นายกรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ความสัมพันธ์สองประเทศในอนาคต ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างกันและการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดน

ข่าวทั่วไป Thursday October 30, 2014 13:56 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีต้อนรับและหารือข้อราชการเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยผู้นำทั้งสองได้ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ความสัมพันธ์สองประเทศในระยะต่อไป เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและบริเวณชายแดน

วันนี้ (30 ตุลาคม 2557) เวลา 15.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ วิมานสันติภาพ (Peace Palace) สำนักนายกรัฐมนตรี ราชอาณาจักรกัมพูชา

จากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ซึ่งประกอบไปด้วย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เข้าพบและหารือข้อราชการเต็มคณะกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดย ร้อยเอกยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการหารือ ดังนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นและยินดีที่ได้พบสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอีกครั้ง พร้อมทั้งขอบคุณที่รัฐบาลกัมพูชาได้แสดงความเข้าใจและสนับสนุนรัฐบาลต่อสถานการณ์การเมืองไทย และเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชากำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ขณะที่ไทยมุ่งส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชน เน้นย้ำการพัฒนาตามแนวชายแดน

ในการหารือ ผู้นำทั้งสองได้เสนอให้มีการจัดการประชุมประจำปีระดับผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ และใช้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (JCBD) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกหลัก ซึ่งไทยพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JCBD ครั้งที่ 2 ในช่วงต้นปีหน้า

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ซึ่งรัฐบาลไทยเองมีนโยบายผลักดันการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวและเห็นชอบให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเพิเศษในส่วนที่ติดกับกัมพูชาที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดตราด โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ตั้ง working group ระหว่างไทย-กัมพูชา ภายใต้กลไก JCBD เพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งสองฝ่าย

สำหรับการสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวชายแดนนั้น ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับกัมพูชาในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพและทักษาะฝีมือแรงงาน และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ได้ริเริ่มไว้ในจังหวัดชายแดนฝั่งกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ของกัมพูชาให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยเห็นความสำคัญของกาพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน และจะสานต่อความร่วมมือในการฝึกอบรมและสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุขให้แก่กัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

ความร่วมมือด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกัมพูชาที่ส่งทีมเคลื่อนที่มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวกัมพูชาในไทย ซึ่งจะช่วยปรับสถานะแรงงานกัมพูชาให้ถูกกฎหมายและได้รับการคุ้มครอง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชาจดทะเบียนมาแล้วกว่า 6 แสนคน จึงขอความร่วมมือฝ่ายกัมพูชาเพิ่มจำนวนทีมเคลื่อนที่มาพิสูจน์สัญชาติในไทย และขอบคุณที่กัมพูชาลดค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางสำหรับแรงงานและเปิดศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ 4 แห่งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา สำหรับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวประเภทไปเช้า-เย็นกลับ และแรงงานตามฤดูกาลนั้น ไทยกำลังแก้ไขกฎหมายให้ผู้ถือบัตรผ่านแดนสามารถทำงานได้ พร้อมเสนอให้ปรับบัตรผ่านแดนเป็น smart card เพื่อความสะดวกและประโยชน์ของทั้งฝ่าย ซึ่งทางกัมพูชาพร้อมให้ความร่วมมือ

ส่วนการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ไทยอยู่ระหว่างการศึกษาและการออกแบบรายละเอียด ซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ โดยรัฐบาลทั้งสองจะเร่งรัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการว่าด้วยการเปิดจุดผ่านแดนหนองเอี่อน-สตึงบท โดยเร็ว

ขณะที่การจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลิตผลการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษต่างๆ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูในรายละเอียดและหารือระดับคณะทำงานต่อไป และยืนยันว่าจะให้เป็นผลดีกับทั้งสองประเทศ และเป็นไปตามกติกาโลก

นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันไม่ให้ชาวกัมพูชาลักลอบเข้ามาตัดไม้ในเขตชายแดนไทย ช่วยสกัดปัญหาไม่ให้ขยายเพิ่มมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีกัมพูชายังเสนอให้ไทยและกัมพูชา ร่วมกันแก้ไขปัญหาและสกัดกั้นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ เพื่อป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันป้องกันปัญหาการตัดไม้ การค้ามนุษย์ และปัญหาภัยธรรมชาติ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทย ยืนยันจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านการเจรจา ไม่ให้ปัญหาที่คั่งค้างเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ ลดความไม่ลงรอย เน้นพัฒนาความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงระบบการสัญจรข้ามแดนให้สะดวกรวดเร็ว และเพิ่มการบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างเมืองหลักๆ ของทั้งสองประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Joint package คือเชื่อมโยงสถานที่ของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน โดยให้ไปดูว่าจะมีการปรับปรุงระบบ Single Visa ระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกได้อย่างไรบ้าง

ด้านความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรียืนยันการสนับสนุนภาคธุรกิจไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพื้นบ้าน ซึ่งกัมพูชาเองนับเป็นจุดหมายสำคัญของนักธุรกิจไทยมาโดยตลอด ทั้งในแง่การเป็นตลาดสินค้าของไทย แหล่งลงทุน ฐานการผลิต แหล่งแรงงาน ตลอดจนการเป็นจุดเชื่อมทางบกไปยังภาคใต้ของเวียดนาม ทั้งนี้ ไทยขอให้มีการเร่งขจัดอุปสรรคด้านกฎหมายที่ส่งผลต่อการค้าการลงทุนข้ามแดน อีกทั้งไทยยินดีให้กัมพูชาใช้ตลาดทุนของไทยเป็นแหล่งระดมทุน เช่น การออกพันธบัตร และตราสารหนี้ ในสกุลเงินบาท และให้บริษัท รัฐวิสาหกิจของกัมพูชา เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการขจัดการค้าเด็กและหญิงและการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ และ 3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ