้างและการรายงานตัว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งภายในเดือนกันยายนนี้ ส่วนกรมการจัดหางานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... โดยเพิ่มประเด็นสายนายหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าร่างดังกล่าวจะแล้วเสร็จราวเดือนตุลาคมนี้

ส่วนกฎหมายของกรมเจ้าท่าที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างประกาศที่กำหนดให้เรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป มาแจ้งการเข้า - ออก และกำหนดให้ผู้ทำการในเรือมาขออนุญาตทำงานในเรือตามมาตรา 285 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช 2456 และการกำหนดระเบียบให้เรือประมงที่จะต้องแจ้งเข้า -แจ้งออกโดยวิธีการใดบ้าง ทั้งนี้ประกาศทั้ง 3 ฉบับได้ร่างเสร็จแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการประชุมหารือเพื่อรับฟังความเห็นชอบจากภาคส่วนต่างๆ หากไม่มีการแก้ไข อธิบดีกรมเจ้าท่าจะลงนาม และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้ต่อไป

ด้าน นายวินัย ลู่วิโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้กระทรวงแรงงานรวบรวมซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็น คือ กฎหมายเร่งด่วนที่ต้องออกประกาศโดย คสช. กฎหมายเร่งด่วนที่ต้องเสนอ สนช.พิจารณา และกฎหมายเร่งด่วนที่อยู่ในสภาวะปกติ โดยให้หน่วยงานเสนอ ครม.เมื่อมีคณะรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้การยกร่างพระราชบัญญัติเป็นเรื่องใหญ่ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ดังนั้นหน่วยงานเจ้าของเรื่องจะต้องส่งร่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดและหารือถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเสนอเข้า สนช.พิจารณา

กลุมงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ