พิเชฐฯ นำทัพคณะผู้บริหาร วท. ตรวจเยี่ยมซินโครตรอน

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 14:07 —สำนักโฆษก

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2557) 11.00 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) โดยมี ศาสตราจารย์นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัยให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยยกให้เป็น “ห้องปฏิบัติการวิจัยกลางแห่งชาติ” พร้อมหนุนงานวิจัยให้เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร และการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านต่างๆ ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน (AEC)

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนที่มีเทคโนโลยีของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแสงซินโครตรอนเป็นแสงชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยได้หลายด้าน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนางานวิจัย และการเกษตร สิ่งแวดล้อม วัสดุศาสตร์ และอุตสาหกรรม โดยการใช้แสงซินโครตรอนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรม และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือของการจัดตั้ง R&D Center ของบริษัทเอกชนผลิต Hard Disk ชั้นนำ ตามนโยบายของรัฐบาล และความร่วมมือกันกับประเทศลาว ในยุคที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง รวมถึงการรวมกลุ่มกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้า โดยนำวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน และแสงซินโครตรอนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยที่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยได้เน้นให้สถาบันแสงซินโครตรอน เตรียมนำเสนอผลงานวิจัยที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นรูปธรรมต่อรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญและเห็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไ

ศาสตราจารย์นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหาร และกล่าวถึงบทบาทของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า สซ. มีห้องปฏิบัติการกลางของประเทศทางด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสำหรับใช้ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แสงซินโครตรอนในการตรวจวิเคราะห์สารตัวอย่างชนิดต่างๆ การให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีของห้องปฏิบัติการแสงสยามแก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และแก้ไขกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน และได้ให้รายละเอียดของการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันประกอบไปด้วย

1.ด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ในการศึกษาโครงสร้าง 3 มิติของเชื้อโรคซึ่งสามารถทำให้มองเห็นรูปร่างลักษณะของเชื้อโรคต่างๆ ที่ตาเปล่า หรือกล้องจุลทรรศน์ไม่สามารถมองเห็นได้ เพื่อพัฒนายารักษาโรค หรือการตรวจหาโครงสร้างโมเลกุล และพันธะเคมีของยารักษาโรคต่างๆ

2.ด้านอาหาร และการเกษตร ใช้ในการตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะ และ ศึกษาการปรับปรุงพันธุ์พืช

3.ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ในการศึกษาองค์ประกอบ และการกระจายตัวของสารชีวโมเลกุลภายในชั้นต่าง ๆ ของผิวหนัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จำพวกครีมบำรุงผิว

4.ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไมโครชิป และอิเล็กทรอนิกส์ ในการศึกษาสารกึ่งตัวนำชนิดฟิล์มบางเพื่อใช้ในการผลิตโซลาร์เซลล์ หรือใช้ในการพัฒนาส่วนประกอบของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดยเฉพาะหัวอ่านแม่เหล็ก และสื่อบรรจุข้อมูล หรือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแม่แบบ ที่มีขนาดเล็กมากในระดับไมครอน

5.ด้านการพัฒนายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต ในการวิเคราะห์สารกึ่งตัวนำเพื่อการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงในแบตเตอรี่รถยนต์ ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง 6.ด้านการพัฒนาโลหะ และวัสด ในการปรับปรุงคุณสมบัติ และโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ โดยปรับเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต และวิเคราะห์โครงสร้างของโลหะที่ผลิตขึ้นที่สภาวะต่างๆ

7.ด้านการผลิตเส้นใย และสิ่งทอ ในการศึกษาการจัดเรียงตัวของสารเคลือบผิวผ้าในระดับนาโนเมตร เพื่อการปรับปรุง และพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษ

8.ยาง พอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ ใช้เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ เช่น หาโครงสร้างยางรถยนต์ ที่จะทำให้มีความเหนียว ทนแรงกระแทกได้มากขึ้น การหาโครงสร้างของถุงมือยาง หรือถุงยางอนามัยที่ทำให้มีคุณสมบัติไม่ขาดง่าย ยืดหยุ่นสูง และบางเฉียบ

9.ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ใช้ศึกษาวิจัยการเร่งปฏิกิริยาของเอธานอล และหาโครงสร้างระดับนาโนเมตรของวัสดุพอลิเมอร์อิเล็กโตรไลท์ เพื่อพัฒนาวัสดุที่นำมาใช้กับแบตเตอรี่แบบเซลล์

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมภายในสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่มีเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทัศน์สำหรับหอดูดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ฝีมือคนไทย โดยใช้ฟิล์มบางอลูมิเนียมเคลือบลงบนกระจกสะท้อนแสงมีความหนาประมาณ 80 นาโนเมตร และมีความเรียบสม่ำเสมอ เพื่อให้มีคุณสมบัติสะท้อนแสงที่ดีตามความต้องการ และได้ชมสถานีทดลองต่างๆ ที่อยู่รอบๆ วงกักเก็บอิเล็กตรอน โดยสถานีทดลองเหล่านี้มีชื่อเรียกตามสิ่งที่ทำการวัด เช่น สถานีทดลองการกระเจิงรังสีเอกซ์ สถานีทดลองการดูดกลืนรังสีเอกซ์ สถานีทดลองการเรืองรังสีเอกซ์ เป็นต้น เพื่อดูเทคนิคการวิเคราะห์ที่เปิดให้บริการของห้องปฏิบัติการแสงสยาม ที่ครอบคลุมงานวิจัยแขนงต่าง ๆ อาทิ ฟิสิกส์ เคมี ชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้ลงนามบันทึกการเยี่ยมชม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ข้อความว่า "ผมและคณะผู้บริหารจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มาเยี่ยมหารือและแลกเปลี่ยนอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อทิศทางการดำเนินงานของสถาบันแสงซินโครตรอนที่มีเทคโนโลยีระดับสูง และสามารถให้บริการทั้งกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมถึงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและการสร้างกำลังคนในอนาคต ความสำคัญ ณ ขณะนี้คือการร่วมทำงานกับอุตสาหกรรมเพื่อก่อให้เกิดสินค้าบริการใหม่ ลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ"

เขียนข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นายรัฐพล หงสไกร, นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ