ศธ. เปิดบ้านต้อนรับ วท. ร่วมบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2014 17:41 —สำนักโฆษก

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2557) เวลา 11.00 น. กระทรวงศึกษาธิการ เปิดบ้านต้อนรับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วางแผนการดำเนินงานโครงการบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพเยาวชนและบุคลากรไทย ด้วยโครงการ (1.) นำร่องขยายแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เนรมิตศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกับ “โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” พร้อมเปิด ธ.ค. นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย (2.) ปฏิรูประบบการเรียนรู้ออนไลน์(3.) ยกระดับการเรียนรู้ทางด้าน STEM ของทุกช่วงวัยรวมถึง Workforce STEM ของประชากรวัยทำงาน และ (4.) โครงการส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการภาคเอกชน(Talent Mobility)

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนาย กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ เปิดบ้านรับ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมหารือ ครั้งที่1 เรื่องแนวทางการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม(วทน.) ที่ขาดแคลนและขาดคุณภาพของไทยเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และมีผลกระทบทั้งห่วงโซ่ของการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลการทดสอบเด็กไทยอายุ 15 ปีของโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) พบว่า เด็กไทยมีความสามารถด้านการอ่านภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อยู่ที่อันดับ 50 จาก 65 ประเทศ อาชีวะมีปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานช่างในภาคการผลิตที่มีคุณภาพกว่าแสนคน จำนวนนักวิจัยไทยมีอยู่ประมาณ 9 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของ IMD (International Institute for Management Development) อยู่ที่ 25 คน มีวิศวกรที่มีคุณภาพอันดับที่ 43 จาก 60 ประเทศ บัณฑิตปริญญาตรีของไทยล้นทางด้านสังคมศาสตร์แต่ขาดแคลนทางด้านวิทยาศาสตร์ ค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาทไม่สอดคล้องกับความสามารถและผลผลิตของแรงงานเพราะขาดทักษะและความรู้ และสังคมไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีปัญหาผลผลิตไม่พอเลี้ยงสังคมสูงอายุหากแรงงานไม่เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยใช้ วทน.

เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลมองเห็นว่า ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาความสามารถของกำลังคนในด้าน วทน. อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง จึงได้บูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันใน 4 โครงการ ดังนี้

1. โครงการขยายแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว“โครงการคืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” ที่กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บูรณาการการดำเนินงานของสองกระทรวงฯ ร่วมแสดงพลัง จัดแสดงนิทรรศการวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์ นำชาติยั่งยืน” ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อการศึกษาเอกมัย (ท้องฟ้าจำลอง) ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS เอกมัย กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานอื่นๆ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมจัดนิทรรศการ โดยมีกำหนดจะเปิดให้บริการช่วงกลางเดือนธันวาคม 2557 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย หลังจากนั้นจะเริ่มขยายสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เยาวชนในทุกพื้นที่ของไทยได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และทำให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น จนนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดทำระบบการเรียนรู้ทางไกลอย่างครบวงจร โดยจัดทำคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resource) เช่น ภาพ สไลด์ วีดิทัศน์ แผนภาพ ผังมโนทัศน์ แบบทดสอบ ฯลฯ คลังเก็บบทเรียนแบบเปิด (Open Online Course หรือ Open Course Ware) ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ให้คนไทยได้เอาไปใช้งานได้ โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ มีระบบจัดการสื่อสารที่มีฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อให้ครูอาจารย์/นักวิชาการ สามารถร่วมพัฒนาบทเรียนได้ และนำไปสู่ระบบเรียนออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) ในอนาคตได้

ในส่วนนี้ทั้งสองกระทรวงฯ จะร่วมกันจัดทำการพัฒนาระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลรวมทั้งจัดการเรียนการสอนให้เกิดการผลิตเนื้อหา/ ผลงานของครูอาจารย์ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องตามหลักสูตร มีกระบวนการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ผล มีสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นจำนวนมาก ตลอดจนมีครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการถ่ายทอดที่พร้อมที่จะสร้างและขยายผลสื่อการเรียนรู้ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านนี้ซึ่งสามารถขยายให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้งานและเนื้อหาที่มีความหลากหลายได้

โครงการจัดการเรียนรู้ทางด้านสะเต็มศึกษา (STEM -- Science, Technology, Engineering and Mathematics) ของทุกช่วงวัย “สะเต็มศึกษา” เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางจัดการศึกษาที่น่าสนใจและสามารถประยุกต์ใช้กับการศึกษาในประเทศไทยซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในสายวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยโครงการนี้จะเชื่อมโยงสะเต็มศึกษาให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเยาวชนควบคู่กับแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนสนใจเรียนและศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งบนสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำร่องโครงการ STEM career Academy กับโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำอุตสาหกรรมในพื้นที่ไปจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมให้เยาวชนมีทักษะที่เหมาะสมในงานด้านการผลิต พร้อมไปกับพัฒนาการศึกษาด้านสะเต็ม

ด้านกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนด้านสะเต็ม และหลักสูตรสะเต็มที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ตลอดจนขยายผลโครงการ Work Integrated Leaning (WIL) เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในโรงงานอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงการศึกษาเข้าไปในภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอาชีวศึกษา

โครงการส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการภาคเอกชน (Talent Mobility) ปัจจุบันทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงศึกษาธิการมีนักวิจัย คณาจารย์ ที่มีความรู้ความสามารถในสังกัดเป็นจำนวนมาก โครงการนี้จะเปิดโอกาสและมีปัจจัยเอื้อให้บุคลากรเหล่านั้นได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการนำความรู้ความสามารถไปใช้ได้จริง ขณะเดียวกัน นักวิจัยก็จะได้เข้าใจโจทย์จริงที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่างานวิจัยและการจัดการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะมีความเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ได้จริง ในทางกลับกัน ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในภาคเอกชนได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะการถ่ายทอดประสบการณ์จากการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานระหว่างสองกระทรวงฯ ในทั้งสี่เรื่องนี้ โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และจะจัดการให้มีการร่างข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อสร้างความยั่งยืนในการบูรณาการระหว่างกระทรวงฯ ทั้งสอง

เผยแพร่โดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ 02-333-3732

ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ