รมว.พม. พอใจผลการดำเนินงานจัดระเบียบขอทาน หลังลงพื้นที่สำรวจครบ ๗ วัน มีขอทานจำนวน ๒๔๐ คน เข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 21, 2014 16:26 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒๑ ต.ค.๕๗) เวลา ๐๗.๓๐ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๗ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากกรณีมีร้านคาราโอเกะ ค้าประเวณีข้ามชาติ พบหญิงสาวลาวเกือบ ๒๐ คน เข้ามาทำงานในคราบนักท่องเที่ยว ที่จังหวัดเลย ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับกรณีมีเด็กชายที่ป่วยด้วยโรคสมองบวม หรือน้ำท่วมสมองตั้งแต่กำเนิด วัดขนาดรอบศรีษะได้ ๑๘ เซนติเมตร น้ำหนักศรีษะประมาณ ๑๐ กิโลกรัม ที่จังหวัดชลบุรี โดยกรณีดังกล่าว ได้มอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเด็กและดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานติดต่อโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคให้เด็กชายดังกล่าว

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมครั้งนี้ มีการรายงานสรุปผลการดำเนินงานจัดระเบียบขอทาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจตามบริเวณต่างๆของกรุงเทพฯ ครบ ๗ วัน ตามที่กำหนดไว้ คือระหว่างวันที่ ๑๔–๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ พบว่า มีขอทานเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน จำนวนทั้งสิ้น ๒๔๐ คน ซึ่งเป็นขอทานคนไทย จำนวน ๙๖ คน และขอทานต่างด้าว จำนวน ๑๔๔ คน แบ่งเป็นชาย ๙๐ คน หญิง ๙๕ คน เด็กชาย ๓๑ คน และเด็กหญิง ๒๔ คน โดยขอทานคนไทยได้ส่งไปที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จำนวน ๖ คน สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จำนวน ๒๙ คน สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จำนวน ๕๒ คน สถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลาหญิงบ้านกึ่งวิถีจำนวน ๑ คน สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท) จำนวน ๒ คน มีญาติรับตัวกลับบ้านจำนวน ๑ คน และส่งไปที่โรงพยาบาล จำนวน ๕ คน สำหรับขอทานต่างด้าวจำนวน ๑๔๔ คน ได้นำไปส่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินการส่งกลับประเทศต่อไป

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทานในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๑๔–๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา นับว่าได้ผลที่พอใจ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะยังขับเคลื่อนงานดังกล่าวต่อไป โดยจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม.(เทศกิจ) กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข NGOเป็นต้น เพื่อสรุปผลการดำเนินงานการจัดระเบียบขอทาน พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง "

ทั้งนี้ "มีการเสนอให้ตรวจ DNAของขอทานแต่ละคน ที่เข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบขอทาน เพื่อนำผล DNAเก็บไว้เป็นข้อมูลในการพิสูจน์ว่าเป็นพ่อแม่ลูกกันจริงหรือไม่ เมื่อมีกรณีที่พบขอทานนำเด็กมาขอทานและอ้างว่าเป็นพ่อแม่ลูกกัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันแก้ไขกรณีมีเด็กหายและถูกบังคับให้มาเป็นขอทานได้อีกด้วย” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ