พิเชฐ นำทัพเยือนทีดีอาร์ไอ มองไกลเพื่อการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 11, 2014 15:24 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมคณะทำงานรัฐมนตรีและนักวิชาการ เข้าพบ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ - TDRI) เปิดประเด็นหารือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนบนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ทบทวนผลการศึกษา การวิจัยและพัฒนา และประสบการณ์ด้านต่างๆ อย่างน่าสนใจ

ประเด็นแรกคือ การพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการวิจัยด้านเมล็ดพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร บรรจุภัณฑ์ และการพัฒนากำลังคน ถึงแม้ว่าหลายโครงการประสบความสำเร็จแล้ว แต่การขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมด้วยฐาน วทน. ยังไม่ประสบความสำเร็จในระดับใหญ่เท่าที่ควร จำเป็นต้องประสานความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งในระหว่างหน่วยงานภาครัฐกันเอง และระหว่างรัฐและเอกชนให้มากกว่านี้ จำเป็นต้องสร้างเวทีให้นักวิจัยได้ใกล้ชิดกับเกษตรกรมากขึ้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำเป็นต้องสร้างบุคลากรวิจัยด้านนี้ให้มากขึ้น

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ - TDRI ได้ชี้ประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ว่าจำเป็นต้องพัฒนาจากฐาน วทน. ปัจจัยหลัก 3 ส่วนที่ได้อภิปรายร่วมกัน คือ (1) การลงทุนด้าน วทน. จากภาคเอกชน ซึ่งสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน (2) การพัฒนากำลังคนด้าน วทน. ทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในวัยทำงาน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชน และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจำเป็นต้องผูกกับห่วงโซ่การผลิต และจัดระบบให้เกิดความยั่งยืนให้ได้

เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น รัฐจำเป็นต้องปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจ เช่น กำหนดมาตรการลดหย่อนภาษีให้จูงใจมากขึ้น ให้บริษัทที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาหักค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาได้จาก 200% เป็น 300% และกำหนดแนวปฏิบัติไม่ให้ซับซ้อนจนเกินไป ควรกำหนดนิยามของการวิจัยและพัฒนาว่าไม่ควรถูกจำกัดเฉพาะงานวิจัยพื้นฐานเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมถึงการวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ควรพิจารณาการปฏิรูประบบการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และครอบคลุมถึงการบูรณาการงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

สำหรับประเด็นเรื่องกำลังคน (Labor Force) หรือทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้าน วทน. นั้น เป็นปัญหาที่เป็นคอขวดของระบบการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องจำนวนนักวิจัยที่ขาดแคลน นักวิจัยที่มีความสามารถส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ได้เข้าไปร่วมขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนมากเท่าที่ควร จำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างแรงจูงใจและกลไกให้เอกชนสามารถยืมตัวนักวิจัยของรัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับการเพิ่มบุคลากรสาขาขาดแคลนผ่านกลไกการเปิดรับแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากต่างประเทศ

จากนั้นได้หารือเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิต ซึ่งควรทำทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต จนถึงการนำสินค้าออกสู่ตลาด จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรสามารถลดต้นทุนได้ถึง 1.4 หมื่นล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานสามารถลดต้นทุนได้ถึง 1.4 แสนล้านบาท สิ่งที่ประเทศไทยควรเดินหน้าต่อไปนั้น คือ ให้การเพิ่มผลิตภาพเป็นวาระแห่งชาติ ให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่อเนื่องตามระดับความสามารถของบุคลากรและผลิตภาพ และให้เกิด “ภาคีเพิ่มผลิตภาพ” หรือการสร้างเวทีให้รัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

หากแก้ “ปม” ที่ผูกติดกับปัญหาเหล่านี้ได้ ประเทศไทยคงเห็นแสงสว่างแห่งอนาคต การ “ชี้เป้า” ให้นวัตกรรมฝังรากอยู่ในความคิดของคนไทย ในภาคการผลิต การสร้างระบบการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงระบบงบประมาณด้าน วทน. จะเป็นกุญแจสำคัญที่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยได้ และในที่สุดจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เห็นตรงกัน พร้อมจะสนับสนุน และยินดีที่จะศึกษาเพิ่มเติมร่วมกัน

ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ