การประกันคุณภาพภายในกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2014 13:56 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การประกันคุณภาพภายในกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา" ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2557 ภายใต้แนวคิดหลัก "วัฒนธรรมคุณภาพ สร้างคน สร้างชาติ"

ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การประกันคุณภาพภายในกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา" ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2557 ภายใต้แนวคิดหลัก "วัฒนธรรมคุณภาพ สร้างคน สร้างชาติ" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นิสิตนักศึกษา ผู้ประเมิน หน่วยประเมินของไทย และนักการศึกษาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

รมว.ศธ. กล่าวว่า การประกันคุณภาพภายใน หรือ Internal Assurerance ทุกคนคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าคืออะไร หากเปรียบโรงเรียนหรือสถานศึกษาเหมือนบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่มีผลการประกอบการเชิงพาณิชย์ การที่เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าที่จะเข้าใช้บริการ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ทุกสถาบันการศึกษาจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ซึ่งหมายถึง นักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานมาเรียน หากเราไม่มีการประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก อาจจะหาลูกค้าได้ยาก

การประกันคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการประกันคุณภาพภายใน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถานศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ยังเป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผู้ที่จะดำเนินการก็คือ สถานศึกษา ที่จะต้องยึดหลักการการมีส่วนร่วมกับชุมชน ประชาสังคมและหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ก็จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายใน เพื่อทำหน้าที่ประเมิน ตรวจสอบ กำหนดแนวทางตัวชี้วัดเพื่อวัดผลการศึกษา มีการจัดโครงสร้างการบริหาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และเมื่อดำเนินการตามแผนแล้ว ก็ต้องมีการตรวจสอบทบทวนเป็นระยะด้วย

เผยหลักการทำงานตามวงจรการควบคุมคุณภาพ เน้น Plan-Do-Check-Action

สำหรับหลักการทำงานตามวงจรการควบคุมคุณภาพ The Deming Cycle : PDCA ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในช่วงพิธีเปิด รมว.ศธ.อธิบายว่า ประกอบด้วยการวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (Do) การตรวจสอบประเมินผล (Check) และการแก้ไขปรับปรุง (Action) ซึ่งก็มีหลักการคล้ายกับการวางแผนทางทหาร ที่จะต้องมีการวางแผน นำแผนไปสู่การปฏิบัติ มีการเก็บข้อมูลจากการปฏิบัติตามแผนก็คือการตรวจสอบ จากนั้นมีการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแผนให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับความเป็นจริง รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนต่างๆ เมื่อแก้ไขปรับปรุงแล้ว ก็นำไปปฏิบัติ เก็บรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบวิเคราะห์ปรับปรุงแผน เป็นวงจรต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งวงจรของการพัฒนาการศึกษาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิบัติการทางทหารเช่นกัน

หลักการสำคัญ 3 ประการ ในการประกันคุณภาพภายใน

อย่างไรก็ตาม การประกันคุณภาพภายใน โดยทั่วไปมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การกระจายอำนาจ ที่จะทำให้สถานศึกษามีความคล่องตัว มีความเป็นตัวของตัวเอง มีสิทธิ์และอำนาจในการบริหารสถานศึกษาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร การบริหารจัดการ การศึกษา หลักสูตรและงบประมาณ ถือเป็นปัจจัยแรกที่มีความสำคัญที่สุด 2) การมีส่วนร่วม คือการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพ 3) การตรวจสอบได้ คือการแสดงความรับผิดชอบในหน้าที่ที่สามารถให้องค์กรอื่นเข้ามาตรวจสอบได้

ย้ำถึงบทบาทสำคัญของ สมศ.ในการกำหนดมาตรฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจ และตรวจประเมินคุณภาพที่แม่นยำ

ในขณะเดียวกัน หน้าที่ของ สมศ. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการประเมินสถานศึกษาภายนอก เป็นการสะท้อนภาพของสถานศึกษาในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งผลจากการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกจะมีประโยชน์มาก หากได้นำมาเปรียบเทียบกับผลการประเมินตามกระบวนการภายในของสถานศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่ง สมศ.ควรที่จะมีบทบาทสำคัญใน 3 ส่วน คือ การเป็นผู้กำหนดมาตรฐานคุณภาพ การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ และการตรวจประเมินคุณภาพที่มีความแม่นยำ สามารถสะท้อนภาพให้สังคมได้รับทราบอย่างเที่ยงตรง

การพัฒนาบทบาทและหน้าที่ของ สมศ.

รมว.ศธ.ได้ฝากประเด็นสำคัญ 8 ประการ เกี่ยวกับการพัฒนาบทบาทและหน้าที่ของ สมศ. ดังนี้

1) การกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์คุณภาพการศึกษา จะต้องมีมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับความน่าเชื่อถือ และการยอมรับของสังคมโลก

2) เกณฑ์คุณภาพและกระบวนการตรวจจะต้องมีความเป็นมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับบริบทการศึกษาไทย จะต้องนำหลักเกณฑ์ที่มีความเป็นสากลมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของความเป็นไทยและความเป็นพื้นถิ่นในแต่ละภูมิภาคของไทย รวมทั้งไม่เป็นการเพิ่มภาระจนเกินความจำเป็น จนส่งผลกระทบต่อระบบการจัดการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา

3) การสร้างกลไกในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์คุณภาพที่ใช้ในการตรวจประเมิน และการให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการดำเนินงานทางวิชาการและการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวกับการติดตาม พัฒนาเกณฑ์คุณภาพและเครื่องมือในการตรวจประเมิน

4) การสร้างมาตรฐานของผู้ตรวจประเมินให้มีความรู้ มีขีดสมรรถนะที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ตรวจประเมิน เพื่อสร้างการยอมรับและเชื่อถือ สามารถทำการตรวจประเมินได้ตามเกณฑ์คุณภาพได้อย่างเที่ยงตรง โดยเน้นคุณภาพและหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้ตรวจประเมินจะไปสัมผัสกับบุคลากรในการสถานศึกษาที่ทำการตรวจประเมินโดยตรง

5) การจ้างบริษัทมาเป็นผู้ตรวจประเมิน จะต้องกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน ต้องมีความรู้และมีสมรรถนะที่เหมาะสม ตลอดจนมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

6) การตรวจประเมินคุณภาพสถานศึกษา เมื่อกฎหมายกำหนดให้ทุกสถานศึกษาต้องรับการตรวจประเมิน ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษากว่า 4-5 หมื่นแห่ง แม้จะเป็นการประเมินทุก 5 ปีก็ตาม แต่เชื่อว่าการทำให้ครบและได้คุณภาพทั้งหมดอาจจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการหาวิธีการที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังเช่นที่รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ว่า อาจจะต้องใช้การประเมินตนเอง การสุ่มตรวจในจำนวนที่ยอมรับและมีนัยสำคัญทางสถิติที่ยอมรับได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต

7) การนำเสนอผลการประเมิน จะต้องมีความถูกต้อง รวดเร็ว มีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนาอย่างชัดเจน ทั้งในระดับสถานศึกษาและระบบการศึกษาในภาพรวมของประเทศ

8) การนำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาไปใช้ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ มีความสำคัญ และควรส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ให้มากขึ้น โดย สมศ.จะต้องพัฒนาความเป็นมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

จึงย้ำว่าการประกันคุณภาพและการประเมินทั้งภายในและภายนอกเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และสถานศึกษาจะปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นกฎหมาย แต่จะทำอย่างไรที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถเตรียมการรองรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ และมีผลการประเมินออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ให้ข้อคิด สมศ. : แม้เป็นผู้ประเมิน แต่ก็ต้องถูกประเมิน เพื่อมาตรฐานของ สมศ.

ในอนาคตต้องการเห็นภาพสถานศึกษาอ้าแขนรับการประเมินคุณภาพของ สมศ. กล่าวคือเมื่อประเมินแล้วเกิดประโยชน์ สถานศึกษาได้รับความรู้ ได้รู้ข้อบกพร่อง และได้รับข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไข อย่างไรก็ตาม มีผู้บริหารสถานศึกษาท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า แม้ว่า สมศ.จะเป็นผู้ประเมิน แต่ สมศ.เองก็ต้องถูกประเมินเช่นกัน เพราะขนาดตราชั่ง ก็จะต้องมีการทดสอบกับตราชั่งมาตรฐาน ดังนั้นทุกอย่างที่กำหนดให้เป็นมาตรฐานแล้ว ใช่ว่าจะมีความเที่ยงตรงเสมอไป จะต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงให้ได้มาตรฐานด้วย

การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ให้รอ สปช.ด้านการศึกษากำหนดตัวชี้วัดก่อน

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก รอบ 4 ว่าขอให้ สมศ. รอความชัดเจนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านการศึกษาก่อน เพื่อให้การวางแนวทางการประเมินของ สมศ. มีความเหมาะสมก่อนที่จะประกาศออกมา ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากแนวทางของ สปช.ด้านการศึกษากำหนดแตกต่างไปจากที่ สมศ.กำหนด อาจจะทำให้ตัวชี้วัดหรือข้อกำหนดของ สมศ.เพี้ยนไปจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

ในส่วนของการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการในหลายส่วน เช่น การพิจารณาโครงสร้างการบริหารจัดการ การปฏิรูปภาคปฏิบัติ การกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่การศึกษา การพัฒนาครูในพื้นที่ในลักษณะ Coaching Team เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปในภาคปฏิบัติน่าจะเห็นผลชัดเจนที่สุด เพราะ ศธ.ได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ เพื่อให้ทุกสถานศึกษาสามารถบริหารจัดการภายในได้อย่างเต็มที่ โดยจัดทำเป็นโครงการทดรองนำร่องในสถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐาน 300 โรงเรียนใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาที่สมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างความเข้าใจและหาแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับการประเมินผลโครงการ จะประเมินทุก 3 เดือน เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาและนำผลมาวิเคราะห์ ซึ่งหากพบว่า เป็นไปในทิศทางที่ดี ก็จะขยายเขตพื้นที่การศึกษาให้มากขึ้นต่อไป.

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ