พม.ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เรื่อง “ความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยการขจัดการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์”

ข่าวทั่วไป Friday October 31, 2014 17:12 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ ๓๐ ต.ค.๕๗ เวลา ๑๗.๑๕ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เรื่อง "ความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยการขจัดการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์” โดยมี พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ลงนามร่วมกับ Mr.Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ณ วิมานสันติภาพ สำนักนายกรัฐมนตรี ราชอาณาจักรกัมพูชา

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ตระหนักถึงปัญหาของการค้ามนุษย์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขจัดการค้าเด็กและหญิงและการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ ระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องปรับแก้ไขบันทึก ความเข้าใจฯ ให้สอดคล้องเหมาะสมและเท่าทันสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วน ของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดการประชุมทวิภาคีไทย-กัมพูชา เพื่อทบทวนบันทึกความเข้าใจฯ เมื่อวันที่ ๙-๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ เสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ผลการประชุมแบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นแรกคือการพิจารณา จัดทำ(ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทย ได้เห็นพ้องกันให้มีการทบทวน และแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ ๑)เปลี่ยนคำใน (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ จากคำว่า "การค้าหญิงและเด็ก”ทุกคำเป็น "การค้ามนุษย์”เพื่อให้ความหมายครอบคลุม ทุกกลุ่มเป้าหมาย ๒)หลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับปี ๒๕๔๖ ได้มีหลักการ แนวปฏิบัติ ปฏิญญาสากล ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น จึงให้เพิ่มใน(ร่าง)บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ด้วย ๓)เพิ่มประเด็นการส่งเสริม ให้สาธารณชนตระหนักและเข้าใจในประเด็นการย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย และเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์โดยชุมชนและเครือข่าย รวมถึงการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการทำงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ๔)เน้นการบริการทางสังคม โดยมีการจัดล่ามให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับข้อมูลระหว่างอยู่ในประเทศตลอดจนการส่งกลับประเทศต้นทาง ๕)เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงหลักการมนุษยธรรม และเน้นเรื่องเด็กและเพศสภาพ (Gender)เพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมและละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อกลุ่มนี้ ๖)เพิ่มเติมเนื้อหาการดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ และครอบครัวผู้ใกล้ชิดโดยตรง (หากมี) และ ๗)ทบทวนบันทึกความเข้าใจฯ จาก (เดิม)ทุกๆ ๕ ปี เป็นทุกๆ ๓ ปี

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เรื่องความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยการขจัดการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อ ของการค้ามนุษย์ ส่งผลกระทบด้านดีต่อประเทศไทย ดังนี้ ๑)เป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ๒)ส่งเสริมความมั่นคงด้านทรัพยากรมนุษย์ของทั้งสองประเทศ ๓)ส่งเสริมกลไกความร่วมมือทวิภาคี ต่อการขจัดการค้ามนุษย์อย่างเป็นทางการ โดยมีกรอบบันทึกความเข้าใจฯรองรับ ๔)ป้องกันการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ที่อาจถูกหลอกมาเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และ๕)เป็นกรอบความร่วมมือในการขจัดการค้ามนุษย์ของทั้งสองประเทศ เพื่อการปฏิบัติงานในด้านการป้องกัน ช่วยเหลือ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ