แนวโน้มใหญ่ในอนาคตของภาคอสังหาริมทรัพย์

ข่าวทั่วไป Wednesday November 26, 2014 16:56 —สำนักโฆษก

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จัดสัมมนา Real Estate Megatrends วิเคราะห์แนวโน้มใหญ่ในอนาคตของภาคอสังหาริมทรัพย์ ณ โรงแรม Grand Millennium ถนนอโศก สุขุมวิท 21 กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2557 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นประธานเปิดงาน และมีวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายท่านร่วมให้ข้อมูลในแง่มุมต่างๆ

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าแนวโน้มใหญ่ในอนาคตที่จะมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ มีหลายประเด็น ได้แก่

การเปลี่ยนสภาพสู่ความเป็นเมือง หรือ Urbanization อย่างรวดเร็ว เป็นแนวโน้มสำคัญของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN และจะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยเติบโตทั้งในพื้นที่ปริมณฑลของเมืองหลวงและในเมืองระดับรองของประเทศ แต่ก็จะก่อให้เกิดปัญหาทั้งในแง่สังคม การปกครอง และเศรษฐกิจการเมือง ได้จากการขยายตัวที่รวดเร็ว

ในประเทศไทย ประชากรประมาณร้อยละ 30 อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ในอีก 10 ปีข้าวหน้า และเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ในอีก 25 ปีถัดไป และจังหวัดส่วนใหญ่ในประเทศจะมีสภาพความเป็นเมืองที่ขยายขอบเขตไปกว่าปัจจุบันมากและหลายพื้นที่จะมีประชากรหลากชาติพันธุ์ การวางแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าหลากหลายขึ้น

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ใกล้เคียง

การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต แนวโน้มประชากรในประเทศกำลังพัฒนากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีประชากรวัย 65 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดในอีก 7 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในอีก 10 ปีถัดไป

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในอนาคตจึงต้องคำนึงถึงประชากรผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และใช้เทคโนโลยีเบื้องต้นได้ ทั้งทำเลที่ตั้งโครงการที่สะดวกสบายในการเดินทาง การออกแบบโครงการที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย และสามารถใช้โครงข่ายการสื่อสารกับบุคคลอื่นๆในครอบครัวได้ง่าย

การพัฒนาด้านขนส่งมวลชนและโครงข่ายการคมนาคม จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง เช่น ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมามีจำนวนสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไม่เกิน 70 สถานี จะเพิ่มเป็นมากกว่า 200 สถานีตามแผนงานในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดสถานีชุมทางหรือสถานีเชื่อมต่อ (Interchange) จำนวนมาก และจะทำให้การเดินทางจากพื้นที่ปริมณฑลด้านหนึ่งของเมืองไปสู่พื้นที่ปริมณฑลด้านอื่นของเมืองเป็นไปได้โดยรวดเร็วและไม่จำเป็นต้องเข้าสู่เขตพื้นที่ชั้นในของเมือง เช่น จากมีนบุรีไปบางปู จากบางหว้าไปแจ้งวัฒนะ จากลำลูกกาไปบางใหญ่ ฯลฯ จะก่อให้เกิดขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงไปทั่วปริมณฑล

การมีย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBDs) ที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงศูนย์กลางธุรกิจดั้งเดิม โดยมีองค์ประกอบสำคัญจากการคมนาคมที่สะดวก การพัฒนาพื้นที่อาคารสำนักงานเกรด A ขนาดใหญ่ การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อื่นๆ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมระดับ High-end

การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และโครงการลักษณะ Mixed Uses โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศซึ่งมีที่ดินจำนวนมากหันมาใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่ หรือการที่ภาครัฐนำที่ดินของรัฐออกมาให้เอกชนเช่าทำประโยชน์ระยะยาวมากขึ้น

นวัตกรรมการก่อสร้างและการเกิดอาคารสูงระฟ้าจำนวนมาก ในปัจจุบันอาคารสูงระฟ้าเกิดใหม่ที่มีความสูงมาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียทั้งตะวันออกกลางและตะวันออกไกล โดยในกลุ่มประเทศ ASEAN มีและจะมีอาคารสูงมากขึ้นในอนาคต

สำหรับในประเทศไทย อาคารสูงระฟ้าเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือใกล้เคียง ในปัจจุบันมีอาคารสูงเกิน 400 เมตรอาคารเดียว แต่มีผู้ประกอบการประกาศสร้างอาคารสูงเกินกว่า 600 เมตรหนึ่งโครงการ และมีอาคารสูงระดับเกิน 300 เมตรอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือในแผนงานการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 3-4 โครงการ การเกิดอาคารสูงระฟ้าที่มีความโดดเด่นเป็นการสร้าง Landmark ใหม่ของเมือง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น

ความเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในอนาคต เกิดขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยที่มีการพัฒนายาวนานเพียงพอ เมื่อผู้บริโภคซึ่งซื้อที่อยู่อาศัยเดิมมีความจำเป็นต้องซื้อหาที่อยู่อาศัยใหม่ ทำให้ต้องขายที่อยู่อาศัยเดิม เกิดตลาดที่อยู่อาศัยมือสอง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ปีปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งปีไม่ถึง 5 แสนหน่วย แต่มีปริมาณการซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองมากกว่า 5 ล้านหน่วย อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในประเทศไทยจะพัฒนาไปได้ต้องมีความร่วมมือในการพัฒนาระบบการบันทึกการซื้อขาย และมีการพัฒนาระบบใบอนุญาตทางวิชาชีพที่มีมาตรฐาน

การควบรวมกิจการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จะทวีความเข้มข้น ทั้งระหว่างธุรกิจภายในประเทศ และระหว่างธุรกิจข้ามชาติ ฯลฯ

ทั้งนี้ แนวโน้มใหญ่ในอนาคตอาจเป็นผลสืบเนื่องซึ่งกันและกัน เช่น การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมช่วยให้เกิดการขยายเขตเมือง การสร้างอาคารสูงระฟ้าก่อให้เกิดพื้นที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมือง ฯลฯ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0-2645-9675-6

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และบริการข้อมูล ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ