“จักรมณฑ์” ส่งสัญญาณบี้ผู้ประกอบการนำกากอุตฯ เข้าระบบห้ามทิ้งปนบ่อขยะชุมชน หากตรวจพบลากผู้เกี่ยวข้องชดใช้ความเสียหายเตรียมผุดนิคมอุตสาหกรรมจัดการขยะอุตฯ ครบวงจร เล็งขอใช้พื้นที่กองทัพ

ข่าวทั่วไป Tuesday November 11, 2014 15:19 —สำนักโฆษก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ให้กับผู้ประกอบการโรงงานที่มีของเสียอันตราย และกิจการที่เกี่ยวข้องกับขยะอุตสาหกรรมทั้งระบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 1,200 คน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายในด้านการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรมอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ได้วางมาตรการบริหารจัดการเป็นพิเศษ โดยกำหนดให้ทิ้งในบ่อขยะอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน แยกออกจากบ่อขยะชุมชนไม่ให้ปะปนกัน สำหรับขยะของเสียอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ จะพัฒนาระบบการกำกับติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวัง ไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง และใช้มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

“วันนี้ถือเป็นดีเดย์ที่จะยกเครื่องระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย และการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การแจ้งกากอันตรายเป็นกากไม่อันตรายแล้วนำไปบำบัดอย่างไม่ถูกวิธี ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม การมีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อตรวจสอบได้ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีนโยบายที่จะกำกับดูแลกากอุตสาหกรรมครบวงจรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ตั้งแต่โรงงานผู้ก่อกำเนิด ผู้รับขนส่งกากอุตสาหกรรม โรงงานผู้รับกำจัด/บำบัด และรีไซเคิล ประเภท 101 105 106 โดยในระยะแรกจะเร่งรัดให้มีการนำกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายเข้าระบบ โดยเฉพาะจากโรงงานที่ยังไม่เคยมีการขออนุญาตนำกากฯ ออกนอกโรงงานมาก่อนโดยเทียบเคียงข้อมูลกับโรงงานที่มีขนาดและประเภทเดียวกัน ประเภทโรงงานที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ 20 ประเภทโรงงานที่มีปริมาณกากอันตรายสูงสุด ซึ่งทั่วประเทศมีรายงานรวมกันประมาณ 5,000 ราย ขณะนี้อยู่ในระบบแล้วประมาณ 1,500 ราย และโรงงานเหล่านี้ก่อให้เกิดกากอันตรายประมาณ 725,000 ตัน หากสามารถนำโรงงานส่วนที่เหลือที่ยังไม่เข้าระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ให้เข้ามาอยู่ในระบบ คาดว่าจะมีปริมาณกากอันตรายอีกไม่น้อยกว่า 250,000 ตัน

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรซึ่งจะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ ภายในโครงการจะประกอบด้วย ส่วนรวบรวม การจัดเก็บ คัดแยก รีไซเคิล การบำบัด(น้ำเสีย/ทำลายฤทธิ์/ปรับเสถียร) และการกำจัดด้วยการเผาและฝังกลบ เพื่อจัดการกับกากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกากไม่อันตรายประมาณ 33.6 ล้านตัน และอันตราย ประมาณ 2.9 ล้านตัน รวมแล้วประมาณ 36.5 ล้านตัน และให้มีพื้นที่เพียงพอสามารถรองรับกับกากอุตสาหกรรมในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้าด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งกำลังหารือกับกองทัพ เพื่อขอใช้พื้นที่ทหารหากไม่สามารถจัดหาพื้นที่ปกติได้ นายจักรมณฑ์ กล่าว

ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวยอมรับว่า การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และการตรวจติดตามการขนส่งกากของเสียอันตรายอุตสาหกรรม ยังไม่ครบถ้วนและไม่ทันสมัย จึงไม่สามารถบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เป็นของเสียอันตรายและปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน และปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเหตุผลดังกล่าว กรอ.จึงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น โดยได้รับงบประมาณ 59.5 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อเร่งรัดนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ

ซึ่งประกอบด้วยโครงการ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ โครงการการติดตามการขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรมด้วยระบบ GPS และโครงการส่งเสริมการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขึ้น ซึ่งแผนระยะเร่งด่วนจะทำการเร่งรัดตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด คือ โรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบตรวจสอบใบกำกับการขนส่งควบคู่กับการตรวจสอบ ผู้รับกำจัด บำบัดและรีไซเคิล เพื่อยกระดับขีดความสามารถการบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย

การฝึกอบรมเรื่อง “การจัดการกากอุตสาหกรรม” มีผู้เข้าร่วม ๔ กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ก่อกำเนิดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Generator) ผู้ขนส่ง (Waste Transporter) และผู้รับกำจัดบำบัด (Waste Processor) รวมถึง ผู้กำกับตรวจสอบ (Waste Regulator) ได้รู้และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง อันจะนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง เป็นที่เข้าใจตรงกัน เพื่อแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ