พม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเยียวยาแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส ที่อินโดนีเซียเพิ่มอีก ๖ ราย

ข่าวทั่วไป Thursday November 6, 2014 15:45 —สำนักโฆษก

วันนี้ ( ๖ พ.ย. ๕๗) เวลา ๒๐.๓๐ น. นางเสาวนีย์ โขมพัตร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)พร้อมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพิ่มอีกจำนวน ๖ คน โดยเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้อำนวยความสะดวกหลังจากเดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ

นางเสาวนีย์ โขมพัตร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า จากกรณีที่คณะผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส จับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย และช่วยเหลือให้กลับมาที่ประเทศไทยได้จำนวน ๖ คน เมื่อวันที่ ๑ ต.ค.๕๗ ที่ผ่านมา และมีการสำรวจพบว่ายังมีแรงงานประมงไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยอีก จำนวน ๑๔ คน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามนโยบายของรัฐบาล ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดโครงการความร่วมมือช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหา และผู้ที่อาจจะประสบปัญหาจากการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง เป็นการขยายผลการปราบปรามกระบวนการ ค้ามนุษย์ในเรือประมง ทั้งนี้ ได้ดำเนินการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยดังกล่าว และสามารถเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ ๖ พ.ย.๕๗ เพิ่มอีกจำนวน ๖ คน ส่วนแรงงานประมงไทยที่เหลืออีก ๙ คน อยู่ในระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือเพื่อให้เดินทางกลับมาประเทศไทยต่อไป

นางเสาวนีย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยหลังจากเดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะดำเนินการดังนี้ ๑)ติดตามเยี่ยมครอบครัว เพื่อประเมินสภาพปัญหาความต้องการในการช่วยเหลือ และเตรียมการส่งกลับคืนสู่ครอบครัว ๒)จัดทีมสหวิชาชีพ เพื่อคัดแยกผู้เสียหาย ๓)กรณีที่เป็นผู้เสียหายจะมีการแจ้งสิทธิ และจัดให้เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองพัฒนาอาชีพ ยกเว้นผู้เสียหายต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา จะประสานหน่วยงานในพื้นที่ติดตามให้การช่วยเหลือ ๔)กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ และ ๕)การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้การช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการช่วยเหลือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด

"ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้นรายละ ๖,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งประสานกับเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไป” นางเสาวนีย์ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ