แก้ กม.คุ้มครองแรงงานประมง

ข่าวทั่วไป Thursday September 4, 2014 14:54 —สำนักโฆษก

ปลัดแรงงาน ประชาสัมพันธ์มาตรการการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว/ค้ามนุษย์ ยืนยันมีความตั้งใจจริงที่จะดูแลแรงงานต่างด้าว แก้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมงทะเล เข้ม!

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เพื่อลงภาพยนตร์สื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการคุ้มครองแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายแรงงานของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศว่าประเทศไทยมีความพยายามและตั้งใจจริงที่จะแก้ไขและขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ว่า กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรงกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจึงมีนโยบายเร่งด่วนและจริงจังในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเน้นให้ความสำคัญทั้งการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะการจ้างแรงงานต่างด้าวได้ให้น้ำหนักไปที่การทำให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ได้เข้ามาสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการประกันว่าแรงงานเหล่านั้นจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการปรับปรุง/แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (การคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล) โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ให้คุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปในเรือประมงทะเลทุกลำ ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน ให้จัดเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ในระหว่างการทำงาน 24 ชั่วโมงและไม่น้อยกว่า 77 ชั่วโมงในการทำงาน 7 วัน ให้มีการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง เอกสารการจ่ายค่าจ้าง และค่าทำงานในวันหยุดเป็นภาษาไทย ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด เดือนละไม่น้อยกว่า 1 ครั้งและให้จ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างทุก 7 วันในกรณีจงใจไม่จ่าย และจัดให้มีวันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่าปีละ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

“กระทรวงแรงงานมีความตั้งใจจริงที่จะดูแลแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยเพื่อจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาสู่ทะเบียนของการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อที่จะสามารถดูแลและคุ้มครองคนคนเหล่านี้เหล่านี้ให้ได้รับสวัสดิการและสิทธิต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัด 7 แห่ง ประกอบด้วย สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการทำสัญญาจ้างเป็น 3 ภาษา ได้แก่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาประเทศต้นทางซึ่งสัญญาจ้างดังกล่าวจะส่งผลดีและเกิดข้อตกลงร่วมกันทั้งตัวนายจ้างและแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเองก็จะทำให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของตนเองมากขึ้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ