รมช.ศธ. แถลงข่าวโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2014 17:39 —สำนักโฆษก

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายแก้วขวัญ วัชโรทัย ประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 และผู้แทนศิษย์เก่านักเรียนปลายทางโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จ ร่วมงานแถลงข่าว “โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้กับโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารมาตั้งแต่ปี 2538 และได้ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ด้วยการรับสัญญาณจากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งเป็นสัญญาณดาวเทียมไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศซึ่งมีปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงตามวิชาเอก โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประสานกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และโรงเรียนวังไกลกังวลในการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า หลายเขตพื้นที่การศึกษาได้ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว และบางแห่งมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น เช่น สพป. สุพรรณบุรี เขต 1 ที่ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีผลเชิงประจักษ์เกิดขึ้น มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ผลการสอบ National Test หรือ O-Net สูงกว่ามาตรฐานของประเทศ จึงนำไปสู่การจัดโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ จำนวน 15,369 แห่ง และมีนักเรียนที่ได้รับโอกาสในการศึกษาผ่านดาวเทียม จำนวน 1,015,974 คน

สำหรับการดำเนินงานของโครงการฯ จะประกอบด้วย การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน การอบรมบุคลากรทางการศึกษา โดยจะเริ่มดำเนินการใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศอย่างสมบูรณ์แบบในวันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 2 โดยมีความคาดหวังว่าโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากได้จัดทำโครงการอย่างรอบคอบด้วยการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็ก และจะเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ จะมีการจัดคณะทำงานติดตามประเมินผล และวัดผลของโครงการในช่วงท้ายของภาคเรียนที่ 2

นอกจากนี้ การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 87 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง ได้พร้อมใจกันและร่วมกันดำเนินการอย่างมุ่งมั่น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากเยาวชนของไทยมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ก็เหมือนเป็นการคืนความสุขให้คนในชาติ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า แนวทางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา จะต้องดำเนินการอย่างเต็มพื้นที่ เต็มประสิทธิภาพ จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำนวนประมาณ 1,415 แห่ง ที่ไม่มีอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ก็จะจัดหาและติดตั้งให้ครบทุกโรงเรียน สำหรับโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว มีจำนวนประมาณ 15,300 แห่ง พบว่ามีอุปกรณ์ชำรุดเสียหายบ้าง ก็จะเร่งดำเนินการแก้ไข

ที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรใน 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 2) ผู้บริหารโรงเรียน 3) ครู โดยใช้ระบบการอบรมทางไกลถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ซึ่งสามารถอบรมครูจำนวนมากได้พร้อมกันในคราวเดียว และใช้งบประมาณน้อยมาก ในอนาคตอาจขยายผลไปสู่การอบรมครูประจำวิชาต่างๆ ได้ด้วย

นอกจากนี้ จะมีการอบรมศึกษานิเทศก์กับโรงเรียนแกนนำ เพื่อช่วยดูแลและส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลที่อาจประสบปัญหาในการดำเนินงาน ในส่วนของสื่อและสาระการเรียนรู้ ทางมูลนิธิฯ ได้จัดทำแผนคู่มือการสอนในแต่ละวิชาให้แก่ครูปลายทาง เพื่อให้ครูสามารถเตรียมตัวและเตรียมวัสดุอุปกรณ์ก่อนการเรียนผ่านครูตู้ หากนักเรียนเรียนไม่เข้าใจหรือตามไม่ทัน ครูปลายทางก็จะสามารถช่วยได้

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาจากสภาพอากาศ เช่น พายุ ฝนฟ้าคะนอง ที่อาจทำให้ไฟฟ้าดับ และสัญญาณดาวเทียมขาดหายได้ ในระบบใหม่นี้จึงได้มีการจัดซื้อฮาร์ดดิสก์สำหรับเก็บข้อมูลหรือเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชา หากไฟฟ้าดับ ครูสามารถดึงเนื้อหาหรือข้อมูลมาใช้ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรก็ตาม นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ผ่านครูตู้ได้ตลอดเวลา

จากนั้น รมช.ศธ.และนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ได้ร่วมกันกดปุ่มสัญญาณเปิดโดมนิทรรศการ พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “2 ทศวรรษ ครูตู้ ครูพระราชทาน สัญญาณจากฟ้า” และทดสอบระบบส่งสัญญาณออกอากาศเพื่อเตรียมความพร้อมใช้งานเต็มระบบในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ตลอดจนได้พบปะพูดคุยกับครูและนักเรียนจากโรงเรียนปลายทางผ่านระบบ Video Conference อีกด้วย

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 31/10/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ