รมว.พม. เป็นประธานการประชุมติดตามผลการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2014 16:11 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๓ พ.ย. ๕๗) เวลา ๐๙.๓๐ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมติดตามผลการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย ที่เกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการกงสุล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมยุทธการทหารเรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)และอัยการผู้เชี่ยวชาญ ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกเรือไทยจำนวน ๑๔ คน และคดีลูกเรือประมงไทยที่เกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมทั้งรับทราบการรายงานผลความคืบหน้าของการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ประสานความร่วมมือกับกรมการกงสุล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงดังกล่าวกลับสู่ประเทศไทย ซึ่งจะมีลูกเรือประมงไทยเดินทางกลับมาในวันที่ ๖ พ.ย.๕๗ จำนวน ๕ คน ส่วนลูกเรืออีก ๙ คน อยู่ในระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือมาจากเกาะอัมบน และส่งกลับมาประเทศไทย

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาลูกเรือประมงดังกล่าวหลังจากกลับมาถึงประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะจัดทีมสหวิชาชีพ เพื่อคัดแยกผู้เสียหาย หากมีการสอบข้อเท็จจริงและพบว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ และ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย โดยจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้การช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการช่วยเหลือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จะมีการติดตามเยี่ยมครอบครัว เพื่อประเมินสภาพปัญหาความต้องการในการช่วยเหลือ และเตรียมการส่งกลับคืนสู่ครอบครัวต่อไป

"ทั้งนี้ ตนได้เสนอแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยควรให้ความสำคัญกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในเรือประมง ทั้งด้านการจ้างงานที่เป็นธรรม การจัดสวัสดิการที่เหมาะสม การกำหนดเวลาพักและการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ