ศวภ.1 สรุปผลการดำเนินงาน และระดมสมองวางแผนนำ วทน. สู่ชาวเหนือ

ข่าวทั่วไป Thursday September 18, 2014 17:01 —สำนักโฆษก

ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคเหนือตอนบน (ศวภ.1) จัดการประชุมประจำปี ศวภ.1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เพื่อนำเสนอผลงานที่ได้ดำเนินการมาในปี 2557 และเป็นการบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เครือข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในภูมิภาค ภาคเหนือ และผู้บริหารยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ทั้ง 8 จังหวัด โดยมี ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และนายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนร้บผู้เข้าร่วมประชุมฯ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ เอ็มเพรส โรงแรม ดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดการประชุมฯ ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีองค์ความรู้ มีนักวิชาการ บุคลากร จำนวนมากที่จะให้ท่านนำไปใช้ประโยชน์ ในส่วนของการประชุมประจำปีของ ศวภ.1 ครั้งนี้เพื่อสรุปผลงาน วิเคราะห์ปัญหา และวางแนวทางในการปฏิบัติงาน การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมลงมาสู่ชุมชน เพื่อให้ท่านได้ใช้ประโยชน์จากเราให้ได้มากขึ้น เรื่องหมอกควันและไฟป่า ซึ่งเป็นวาระหลักของชาติด้วยเช่นกัน ซึ่งกระทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสุขภาพหรือเศรษฐกิจ ซึ่งองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะช่วยลดปัญหานี้ได้ ได้มีการทำวิจัยเพื่อลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำเรื่องนี้โดยติดตามตรวจสอบการเกิดปัญหาหมอกควัน ซึ่งข้อมูลจะเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป

การที่เราเข้ามาทำงานกับท่านมากขึ้นก็อยากได้ข้อเสนอแนะ ข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่าน แล้วเรามาร่วมกัน ว่าจะพัฒนาในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบร่วมกันอย่างไร ในส่วนของภาคเอกชน ถ้าท่านมาให้โจทย์กับเราแล้ว และเรามีองค์ความรู้ด้านนั้นๆ ก็จะช่วยกันผลักดันให้ต่อยอดไปได้ เราจะสามารถพัฒนาการดำเนินชีวิตของท่านได้ ดิฉันหวังว่าการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และสุขภาพของตัวท่านเอง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้าไปมีส่วนด้วย

ด้าน นายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ตอนหนึ่งว่า ท่านทั้งหลายที่มาประชุมในวันนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศชาติ เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราเชื่อมโยงไปยังแผนพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัดใน 8 จังหวัดนั้น มีหลายจังหวัดน่าสนใจ แต่ผมอยากจะฝากในนามของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน เราจะมีปัญหาเรื่องของหมอกควันและไฟป่า และในกลุ่มจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดก็ประสบปัญหาในเรื่องหมอกควัน ส่วนหนึ่งนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราไม่สามารถจะควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราอาจจะทำได้ในประเทศของเราคือผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการส่งเสริมอาชีพ ในส่วนของเชียงใหม่เสนอเรื่องของข้าวโพด ซึ่งปลูกในอำเภอแม่แจ่ม จอมทอง พื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ซึ่งมีบริษัทเข้ามารับซื้อผลผลิตข้าวโพดแล้ว แต่ส่วนที่เหลือคือซังข้าวโพดปริมาณมากมาย มีบางมหาวิทยาลัยได้แนะนำให้ทำปุ๋ย แต่ยังมีเหลืออีกเป็นหมื่นๆ ตัน ในส่วนที่เหลือชาวบ้านก็กำจัดโดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือจุดไฟเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกต่อไป เกิดปัญหาในช่วงเวลาดังกล่าว จังหวัดแม่ฮ่องสอน เที่ยวบินลงไม่ได้ไม่ต่ำกว่า 60 เที่ยวบิน เชียงใหม่ปีที่ผ่านมากว่า 10 เที่ยวบิน ค่าเสียหายจำนวนมหาศาล ฝากให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีองค์ความรู้ใดที่จะมาช่วยกลุ่มจังหวัดฯ ในส่วนที่เหลือ ไม่เฉพาะข้าวโพด ยังรวมถึงผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ด้วย จะได้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหมอกควันและไฟป่าด้วย

ด้าน นางนิตยา พัฒนรัชต์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมฯ ว่า เพื่อนำเสนอผลงานที่ได้ดำเนินการมาในปี 2557 และเป็นการบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เครือข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในภูมิภาค ภาคเหนือ และผู้บริหารยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ทั้ง 8 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาสามารถร่วมกันผลักดันให้เกิดแผนงานในการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าร่วมบูรณาการตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง Northern Food Valley จังหวัดลำพูน ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง การสร้างโรงรมลำไย จังหวัดลำปาง ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่องสัปรด และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง งา จังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง การสร้างโรงรมลำไย จังหวัดพะเยา ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง โคขุนดอกคำใต้ จังหวัดแพร่ ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง สิ่งทอ จังหวัดน่าน ดำเนินกิจกรรมหลักเรื่อง การสร้างอัตลักษณ์ของผ้าน่าน

นอกจากนี้ ศวภ.1 ยังได้ประสานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อแสวงหาแนวทางในการดำเนินงาน ในแผนภาพรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นทีภาคเหนือตอนบน ในหลายกิจกรรม อาทิ การแก้ไขปัญหาหมอกควัน ภัยพิบัติ และการแก้ไขปัญหาพืชเกษตร ผลจากการประชุมฯ ร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการบูรณาการงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสามารถกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันได้ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานในส่วนภูมิภาค กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดในปีงบประมาณ 2558 ต่อไป

ผู้เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ