ศธ. : ผลการประชุมหัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางใน สป. ศธ.

ข่าวทั่วไป Thursday November 6, 2014 17:50 —สำนักโฆษก

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางใน สป. วันที่ 31 ตุลาคม 2557 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ใฝ่ค่านิยม

โครงการค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ใฝ่ค่านิยม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ เจตคติที่ดีและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามค่านิยมหลัก 12 ประการ

  • ดำเนินการระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2557 – มีนาคม 2558
  • กลุ่มเป้าหมาย : นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เสมารักษ์ ในสังกัดสำนัก การลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียนทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง 12 รุ่นๆละ 200 คน จำนวนทั้งสิ้น 3,200 คน
  • หลักสูตร : เป็นหลักสูตรที่ใช้รูปแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียน ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน โดยมีกรอบแนวคิดเชื่อมโยงฐานกิจกรรมหลัก 4 ฐาน กับค่านิยม 12 ประการ
  • วิธีการเรียนรู้ในค่าย เป็นรูปแบบการใช้สถานการณ์จริงผสมผสานระหว่างทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งนี้ ท้ายสุดของการจัดกิจกรรม จะเป็นการสรุปและถอดบทเรียนกิจกรรมทั้งหมด เพื่อให้เยาวชนจากสถานศึกษานำไปจัดเป็นกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการในสถานศึกษาต่อไป”

การคัดเลือกคณะผู้แทนลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 23

เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะวิชาการลูกเสือต่างประเทศ ให้กับลูกเสือ เนตรนารี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมกับลูกเสือประเทศอื่นๆ กระชับความสัมพันธ์และเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย

  • จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ณ ประเทศญี่ปุ่น
  • กลุ่มเป้าหมาย : ผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 83 คน ประกอบด้วย

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ จำนวน 11 คน

ลูกเสือ เนตรนารี สามัญรุ่นใหญ่ และวิสามัญ อายุระหว่าง 14 – 17 ปี จำนวน 72 คน

  • ขั้นตอนการคัดเลือก:

แจ้งหน่วยงานในสังกัด ศธ. สโมสรลูกเสือ โรงเรียน สถานศึกษา สพม. สพป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งลูกเสือ เนตรนารี มาสมัครสอบ แห่งละ 2 คน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2557

  • คุณสมบัติ:

มีทักษะภาษาอังกฤษพอใช้-ดีมาก

มีทักษะการอยู่ค่ายพักแรม

มีความรู้ความสามารถพิเศษในด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น ดนตรี นาฏศิลป์ มวยไทย ฯลฯ

มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี

สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง

ได้รับความเห็นชอบสนับสนุนและอนุญาตจากผู้ปกครอง สถานศึกษา

  • สอบข้อเขียน สัมภาษณ์ ความสามารถพิเศษ ให้เหลือ 80 คน ในระหว่างกลางเดือน ธันวาคม 2557 จำนวน 1 วัน
  • สอบภาคปฏิบัติ : กลางเดือนมกราคม 2558 จำนวน 3 วัน 2 คืน โดยจะคัดเลือกให้เหลือ 72 คน

การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ภายใต้ชื่อ “ เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”

  • ระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2557 (เปิดงาน) ณ บริเวณรอบกระทรวงศึกษาธิการ

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดี ณ เวทีกลาง ศธ.

พิธีเปิดงาน :

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการพระราชกรณียกิจ การแสดงของนักเรียน นักศึกษา การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของนักเรียน นักศึกษา กิจกรรมจิตอาสา การลงนามถวายพระพรออนไลน์

พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 พร้อมกับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สรุปผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2557 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ลงมติรับทราบ มติคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ วันที่ 30 สิงหาคม 2556 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการใช้จ่ายเงินปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งปี ภาพรวมทุกงบรายจ่าย ร้อยละ 95.00 ภาพรวมรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 82.00

ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เบิกจ่าย งบประมาณ ร่ายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 สามารถเบิกจ่ายในภาพรวมทุกงบรายจ่ายได้ร้อยละ 95.78 ภาพรวมรายจ่ายงบลงทุน ร้อยละ 5.47 ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมการจัดซื้อคอมพิวเตอร์พกพา (Tablet) ของ สช.และหากไม่รวม Tablet ของ สช. จะเบิกจ่ายได้ร้อยละ 24.86

ผลการสำรวจการพัฒนาสมรรถนะองค์การ (Organization Development Survey) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2557

สำนักงาน ก.พ.ร.จัดทำแบบสอบถามจำนวน 30 ข้อ เพื่อจำนวนความคิดเห็นจำนวน 2 ครั้ง ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.ด้านการพัฒนาบุคลากร (Human Capital) 2.ด้านการพัฒนาปรับปรุงสารสนเทศ (Information Capital) 3.ด้านการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์การ (Organization Capital) ภาพรวมพบว่า Gap ครั้งที่ 2 ลดลงกว่าครั้งที่ 1 และลดลงทุกด้าน

รายงานผลการศึกษาตัวชีวัด ICT ด้านการศึกษาในสถานศึกษาระดับพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้พัฒนาตัวชี้วัด

ICT ด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีการศึกษา 2556 เพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดศักยภาพการมีและการใช้ ICT ประยุกต์ในการเรียนการสอนของหน่วยงานระดับกระทรวง กลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษาโดยได้ดำเนินการบูรณาการตัวชี้วัด ICT ด้านการศึกษา จากตัวชี้วัดของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศฯ พ.ศ.2554-2556 จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) และของ KERIS (KERIS: Korea Education Research and Information Service) และตัวชี้วัด ICT ด้านการศึกษาทั้งสิ้น 70 ตัวชี้วัด เพื่อสำรวจตัวชี้วัด ICT ด้านการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ (On-line) จากสถานศึกษาสังกัด สพฐ. สอศ. และ สช. ซึ่งมีสถานศึกษาทั้ง 3 สังกัด เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 12,860 แห่ง และมีสถานศึกษาเข้ามากรอกข้อมูลจำนวน 6,040 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.96

ผลการศึกษาตัวชี้วัดในแต่ละด้าน พบว่า

1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า สถานศึกษาร้อยละ 68.71 มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง

2. ด้านผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ครูผู้สอนที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้าน ICT เพื่อการศึกษามีค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 29.82

3. ด้านหลักสูตร พบว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้ ICT สำหรับการเรียนการสอนอยู่ระหว่าง 5.00 – 5.66 คาบเรียนเฉลี่ยต่อสัปดาห์

4. ด้านบริการและทรัพยากรการศึกษา พบว่า จำนวน ICT เพื่อการเรียนการสอนในแต่ละสาระวิชา โดยเฉลี่ยของสถานศึกษาทั้ง 3 สังกัด มีจำนวนค่อนข้างน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่มีความขาดแคลนคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อบริการทางการศึกษา และขาดสื่อ ICT เพื่อการสอน

อิชยา/สรุป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ