นายกรัฐมนตรีย้ำการปฏิรูปประเทศไทยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและยึดประชาชนเป็นหลัก

ข่าวทั่วไป Tuesday December 9, 2014 16:59 —สำนักโฆษก

การบริหารราชการแผ่นดินต้องยึดหลักคุณธรรมและทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับการเดินหน้าประเทศไทย ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม 2557 สรุปสาระสำคัญ ว่า

การนำนโยบายที่ผิดพลาดมาบริหารประเทศ ทำให้เกิดความล้มเหลวในการบริหารราชการ ซึ่งมีหลักใหญ่ ๆ 3 ประการ คือ 1. การขาดธรรมาภิบาล 2. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 3. การขาดความจริงใจและจริงจัง ในการปฏิรูปประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดูแลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดเสถียรภาพ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนที่จะดำเนินการในอนาคต จึงขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะก้าวไปสู่อนาคตได้ และทำอย่างไรให้เกิดความพร้อมที่จะไม่เกิดข้อผิดพลาดอีก ซึ่งทั้งหมดคือการปฏิรูป โดยนำความล้มเหลวทั้ง 3 ประการดังกล่าว มาเป็นบทเรียนคือ

1. การบริหารจัดการ ต้องทำอย่างระมัดระวัง รอบคอบ มีธรรมาภิบาล การวางแผนต้องยึดหลักการ วางรากฐานของอนาคต ซึ่งก็คือเยาวชน อย่าทำแบบฉาบฉวย คำนึงถึงความยั่งยืน ลดความขัดแย้ง อย่าเอาประเทศไปเสี่ยงภัย หรือไปต่อสู้กัน ต้องไม่สร้างภาระให้ประเทศโดยไม่จำเป็น การพัฒนาต้องยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ความพอประมาณ ไม่เบียดเบียนตนเองและต้องไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน พิจารณาทุกเรื่องอย่างมีเหตุผลทั้งปัจจัยภายในและภายนอก คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และ มีภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต้องมีการคาดการณ์อนาคต ประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ต้องมีความรู้ควบคู่คุณธรรม

2. การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องมีหลัก 3 ประการ คือ การพัฒนาอย่างมีวินัย ทุกคนต้องต่อต้านคอร์รัปชัน การยึดหลักคุณธรรม ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม หากตรวจสอบว่าบุคคลใดทำผิดกฎหมายต้องลงโทษทันที ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร หรือมีตำแหน่งใหญ่โต ก็จะต้องดำเนินการ เพื่อทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี ทุกคนจะต้องเกรงกลัวกฎหมาย และมีจิตสำนึกที่ดี มีความละอายในการกระทำความผิด

3. การปฏิรูป ได้มีการดำเนินการไปแล้ว โดยมี 5 ส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางว่า ขอให้ทั้ง 5 ส่วน บูรณาการให้ดี อย่าสร้างปัญหาใหม่ และการที่จะทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้คนทุกฝ่ายหรือคนส่วนใหญ่ยอมรับ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงว่าประเทศชาติจะไปในทิศทางใดในอนาคต กระบวนเลือกตั้งจะเป็นแบบใด รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนกระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน การถ่วงดุลอำนาจ 3 อำนาจ ภายใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ซึ่งระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า ถ้าทุกคนยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่จะทำอะไรเพื่อบ้านเมืองและส่วนรวม ย่อมประสบความสำเร็จ ส่วนปัจจัยเสริมอีก 2 ประการ ของความสำเร็จคือ ทำอย่างไรเราจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ ต้องหาจุดร่วมกันในการสร้างปรองดอง และร่วมกันหาแนวทางให้ได้ว่า เราจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินไปข้างหน้า กำหนดระยะที่จะต้องปฏิรูปให้ชัดเจน เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว สมควรที่จะมีการเดินหน้าปฏิรูปกันต่อไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกฝ่ายอย่าสร้างความขัดแย้ง หรือต่อต้านเรื่องประชาธิปไตย ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับในหลักการซึ่งกันและกัน ภายใต้การสร้างปรองดองด้วยหัวใจของทุกคน ไม่ใช้การเมืองมานำพาประชาชนให้แบ่งแยกกัน คนไทยทุกคนต้องพร้อมที่จะเดินหน้าประเทศ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติ แต่ยังไม่พร้อมในเรื่องของการขจัดความขัดแย้ง และการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ต้องมีระบบธรรมาภิบาล และป้องกันการทุจริตผิดกฎหมาย รัฐบาล และ คสช. จะไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรค จะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ประเทศได้มีการปฏิรูปในทุกมิติ ซึ่งแบ่งการปฏิรูปเป็น 3 ระดับ ทำเร่งด่วน ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ และเตรียมส่งต่อ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ