งานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2557

ข่าวทั่วไป Tuesday October 21, 2014 16:43 —สำนักโฆษก

เวลา 18.00 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ และเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิจัยไทยมีกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของประเทศ รวมถึงเป้าหมายให้เยาวชนไทยมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินแผนการเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน ในส่วนของ Maga Project คือ การพัฒนาระบบรางการลดต้นทุนการทำธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกับกระทรวงคมนาคมในการสนับสนุนการเตรียมกำลังคนในการพัฒนาระบบราง นักวิศวกร นักวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมสนับสนุนลงทุนดังกล่าว จากการสร้างแรงจูงใจในการผลักดันภาคเอกชนมาร่วมลงทุน โดยรัฐบาลจะวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน วทน. ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยจะสามารถสร้างความเข้มแข็งทางด้านงานวิจัยและพัฒนาทางด้าน วทน. ได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา โดยการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประเทศไทยมีโอกาสสร้าง Nationality of science Nationality of Technology จากการผลักดันที่ได้วางแผนไว้ คือ 1. การสนับสนุนกำลังคนทางด้านวิชาการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ 2. การทำให้สังคมวิชาการตอบสนองกับความต้องการของวิกฤติหรือการเกิดอุบัติภัยของประเทศ 3. การรวมตัวกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อระดมความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะทางในแต่ละกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกันในด้านเทคโนโลยี ด้านพลังงาน ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถ้าประเทศไทยสามารถดำเนินตามแผนที่ตั้งเป้าไว้ได้สำเร็จนั้น ประเทศไทยจะสามารถเป็น Royal Society ที่เยาวชนรอคอย นอกจากนี้ สัญญาณโลกที่คิดว่าเป็นประโยชน์ในการรับมือกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นคือความต้องการคนเก่ง ซึ่งการร่วมมือกันสร้างคนเก่ง และการปฏิรูปนั้น มิใช่เพียงแค่การทำงานเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่รวมไปถึงการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้การสนับสนุนทุกคนที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มอบให้ผู้ที่ทำผลงานดีเด่นในแต่ละปี โดยการมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคคลดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการ นักเทคโนโลยีที่มีความสามารถในประเทศไทย ได้มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากยิ่งขึ้นด้วย

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทกลุ่ม ได้แก่ ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง และคณะ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อความมั่งคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร เข้ามาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงต้นแบบกลุ่ม“ปลากะรัง” 3 ชนิด ได้แก่ ปลากะรังจุดฟ้า ปลากะรังเสือ และปลาหมอทะเล เพื่อให้มีอัตราการรอดตายสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรลดปริมาณนำเข้าลูกพันธุ์จากต่างประเทศ หลังพบว่าปลาในกลุ่มนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมในตลาดประเทศค่อนข้างสูง และรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทบุคคล ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ ซึ่งเป็นกระบวนการหล่อโลหะที่ช่วยลดปัญหาเรื่องอายุแม่พิมพ์และเวลาที่ใช้ในการผลิตน้อยลง เพื่อตอบโจทย์ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งการนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ มาใช้ในอุตสาหกรรมโลหะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงานไม่ต่ำกว่า 10 % โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์และส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

ขณะที่รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557 ประเภทบุคคล ได้แก่ 1.ดร.ปราการเกียรติ ยังคง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงานวิจัยเรื่อง SensibleTAB หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน และ 2. ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก หน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จากผลงานวิจัยเรื่อง วิธีการสร้างไวรัสจำพวก positive-sense RNA ที่ง่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ