นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ก่อนการเดินทางเยือนเมียนมาร์

ข่าวทั่วไป Thursday October 9, 2014 17:48 —สำนักโฆษก

วันนี้ (9 ตุลาคม 2557) เวลา 13.30 น. ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงก่อนการเดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาร์ว่า รัฐบาลเมียนมาร์ได้ให้เกียรติเดินทางเยือนในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและจะมีการพูดคุยในกรอบความร่วมมืออาเซียน เนื่องจากเมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จะมีการพูดคุยถึงความร่วมมือที่จะทำให้อาเซียนแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลไทยมองยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกๆด้านทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการพูดคุยในระดับพหุภาคีว่าทำอย่างไรอาเซียนถึงจะเข้มแข็ง ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนต้องร่วมมือกัน จากนั้นจะมาสู่ระดับการพูดคุยในทวิภาคี หากเมียนมาร์เข้มแข็ง ไทยก็จะเข้มแข็ง และจะส่งผลให้อาเซียนเข้มแข็ง มีศักยภาพในการต่อรองเจรจาค้าขาย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้คนไทยทุกคนเป็นมิตรที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยประธานาธิบดีเมียนมาร์และนายกรัฐมนตรีเคยพบปะกันหลายครั้งแล้วเมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกจึงทำให้มีความสัมพันธ์ทางด้านการทหารและความมั่นคงมาอย่างยาวนาน ทั้งสองฝ่ายจะมีการพูดคุยถึงความร่วมมือในพื้นที่แนวชายแดนได้มากขึ้น โดยจะหาวิธีการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในเส้นเขตแดนให้มากที่สุด สามารถดูแลคนทั้ง 2 ประเทศให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงจะมีการพูดคุยเรื่องการดูแลสวัสดิภาพแรงงานซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ โดยการจดทะเบียนแรงงานนั้นใกล้จะครบถึงกำหนดตามที่ให้ผ่อนผันแล้ว ขอให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการให้เรียบร้อย ส่วนกรณีคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า นายกรัฐมนตรีมองว่าต้องทำเรื่องนี้ให้ลดระดับลง อย่าไปกล่าวหาว่าเป็นคนสัญชาติใดเพราะแรงงานเหล่านี้ก็มีหลายสัญชาติ ขอให้ใช้คำว่าว่าเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำความผิด ทั้งนี้เมื่อคดีได้คลี่คลายแล้วก็ต้องลดระดับลงและขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงาน

ส่วนเรื่องเหตุระเบิดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้รับรายงานและหารือกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว โดยรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อรัฐบาลมาเลเซียและจะติดตามดูแลหญิงไทยที่ได้รับบาดเจ็บต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไม่ต้องการให้ระบุสาเหตุว่ามาจากการก่อการร้าย เนื่องจากต้องดูเงื่อนไขและนิยามการก่อการร้ายของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆด้วย จึงควรเรียกว่าการระเบิดครั้งนี้ว่าเป็นการใช้ยุทธวิธีความรุนแรงและใช้อาวุธสงคราม ทั้งนี้ในฐานะที่ไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง จึงอาจจะเป็นการชักนำให้กลุ่มก่อความรุนแรงเข้ามาในประเทศไทยได้

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าไทยมีก็ร่วมมือในการหารือเรื่องที่เป็นปัญหาร่วมกันกับมาเลเซียมาโดยตลอด ยืนยันว่าเหตุระเบิดไม่ส่งผลประทบต่อการพูดคุยสันติสุขอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการพูดคุยในกรอบปัญหาของประเทศไทยเอง และมาเลเซียอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับผู้ก่อความไม่สงบ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ