นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจด้านเศรษฐกิจและการลงทุนต่อหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2014 17:56 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติและสมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กว่า 500 คน เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาตรการที่ส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจน การสร้างพื้นฐานที่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ยั่งยืนในระยะยาว

วันนี้ (3 ธ.ค. 57) เวลา 14.00 น. ห้อง Crystal Hall โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาแก่นักธุรกิจต่างชาติ ตามคำเชิญของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand - JFCCT) ซึ่งมีสมาชิกจากหอการค้าต่างประเทศ 30 ประเทศ โดยในวันนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ประกอบไปด้วย นักธุรกิจต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย คณะทูตานุทูตและสมาคมธนาคาร

สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตาม Roadmap ของ คสช.เพื่อฟื้นฟูสถานการณ์เศรษฐกิจและผลักดันนโยบายและมาตรการที่จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไปเพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนในระยะยาว

ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงของการขับเคลื่อนจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติภายในกรอบระยะเวลาที่จำกัด ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว การปฏิรูปประเทศ การแก้กฎหมายและการออกกฎหมายหลายฉบับและที่สำคัญคือการเตรียมการเลือกตั้งให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตาม roadmapซึ่งระยะแรก เป็นการเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศ และระยะที่สอง คือ ขั้นตอนการปฏิรูป ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในระยะนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้แนะนำทีมเศรษฐกิจและแจ้งให้นักลงทุนทราบว่ารัฐบาลมีทีมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ พร้อมดูแลปัญหาครบทุกด้านของนักลงทุนและภาคเอกชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีบทบาทยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

โดยในวันนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาล ตลอดจน โอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยในอนาคต ดังนี้

เรื่องแรก สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้ม แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเรายังไม่รวดเร็วตามที่คาดหวังกันไว้ ทำให้รวมทั้ง 9 เดือนเศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 แต่มีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ โดยในไตรมาสสามมีการฟื้นตัวเป็นร้อยละ 0.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ไตรมาสสองอย่างไรก็ตามมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 และในปี 2558 คือ

          (1)          การกระเตื้องขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.2  มีระดับความเชื่อมั่นดีขึ้นตามลำดับ จากระดับ 60 ในไตรมาสแรก มาเป็น 61.2 ในไตรมาสสองและ 69.3 ในไตรมาสสาม
          (2)          การลงทุนเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 สอดคล้องกับระดับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชนที่เพิ่มขึ้นมาตามลำดับมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือนสิงหาคม 2557 เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
          (3)          การใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนรัฐวิสาหกิจยังสามารถขยายตัวในไตรมาสที่สามปีนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ในขณะเดียวกันก็ได้กำหนดวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจไว้ที่ 657,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20ทั้งนี้ การเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ จะช่วยให้การใช้จ่ายภาครัฐสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในปี 2558
          (4)          เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับและน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
          (5)          การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จำนวนประเทศที่แจ้งเตือนพลเมืองในระวังการเดินทางมายังประเทศไทยลดลง โดยที่รัฐบาลเร่งยกระดับเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวการแก้ปัญหาและป้องกันการหลอกลวงและฉ้อโกงนักท่องเที่ยว

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 นี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเร่งตัวขึ้นและช่วยผลักให้ทั้งปีเศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 1 ได้ สำหรับในปี 2558 นั้น คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.5-4.5

เรื่องที่สอง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมาตรการเศรษฐกิจอื่น ๆ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 เดือน ประกอบด้วยมาตรการใน 2 ด้านหลัก คือ หนึ่ง มาตรการเพื่อการสร้างงาน วงเงินดำเนินการไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท และสอง มาตรการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย อาทิ การให้เงินช่วยค่าต้นทุนการผลิตแก่ภาคการเกษตร1,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีที่ดินทำกินไม่เกิน15 ไร่ และช่วยเหลือครอบครัวที่มีที่ดินตั้งแต่15 ไร่ขึ้นไป ครอบครัวละ 15,000 บาท โดยจะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือนี้เข้าบัญชีชาวนาจำนวน 3.4 ล้านครอบครัวเศษ ที่เปิดบัญชีไว้กับธ.ก.ส. แล้วให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

นอกจากกลุ่มมาตรการดังกล่าว รัฐบาลยังได้ดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสาขาต่างๆ ด้วย เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศนอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในเรื่องของมาตรการในการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวเพิ่มเติมรวมทั้งการดำเนินการในเรื่องการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวซึ่งบางประเทศหรือบางบริษัทที่ไม่ให้การประกันภัยในสถานการณ์ในเวลาที่มีการประกาศกฎอัยการศึก รัฐบาลก็ได้อนุมัติวงเงินไว้ 200 ล้านบาทในการจัดตั้งเป็นกองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะดูแลคุ้มครองความปลอดภัยในการเดินทาง และประกันภัยต่างๆ ในการใช้ชีวิตในประเทศไทย

เรื่องที่สาม การขับเคลื่อนประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับการปฏิรูปประเทศไทยตามแนวโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน 11 ด้าน ได้แก่ (1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์(2) การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ (3) การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ (4) การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม(5) การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน(6) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ(7) การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน(8) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม(9) การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน(10) การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และ (11)การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ในการดำเนินการตามแนวนโยบาย รัฐบาลได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการในกรอบระยะเวลา 1 ปีตามระยะเวลาของรัฐบาล และจะส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป ซึ่งในการนี้เรามีวงเงินสำหรับการดำเนินแผนงาน/โครงการและการบริหารราชการแผ่นดินอื่น ๆ โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งสิ้น 4.9 ล้านล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการโดยส่วนราชการ วงเงิน 2.56 ล้านล้านบาท และการดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินนั้นมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ร้อยละ 52.6 จากรายได้ของหน่วยงาน ร้อยละ 37.25 เงินอื่นๆ ร้อยละ 7.20 เงินกู้ภายในประเทศ ร้อยละ 2.65 และเงินกู้ต่างประเทศ ร้อยละ 0.30 เพื่อให้การดำเนินการมีผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

สำหรับโครงการสำคัญ ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการประจำปีจะประกอบด้วย การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต การดำเนินการตามกรอบประชาคมอาเซียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล การปรับปรุงการขนส่งทางรถไฟ ทางน้ำ และสนามบินการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 5 จังหวัด6 ด่าน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการโดยภาครัฐเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนให้มีความคล่องตัวสูงขึ้นลดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและการค้าขาย และการเตรียมแรงงานที่มีคุณภาพแล้ว รัฐบาลตระหนักดีว่าความร่วมมือของภาคธุรกิจเอกชนมีความสำคัญในการที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและเร็วขึ้น

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึง 3 เรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยรวมทั้งการสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมีความง่ายและคล่องตัวมากขึ้น ได้แก่

(1) การพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) ตั้งแต่ SMEs จนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) ในประเทศไทยแล้ว เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคของต่างประเทศในประเทศไทยมากขึ้น

(2) เรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมการค้าชายแดนและการดูแลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะใช้แนวความคิด “เส้นเขตแดนเป็น เส้นแห่งความร่วมมือ” ในทุกมิติ เพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาและแสวงประโยชน์ร่วมกัน จะเร่งผลักดันการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ให้มีสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งการค้า โรงแรม สถานประกอบการ

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น ได้แก่ สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจและเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและล่าสุด ได้มีมติเห็นชอบกรอบสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ ให้ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระดับที่ใกล้เคียงกับจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในระยะแรกกำหนดพื้นที่ใน 5 จังหวัดหรือ 6 ด่านชายแดน ได้แก่ ตาก (แม่สอด) มุกดาหาร สระแก้ว (อรัญประเทศ) ตราด สงขลา (สะเดาและปาดังเบซาร์) โดยเน้นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการจ้างงานและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชน แก้ปัญหาแรงงานต่าง

(3) เศรษฐกิจดิจิตัล (Digital economy) ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลชุดนี้ Digital Economy เป็นเศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)หรือการค้าขายกันทางอินเทอร์เน็ตและและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อาศัยไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญ เน้นทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบ (Soft Infrastructure)เพื่อสร้างระบบการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ มีทีมดูแลเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจการให้บริการ (Service Infrastructure)สุดท้ายคือ การพัฒนาสังคมดิจิตัล (Digital Society) หรือการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเครือข่าย และข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลและทำความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ/และกฎหมายซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนคือ กฎหมายการดำเนินธุรกิจของต่างชาติ (Foreign Business Act) ย้ำว่า รัฐบาลยังไม่มีการแก้กฎหมายฉบับนี้ และเรื่อง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20) พ.ศ.2557 หรือที่รู้จักกันในนามของ “กฎหมายการค้ำประกัน” นั้น ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในภาคการธนาคารพาณิชย์ไปร่วมกันทำความเข้าใจให้รอบคอบ

เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 – 2565 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี เป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการพัฒนาการเพิ่มความสามารถการขนส่งทางอากาศ

ในเรื่องการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง จะมีการปรับปรุงระบบอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ที่จะแยกเป็นโครงการระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 903 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2561 และโครงการระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 อีก 8 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 1,626 กม.นอกจากนั้น จะพัฒนาทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1.435 เมตร อีก 3 เส้นทาง ที่จะเน้นการขนส่งเชื่อมโยงไปยังเขตอุตสาหกรรมและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา - มาบตาพุด กรุงเทพฯ – ระยองและ นครราชสีมา – หนองคาย คิดเป็นระยะทาง 705 กม.

นอกจากนั้น จะเร่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในพื้นที่ ระยะแรกจะเร่งรัดการก่อสร้างใน 4 สาย ได้แก่ สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้ง กระทรวงคมนาคมจะไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของรถรางไฟฟ้า ในเขตปริมณฑล เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกในการสัญจรได้สะดวกขึ้น

สำหรับแผนการก่อสร้างและบูรณะขยายช่องการจราจรทางถนน ทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสานตอนบน และภาคตะวันออก จะพัฒนาให้เชื่อมโยงไปทุกภูมิภาค และจะเชื่อมต่อไปยังจุดผ่านแดนต่าง ๆ โดยจะเร่งให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560 ในเรื่องของการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะให้มีการรองรับเรือได้มากยิ่งขึ้น และจะพัฒนาให้เป็น “ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ” จะเริ่มดำเนินการในปีหน้าจะให้แล้วเสร็จในปี 2560 นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ จะพัฒนาตลิ่งท่าเทียบเรือและร่องน้ำในเขตแม่น้ำป่าสัก ให้สามารถขนส่งสินค้าทางเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะให้มีพื้นที่ Terminal ลานจอดเครื่องบิน และอุโมงค์เชื่อมต่อทางวิ่งสำรองและอาคารจอดรถที่พักผู้โดยสารเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการในปี 2558 นี้และการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ โดยการสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 15 หลุม ซึ่งจะให้แล้วเสร็จในปีหน้า และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมที่มีแผนจะเริ่มดำเนินการในปีหน้าเช่นเดียวกัน

นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การดำเนินงานนั้นต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส การจัดสรรงบประมาณประจำปีต้องทำตามแผนงานและต่อเนื่อง

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง การดำเนินการและความคืบหน้าด้านความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งจะส่งผลต่อการขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งภายในประเทศไทยและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ โดยประเทศต่าง ๆ ได้ให้กำลังใจให้ไทยสามารถข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น และเพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่ประเทศไทยจะร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และในมิติอื่น ๆ กับมิตรประเทศ นั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านทั้ง กัมพูชาเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และมาเลเซียแล้ว นอกจากนั้น ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 (ASEM-10) ณ กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 22 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ การประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิด อาทิ การพัฒนาความเชื่อมโยงและยกระดับด่านถาวร เช่น สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ระหว่างแม่สอด-เมียวดี การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งไทยจะสนับสนุนให้เกิดให้ได้และญี่ปุ่นก็สนใจเข้าร่วม โดยไทยได้ช่วยจัดตั้งโรงพยาบาลขนาดเล็ก (100 เตียง) ในทวาย

ด้านการเงิน จะมีการผลักดันให้เงินบาทสามารถแลกเปลี่ยนกับเงินจั๊ดโดยตรงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะผลักดันให้มีการลงนามกันเร็ว ๆ นี้ ส่วน ลาวกับเวียดนาม จะไปดูว่าจะทำธุรกิจระหว่างกันอย่างไร

ด้านพลังงาน ไทยขอให้เมียนมาร์สนับสนุนการลงทุนของไทยด้านพลังงานน้ำ ส่วนเมียนมาร์ก็ขอให้สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาเมียนมาร์มาศึกษาในไทยหรือในต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ด้านความมั่นคง รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวเขตแดนติดต่อกัน ประเด็นเขตแดนจะไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ในเรื่องการปราบปราม

ยาเสพติดจะร่วมมือกันมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ไทยจะดูแลสิทธิและสวัสดิการของแรงงานของประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม และได้เสนอให้ใช้บัตรผ่านแดนแบบ smart card สำหรับแรงงานประจำวันและแรงงานตามฤดูกาลในพื้นที่ชายแดน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการสนันสนุนของรัฐบาลด้านการการค้าการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในสาขาที่รัฐบาลส่งเสริม อาทิ ด้านการเกษตร พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก อาทิ พลังแสงอาทิตย์ ลม การกำจัดขยะและมลพิษ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่จะส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น สนับสนุนให้โอกาสในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเปิดกว้างมากขึ้น มีความคล่องตัวทั้งในด้านกฎระเบียบ การได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี และการมีกำลังคนที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมในกระบวนการผลิตการบริการของธุรกิจของนักลงทุน และยืนยันเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะป้องกันและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นให้ลุล่วงไปให้ได้และมีระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและรับผิดชอบ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของท่านและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ