รมว.พม. กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม เรื่อง “ความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังสตรีแห่งเอเชียและแปซิฟิก”

ข่าวทั่วไป Monday November 17, 2014 13:43 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๑๗ พ.ย.๕๙) เวลา ๐๙.๓๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม เรื่อง "ความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังสตรีแห่งเอเชียและแปซิฟิก”และการทบทวนการปฏิบัติการตามปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง เพื่อทบทวนความก้าวหน้าและพิจารณาแผนงานที่มีความสำคัญและควรเร่งดำเนินการ รวมถึงการดำเนินงานตามปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของความไม่เสมอภาคทางเพศเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาค และการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน ยิ่งไปกว่านั้น วาระการพัฒนาของโลกยุคใหม่ ทำให้ประเทศไทยเน้นย้ำถึงคำมั่นในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการเสริมสร้างพลังสตรี ทั้งนี้ ในภาคการศึกษาของไทย มีจำนวนเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเท่ากันในระดับประถมศึกษา ส่วนในระดับมัธยมศึกษา และการศึกษาขั้นสูง มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยในกลุ่มเยาวชน ผู้หญิงมีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมากกว่าผู้ชาย และหากมองในมุมการเสริมพลังทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงไทยจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดแรงงานไทย ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ ๖๔ ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยยังคงต้องเผชิญกับการแบ่งแยกทางเพศในการทำงาน ทั้งในด้านงานที่ใช้ทักษะต่ำและมีรายได้ต่ำกว่าเพศชาย แต่ด้วยความพยายามของไทย ในระหว่างพ.ศ.๒๕๔๒–๒๕๔๓ ผู้หญิงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๖๕ เป็นร้อยละ ๘๑ เมื่อเทียบกับผู้ชาย และจำนวนสตรีไทยที่มีบทบาทในระดับบริหารก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ ๖ จาก ๔๕ ประเทศที่ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสตรีและเด็กหญิงมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผู้หญิงอายุยืนมากขึ้นกว่าผู้ชาย และอัตราการเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรมีจำนวนลดลง

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสังคมในสตรีและเด็ก โดยได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC)เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สตรีและเด็กที่ประสบปัญหา เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ศูนย์ช่วยเหลือสังคมนี้เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการและความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมการสนับสนุนด้านความเสมอภาคทางเพศและสิทธิมนุษยชนของสตรีและเด็กหญิง โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และได้ผลักดันให้มีการบรรจุในแผนงานต่างๆ ของประเทศไทย เช่น แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ซึ่งดำเนินการพร้อมกับการก่อตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในปี พ.ศ.๒๕๕๕ "ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยขอร่วมผลักดันให้ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรีแห่งเอเชียและแปซิฟิกบรรลุผล แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และก่อให้เกิดการร่วมมือด้านความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังสตรี”พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ