รมว.พม. เป็นประธานเปิด “การอบรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)”

ข่าวทั่วไป Friday November 14, 2014 13:41 —สำนักโฆษก

วันนี้ ( ๑๔ พ.ย. ๕๗) เวลา ๑๐.๓๐ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิด "การอบรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)”พร้อมทั้งมอบนโยบายแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรอำนวยการ ศปก.พม. ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ศปก.พม.)ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการบริหารสถานการณ์ ขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน ติดตามผลการปฏิบัติงาน บูรณาการการทำงานในทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสังคมต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือในการบริหารติดตามสถานการณ์และขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ผ่านระบบประชุมทางไกล รับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านระบบ Call Center ๑๓๐๐ และรวบรวมข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์ประจำวัน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจและสั่งการของผู้บริหารในการแก้ไขปัญหาสังคม รวมทั้งขับเคลื่อน ๗ นโยบายเร่งด่วน ๔ นโยบายการปฏิรูปและพัฒนา และ ๙ นโยบายตามภารกิจของกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน นอกจากนี้ บุคลากรที่จะมาปฏิบัติงานที่ ศปก.พม.จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดอบรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในศปก.พม. ครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ถ้ากระทรวงฯไม่มี War room จะเหมือนทำงานคนเดียว โดย War room จะช่วยให้คนทำงานทันต่อเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสังคมต้องการคำตอบ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรมีระบบความช่วยเหลือและการดำเนินงานที่รวดเร็ว เชื่อมโยงกัน การขับเคลื่อน War room เป็นการทำงานทางขวางที่ทำให้คนทำงานเห็นภาพกว้าง สำหรับการทำงานในรูปแบบ War room ต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์สถานการณ์ก่อน สถานการณ์ทางสังคมของผู้ด้อยโอกาส เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ นำแต่ละปัญหามาบูรณาการวิเคราะห์ร่วมกัน แล้วมองไปข้างหน้าเพื่อคาดการณ์สถานการณ์ปัญหา พร้อมวางแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาในระยะสั้น ระยะยาวที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน กำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) รองรับ ทั้งระยะเร่งด่วน ๓ เดือน ๖ เดือน และ ๑๒ เดือน เพื่อวางรากฐานการแก้ไขปัญหา และกำหนดตัวชี้วัดเพื่อการวัดผล และประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน

"สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานต้องเน้นความเป็น Team work มีระบบการทำงานโดยรูปแบบการประชุมทั้ง โต๊ะเล็ก โต๊ะใหญ่ มีปัญหาแก้ไขด้วยระบบทีม เป็นมิติใหม่ของการขับเคลื่อน การทำงานระหว่างฝ่ายนโยบายกับผู้บริหารระดับสูงที่เป็นหนึ่งเดียว จะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายและแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคำตอบให้สังคมต่อไป” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ