สำนักโลจิสติกส์เร่งเครื่อง Backhaul ดึงสมาคมชิปปิ้งฯ สร้างเครือข่ายการใช้งาน

ข่าวทั่วไป Monday November 24, 2014 16:41 —สำนักโฆษก

กระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยสำนักโลจิสติกส์ เร่งโครงการ Backhaul ดันผู้ประกอบการรับมือเออีซีเต็มสูบ พร้อมดึงสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทยเข้าร่วม ชี้โอกาสสร้างผู้ใช้เพิ่มกว่า 1,000 ราย พร้อมเตรียมลุยต่อปี 58 สร้างกลุ่มผู้ใช้ มีใบรับรอง ก่อนขยายสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักโลจิสติกส์ ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบ Backhaul โดยโครงการส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดสัดส่วนการวิ่งรถเที่ยวเปล่า โดยปีนี้มีการขยายงานไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้นเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการ Steering Committee ซึ่งมีสมาคมและสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายของโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ส่วนสำคัญคือ มีสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นครั้งแรก โดยในสมาคมนี้ มีผู้ประกอบการ โลจิสติกส์รายย่อยกว่า 1,000 ราย และมีการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมากตลอดเวลา จากเดิมช่วงแรกโครงการนี้เน้นสร้างความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีความพร้อมเป็นหลัก นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการขยายผลลงไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งในสมาคมชิปปิ้งฯ ได้มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว หากมีการใช้งานระบบ Backhaul จะเป็นการสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดจำนวนรถวิ่งเที่ยวเปล่าภายในกลุ่มได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นคือกำไรที่เพิ่มขึ้น การประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง และการลดมลพิษและอุบัติเหตุทางถนน

“ถ้าจะแข่งขันในระดับเออีซี ผู้ประกอบการรายย่อยคือส่วนสำคัญเพราะมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และการจะให้รายย่อยจำนวนมากเปลี่ยนมาใช้ระบบ Backhaul ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีสมาคมชิปปิ้งฯ เป็นศูนย์กลาง จะทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายย่อยที่มีการรวมกลุ่มกันอยู่บ้างแล้ว เริ่มต้นใช้ระบบ Backhaul กันภายในกลุ่ม” นายสุรพงษ์ กล่าว

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กพร. เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการปี 57 มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น 43 บริษัท มีการใช้ระบบบริหารจัดการการขนส่ง หรือ TMS ที่สมบูรณ์มากขึ้น โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 8 โมดูล เช่น การจัดการใบออเดอร์ การวางแผนขนส่ง การติดตามการขนส่ง การบำรุงรักษารถ และการจัดทำรายงานสำหรับผู้บริหาร เป็นต้น ขณะที่ในปี 58 จะดำเนินโครงการต่อเนื่อง โดยเพิ่มระบบ TMS เป็น 10 โมดูล ให้มีความหลากหลายและสามารถรองรับรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักโลจิสติกส์ จะเน้นสร้างกลุ่มผู้ใช้ระบบ TMS ให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น กลุ่มแท็งเกอร์ ที่เน้นการบรรทุกของเหลว และน้ำมันเชื้อเพลิง และสำหรับ Backhaul จะเน้น กลุ่มผู้ให้บริการขนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถจัดทำระบบ Backhaul ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากสินค้าบรรจุในตู้ ไม่ต้องเสียเวลาขนสินค้าขึ้นลง หรือเป็นตู้เปล่า ทำให้การรับฝากลากตู้เพื่อลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่ามีความเป็นไปได้มากขึ้น เหมือนเช่นที่มีการปฏิบัติกันในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น

“รู้ประโยชน์แล้ว ต้องสร้างความไว้วางใจในการให้และใช้ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งต้องเริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนหนึ่ง ที่มีความใกล้ชิดกัน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายผลให้กลุ่มขยายจำนวนมากขึ้น” นางอนงค์ กล่าว

อีกทั้ง ทางสำนักโลจิสติกส์ ได้จับมือกับสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย พัฒนาการเรียนการสอนระบบ TMS ให้มีการฝึกอบรม และการสอบ เพื่อขอใบรับรองประกอบกิจการชิปปิ้งจากกรมศุลกากร และได้ร่วมมือกับสมาพันธ์ โลจิสติกส์แห่งประเทศไทยผลักดันให้มีการใช้ระบบ Backhaul และ TMS เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับเออีซีอีกทางหนึ่ง โดยอาจมีการกำหนดเป็นมาตรฐานร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการขอ Q-Mark ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นการสร้างมาตรฐานเพื่อช่วยในการรับงานต่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา ซึ่งต้องการใช้บริการโลจิสติกส์จากไทย เช่น เมื่อนำสินค้าจากไทยไปส่ง สามารถรับวัตถุดิบกลับมาได้ด้วย

ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีตำแหน่งภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบด้านการขนส่ง การพัฒนามาตรฐานระบบขนส่งและนำระบบไอทีมาใช้งาน ช่วยให้ไทยเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศแถบนี้ และมีผลต่อการให้บริการและการแข่งขันในอนาคต

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ