รมว.พม.เร่งช่วยเหลือผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พร้อมขับเคลื่อนการจัดระเบียบคนขอทาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบที่ ๒

ข่าวทั่วไป Friday November 21, 2014 15:32 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒๑ พ.ย.๕๗) เวลา ๐๘.๑๕ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๔๖/๒๕๕๗ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงาน ในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากกรณีเด็กหญิงวัย ๑๒ ปี ถูกพ่อเลี้ยงข่มขืนเป็นเวลานานกว่า ๓ ปี และเคยแจ้งผู้เป็นแม่ทราบแล้ว แต่นิ่งเฉย ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรณีดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พระนครศรีอยุธยา(สนง.พมจ.พระนครศรีอยุธยา)ลงพื้นที่ช่วยเหลือในเบื้องต้น และนำเด็กผู้เสียหายไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว และตนยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งช่วยเหลือเยียวยา พร้อมทั้งดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กในระยะยาวด้วย สำหรับกรณีหญิงสาววัย ๒๘ ปี พิการมือเท้ากุดตั้งแต่กำเนิด สู้ชีวิต พยายามใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสงขลา จากกรณีดังกล่าวตนได้สั่งการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สงขลา (พมจ.สงขลา)ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หญิงพิการได้ประกอบอาชีพประจำ สามารถมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีครอบครัวฐานะยากจน พ่อแม่ลูก จำนวน ๓ คน อาศัยที่ดินข้างทางรถไฟปลูกกระต๊อบอยู่อาศัย พ่อมีสติไม่สมประกอบ แต่เดินเท้าไปรับ-ส่ง ลูกชายวัย ๘ ขวบ ที่โรงเรียนทุกวัน ระยะทางกว่า ๒๐ กิโลเมตร ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกรณีดังกล่าว ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจวบคีรีขันธ์ (พมจ.ประจวบคีรีขันธ์) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวนี้ให้เบื้องต้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือจัดหาสิ่งของอำนวยความสะดวกเพื่อใช้ชีวิตประจำวันต่อไป

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ มีการรายงานผลการการจัดระเบียบคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๐ พ.ย.๕๗ พบว่า เป็นขอทานชาวไทยรวมจำนวน ๘ คน ขอทานต่างด้าว จำนวน ๑๙ คน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๒๗ คน เป็นชายจำนวน ๑๓ คน หญิงจำนวน ๑๐ คน เด็กชายจำนวน ๒ คน และเด็กหญิงจำนวน ๒ คน ซึ่งขอทานทั้งหมดนี้ที่เข้าสู่การจัดระเบียบคนขอทาน กระทรวงฯจะดำเนินการนำส่งสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จำนวน ๕ คน สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จำนวน ๒ คน สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี จำนวน ๖ คน (เป็นคู่แม่ลูก ๓ คู่) สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด(ภูมิเวท)จำนวน ๑ คน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) จำนวน ๑๓ คน เพื่อเตรียมผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป (เป็นชาวจีน ๒ คน นอกนั้นเป็นชาวกัมพูชา)

ทั้งนี้ "กระทรวงฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดระเบียบคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง และจะขยายผลออกไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวจุดสำคัญ อาทิ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น" พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ